เป็นประเด็นคำถามมากมายเกี่ยวกับสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
หลังเร่ร่อนออกนอกประเทศ จนสุดท้ายไปปักหลักอยู่ที่ประเทศมอนเตเนโกร พร้อมกับกระแสข่าวว่าประเทศมอนเตเนโกร ได้ให้สัญชาติเป็นพลเมืองของมอนเตเนโกรแล้ว แล้วสถานะความเป็นไทย จะเป็นอย่างไร หรือว่าเป็นคนถือสองสัญชาติ ผิดหรือถูกกฎหมายประการใด ทำได้หรือไม่ แล้วรัฐบาลไทย จะตามตัวมาดำเนินคดีได้หรือไม่
"ไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านสัญชาติบุคคลอย่าง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถึงกรณีนี้ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ อธิบายว่า วันนี้ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สัญชาติมอนเนเตโกรตามกฎหมายสัญชาติของประเทศดังกล่าวจริง และยังไม่มีการประกาศการเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังมีสถานะเป็น คนสองสัญชาติ ในสองทะเบียนราษฎร คือ ใช้สิทธิในสัญชาติทั้งสอง
กางกฎหมายสัญชาติ ทักษิณ ยังอึมครึม เปิดทางไทยล่าตัวได้
พ.ต.ท.ทักษิณ มีสัญชาติไทยทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน จึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยโดยฝ่ายตุลาการโดยศาลหรือโดยรัฐบาล
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจเสียสัญชาติไทยหากพบว่ามีข้อเท็จจริง 4 ประการ หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาหรือ มารดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา 2. เป็นผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว หรือสละสัญชาติไทย หรือถูกถอนสัญชาติไทย 3. เป็นคนที่เกิดในประเทศไทยในระหว่างวันที่ 10 เม.ย. 2546 จนถึงวันที่ 13 ธ.ค. 2515 ซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยโดยข้อ 1 แห่ง ปว.337 พ.ศ.2515 และ 4. เป็นคนที่เกิดในประเทศไทยในระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 2515 จนถึงวันที่ 25 ก.พ. 2535 หากมีบิดาละมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบไม่ถาวร ซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยมาตรา 11 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
จะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมมิใช่ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว และ อาจถือสัญชาติของบิดาหรือมารดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดาและมิใช่บุคคลที่เสียสัญชาติไทยโดยข้อ 1 แห่ง ปว.337 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2515 หรือบุคคลที่เสียสัญชาติไทยโดยมาตรา 11 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ส่วนประเด็นที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติมอนเตเนโกรนั้น หากเป็นจริงก็มีผลทำให้เสียสัญชาติไทย โดยผลของมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ที่จะประกาศการเสียสัญชาติไทยในราชกิจจานุเบกษา
แต่หากสัญชาติมอนเตเนโกรที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้มา มิใช่สัญชาติโดยการแปลงสัญชาติ การได้สัญชาตินี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่อาจทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียสัญชาติไทย
โดยผลของมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 ในประเด็นนี้ จึงต้องไปพิจารณากฎหมายสัญชาติของประเทศมอนเตเนโกร เพียงแค่ข้อเท็จจริง พ.ต.ท. ทักษิณถือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ที่ออกโดยประเทศมอนเตเนโกร อาจเกิดจากความเป็นราษฎรต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของมอนเตเนโกร ดังนั้นจึงต้องพิจารณากฎหมายการทะเบียนราษฎรและกฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศมอนเตเนโกร ซึ่งหาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นราษฎรต่างด้าวของประเทศมอนเตเนโกร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังถือสัญชาติไทยตามกฎมายมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508
ดังนั้นความชัดเจนเรื่องถือสัญชาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหลายกรณี
ส่วนรัฐบาลไทย จะดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อยู่หรือไม่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ อธิบายว่า ความผิดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกล่าวหามิได้ขึ้นอยู่กับว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติมอนเนเตโกร ดังนั้นจึงยังสามารถดำเนินคดี ต่อไปได้ หากมีส่วนในการก่อการร้ายตามกฎหมายไทยที่เกิดขึ้น จะมีสัญชาติอะไร ก็ผิดได้ทั้งสิ้น แต่ความมีสัญชาติมอนเนเตโกร พ.ต.ท.ทักษิณ อาจมีผลให้มอนเนเตโกร ปฏิเสธที่จะส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามที่ รัฐบาลไทยร้องขอ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนสมัยใหม่ก็มักไม่ปฏิเสธการส่งคนสัญชาติเป็นผู้ร้าย ข้ามแดน ในเรื่องนี้ จึงต้องไปศึกษากฎหมายนี้ของประเทศมอนเนเตโกรอีกเช่นกัน.