3 พรรคฝ่ายค้านร่อน จม.1 ล้านใบแจง ปชช.โต้ ทรท.บิดเบือน-ป้ายสี
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2549 17:21 น.
3 พรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดแถลงการณ์ 1 ล้านฉบับ แจงประชาชนทั่วประเทศ โต้ข้อกล่าวหาสาร ทรท.ระบุทั้งบิดเบือนและใส่ร้าย จี้ กกต.ตรวจสอบตักเตือน พร้อมตั้งข้อสังเกตฐานเสียงพรรค ปชป.-ชท.ไม่มีผู้สมัครคนเดียว เชื่อฮั้วการเมืองจัดฉากเลือกตั้งหวังผลคะแนนเกิน 20%
วันนี้ (9 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทนกุล นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคมหาชน และนางสาวอินทิรา นาทองบ่อ โฆษกพรรคมหาชน เข้าร่วมหารือ โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 3 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือใน 2 เรื่อง คือ เรื่องสารของพรรคไทยรักไทย และเรื่องการเลือกตั้ง โดยเรื่องสารนั้นที่ประชุมเห็นว่าจะทำจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคไทยรักไทย และจัดทำแจกจ่ายให้กับประชาชนทั้งประเทศ 1 ล้านฉบับเพื่อชี้แจงต่อประชาชน และตอบโต้ข้อกล่าวหาของพรรคไทยรักไทย ที่อ้างว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้สมัครเป็นเพราะยึดระบอบเผด็จการ ทั้งนี้ เรามีความเห็นว่าสารของพรรคไทยรักไทยมีการบิดเบือน ใส่ร้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่า 3 พรรคการเมือง ไม่เคารพในพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องของการยุบสภา เป็นการกล่าวหาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคไทยรักไทย ว่าไม่เคารพกติกาประชาธิปไตยและไม่เคารพพระราชวินิจฉัยถือเป็นการไม่บังควร ซึ่งที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี มักจะมีพฤติกรรมเช่นนี้
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญก็ระบุว่าการยุบสภาให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาที่เป็นการริเริ่มของฝ่ายบริหาร ดังนั้น การอ้างเอาเบื้องสูงมาอ้างจึงไม่บังควรที่พรรคไทยรักไทยควรสำนึก สำเหนียก และควรเลิกพฤติกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกจะมีประเด็นสำคัญต่างๆ 6 ประเด็น (รายละเอียดอ่านในจดหมายเปิดผนึก)
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมหารือในเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่ง 3 พรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคไทยรักไทย ส่งผู้สมัครทั้งหมด 123 เขต ใน 44 จังหวัด โดยเป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยเดิม ทำให้มั่นใจว่าสามารถทำคะแนนเสียงได้ถึง 20% แต่ กกต.ต้องตรวจสอบว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งเพื่อให้ได้คะแนนถึง 20% หรือไม่ ทั้งนี้ ในบางพื้นที่ก็มีการส่งคู่แข่งส่งลงสมัครเลือกตั้งเกินกว่า 1 พรรค โดยเฉพาะในภาคใต้และจังหวัดสุพรรณบุรี สระแก้ว โดยไม่ต้องกังวลว่าคะแนนจะถึง 20% หรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคไทยรักไทยไม่กล้าสู้กับศรัทธาประชาชนในพื้นที่เหล่านี้อย่างแท้จริง จึงต้องใช้ผู้สมัครจากพรรคอื่นเข้ามาแข่งขัน ส่วนการแก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครที่ปรากฏตามข่าว 3 พรรคการเมืองจะตรวจสอบข้อเท็จจริงไปทาง กกต.ต่อไป
ที่สุดแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ในที่สุดก็เข้าสู่การเลือกตั้งสีเทา หรืออาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่สงปรกที่สุดอีกครั้ง เพราะเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตตั้งแต่การประกาศวันเลือกตั้งที่เร็วผิดปกติ และยังจะมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้คะแนนเสียง 20% นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน นายนิกร กล่าวว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีจังหวัดไหนเลยที่ลงสมัครคนเดียว รวมทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีผู้สมัครถึง 25 คน เฉลี่ย 5 คน ต่อ 1 เขต แต่เมื่อเทียบกับจังหวัดนครนายก กลับมีผู้สมัครเพียง 2 คนเท่านั้น ตรงนี้จึงถือเป็นจุดหักเหทางการเมือง เพราะบางจังหวัดเป็นคะแนนนิยมของพรรค ทั้งนี้ พรรคเล็กบางพรรคมีสาขาเพียง 2-3 แห่ง แต่กลับไปส่งผู้สมัครในภาคใต้ครบทุกจังหวัด ตนจึงจะไปตรวจสอบข้อมูลกับ กกต.เพื่อขอให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสรุปความถูกต้องของเอกสาร
ส่วน นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพยายามที่จะจัดฉากการเลือกตั้งดูเหมือนมีการแข่งขันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายคะแนน 20% หากข่าวที่ระบุออกมาว่า มีการแก้ไขข้อมูลของผู้สมัครให้ถูกต้อง ก็มีข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นสมบูรณ์มาไม่ได้ถ้าไม่มีคนในของ กกต.เข้ามาร่วม เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลของ กกต.พบว่า มีข้อมูลบางอย่างพบว่าอาจจะมีการแก้ไขข้อมูลแล้ว อีกทั้งจะเห็นว่าผู้ใหญ่ใน กกต.ให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เหมือนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งหากเรื่องนี้มีการกระทำจริงและไม่มีการแก้ไขปัญหาจะเป็นการทำให้เติมปัญหาให้สถานการณ์บ้านเมืองรุนแรงขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า สารของพรรคไทยรักไทยอาจจะเข้าข่ายการใส่ร้าย จะยื่นให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะทำหนังสือเสนอต่อ กกต.ให้ดำเนินการตักเตือนพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา 27 ของพรรคการเมือง ที่ระบุว่า เมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค กระทำการใดๆ ที่มีความผิด แต่ลักษณะการกระทำยังไม่รุนแรงจนต้องยุบพรรคการเมือง ก็ให้นายทะเบียน หรือก็คือ กกต.ทำหนังสือเตือนไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองระงับ หรือจัดการกับการกระทำนั้น หากตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคบางคนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งต้องเว้นวรรคการเมืองไปถึง 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำแถลงการณ์ 1 ล้านชุด เพื่อชี้แจงต่อประชาชนและตอบโต้ข้อกล่าวหาของพรรคไทยรักไทย ที่อ้างว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครเป็นเพราะยึดระบอบเผด็จการ โดยแถลงการณ์ชื่อ เปิดแนวรบประชาธิปไตย หยุดระบอบทักษิณ โดยมีเนื้อหาหลัก 4 ประการ ที่ชี้แจง คือ 1.อะไรคือระบอบทักษิณ ? 2.ประชาชนจะทำอย่างไรดี ? 3.ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน และ 4.พรรคประชาธิปัตย์ละเมิดกติกาประชาธิปไตยจริงหรือ ?
โดยแถลงการณ์ได้อธิบายถึงปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการบริหารประเทศ 5 ปี ที่ผ่านมา ที่ระบอบทักษิณส่งผลเสียหายต่อประเทศในระยะยาว รวมทั้งชี้แจงถึงเหตุที่พรรคเลือกวิธีไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการเป็นเครื่องมือในการฟอกตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งเป็นแต่เกมการเมืองที่พยายามหาทางออกเฉพาะหน้าเพื่อหลีกหนีการตรวจสอบความผิดพลาด บกพร่องของตัวเองที่สังคมกำลังตั้งคำถามเชิงจริยธรรม และคุณธรรม โดยเฉพาะจากกรณีการขายหุ้นของธุรกิจในครอบครัวจน พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นบุคคลล้มละลายในความน่าเชื่อถือ นี่จึงเป็นวิธีที่สามารถแสดงออกถึงการต่อต้านระบอบทักษิณที่กำลังเป็นปัญหา
แถลงการณ์ระบุอีกว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 328 กำหนดมิให้เลิก หรือยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุที่ไม่ส่งผู้สมัคร ฉะนั้น การไม่ส่งผู้สมัครจึงไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ถือเป็นวิถีทางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพรรคจะไม่ลงเลือกตั้งเพื่อเอาผลการเลือกตั้งมาฟอกตัวหรือสร้างความชอบธรรมให้ใคร หากจะลงเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งผลการเลือกตั้งไม่ใช่ใบอนุญาตให้ใครนำไปอ้างความชอบธรรมในการทำอะไรได้ตามอำเภอใจ โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ชาติ และประชาชน ทั้งนี้ หน้าที่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ให้สิทธิประชาชนไทยในการต่อต้านที่อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมด้วยสันติวิธี ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกใคร หรือพรรคไหน หรือจะไม่ลงคะแนนให้ใครเลยก็ได้ เพราะในบัตรเลือกตั้งมีช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ประชาชนมาใช้สิทธิได้อย่างสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย