คิวเช็กบิลผวจ.ล้างบาง ขั้วทักษิณระนาว

"จับตาดูการโยกย้าย"


หลังจากที่ตำแหน่ง ผวจ.ว่างลง เนื่องจากเกษียณ อายุราชการหลายจังหวัด หลายฝ่ายต่างจับตาดูว่าการโยก ย้ายแต่งตั้งจะออกมาเมื่อไหร่ และยังแบ่งแยกความเป็นกลุ่มพรรคพวกหรือไม่นั้น ในที่สุด รมว.มหาดไทยได้นำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย ผวจ.ทั่วประเทศเข้า ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ครม.ได้ แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อการโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 61 คน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ผวจ.ครั้งนี้มีการปรับย้ายเป็นจำนวนมาก

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 รวม 60 ตำแหน่ง ในครั้งนี้ ไม่ใช่การล้างบางคนใกล้ชิดพรรคไทยรักไทย หรือล้างบางใคร แต่พิจารณาตามความเหมาะสม จะเห็นได้ว่าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนที่ยังไม่เคยดำรงตำแหน่ง ผวจ.ได้ออกไปเป็น ผวจ. ทั้งหมด เพราะต้องการให้ตำแหน่งผู้ตรวจฯ มีประสบการณ์ การทำงานในพื้นที่ โดยเวลาลงปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะผู้ตรวจฯจะได้มีคนเกรงใจ ถือเป็นการให้กำลังใจกับผู้ปฏิบัติงานอีกอย่างหนึ่ง ส่วนผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ผวจ.ก็ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้ตรวจฯ เป็นโครงสร้างที่ตนต้องการให้เกิดระบบให้ผู้ตรวจฯมีประสิทธิภาพในการทำงาน ที่สำคัญต้องการยกระดับกระทรวงมหาดไทยให้ เป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย

"บัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้าย"


สำหรับบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้าย ผวจ. และข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีดังนี้

นายสุกิจ เจริญรัตนกุล ผวจ.สุโขทัย เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายมานิต วัฒนเสน ผวจ.สตูล เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผวจ.พัทลุง เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง ร.ต.ท.อุปฤทธิ์ ศรีจันทร์ ผวจ.อุตรดิตถ์ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายไพศาล รัตนพัลลภ ผวจ.กำแพงเพชร เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายประภากร สมิติ ผวจ.ชัยภูมิ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายกิตติพงษ์ สุนานันท์ ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสุขุมรัฏฐ์ สาริบุตร ผวจ.สมุทรปราการ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายใหญ่ โรจน์สุวณิชกร ผวจ.บุรีรัมย์ เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายเสนอ จันทรา ผวจ.ระยอง เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผวจ.สุรินทร์ เป็นผู้ตรวจ ราชการกระทรวง นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ พ้นจากตำแหน่ง ผวจ.ปทุมธานี นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผวจ.เชียงใหม่ เป็น ผวจ.ลพบุรี นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผวจ.ขอนแก่น เป็น ผวจ. นครนายก นายปานชัย บวรรัตนปราณ ผวจ.นครนายก เป็น ผวจ.ขอนแก่น นายชุมพร พลรักษ์ ผวจ.สระบุรี เป็น ผวจ. ตาก นายปรีชา บุตรศรี ผวจ.อุทัยธานี เป็น ผวจ.นครปฐม นายอุดม พัวสกุล ผวจ.เชียงราย เป็น ผวจ.อุทัยธานี นาย เมฆินทร์ เมธาวิกูล ผวจ.ระนอง เป็น ผวจ.ปทุมธานี นาย พินิจ พิชยกัลป์ ผวจ.พิจิตร เป็น ผวจ.ร้อยเอ็ด นายสนธิ เตชานันท์ ผวจ.กระบี่ เป็น ผวจ.สงขลา นายวิชัย ศรีขวัญ ผวจ.ลพบุรี เป็น ผวจ.เชียงใหม่ นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผวจ.ตรัง เป็น ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผวจ.สมุทรสงคราม เป็น ผวจ.สมุทรปราการ นาย ประสงค์ พิทูรกิจจา ผวจ.เพชรบุรี เป็น ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผวจ.ตาก เป็น ผวจ.เชียงราย นาย สมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ผวจ.สระแก้ว เป็น ผวจ.อุตรดิตถ์ นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผวจ.อำนาจเจริญ เป็น ผวจ.สระแก้ว นายประชา เตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส เป็น ผวจ.ชลบุรี นาย เชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผวจ.กาญจนบุรี เป็น ผวจ.นนทบุรี

"รายชื่อต่อ"


นายอํานาจ ผการัตน์ ผวจ.ยโสธร เป็น ผวจ. กาญจนบุรี นายอุทัย สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.อํานาจเจริญ นายบุญสนอง บุญมี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.นครพนม นายวีระวิทย์ วิวัฒน์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.ยโสธร นายประภาส บุญยินดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.สิงห์บุรี นายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.ตรัง นายวีระยุทธ เอียมอําภา ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.สมุทรสงคราม นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผวจ.เพชรบุรี นายสุรพล ภาษิตนิรันดร์ พ้นจากตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง นายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว นักปกครอง 10 เป็น ผวจ.สุราษฎร์ธานี

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผวจ.นนทบุรี เป็น นักปกครอง 10 นายวิทยา ผิวผ่อง นักปกครอง 10 เป็น ผวจ. กำแพงเพชร นายพลวัต ชยานุวัชร รองอธิบดีกรมการ-ปกครอง เป็น ผวจ.ระยอง นายก้องเกียรติ อัครประเสริฐกุล รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็น ผวจ.บุรีรัมย์ นายขวัญชัย วงศ์นิติกร ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 10 ชช) เป็น ผวจ.สตูล นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี เป็น ผวจ. สระบุรี นายปรีชา เรืองจันทร์ รอง ผวจ.เพชรบูรณ์ เป็น ผวจ.พิจิตร นายธนเษก อัศวานุวัตร รอง ผวจ.สระบุรี เป็น ผวจ.พะเยา นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล รอง ผวจ.นคร-นายก เป็น ผวจ.สุรินทร์ นางกาญจนาภา กี่หมัน รอง ผวจ. ฉะเชิงเทรา เป็น ผวจ.ระนอง

"โยกย้ายส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลเก่า"


นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็น ผวจ.ชัยภูมิ นายวันชัย สุทิน รอง ผวจ.อุบลราชธานี เป็น ผวจ.สุโขทัย นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รอง ผวจ.ภูเก็ต เป็น ผวจ.ภูเก็ต นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ รอง ผวจ. ประจวบคีรีขันธ์ เป็น ผวจ.กระบี่ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รอง ผวจ.สุพรรณบุรี เป็น ผวจ.สุพรรณบุรี นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการรอง ผวจ.ยะลา เป็น ผวจ.นราธิวาส นายธีระ มินทราศักดิ์ รอง ผวจ.ปัตตานี เป็น ผวจ.ยะลา นายศุภชัย ยุวบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวง เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสุเทพ โกมลภมร รอง ผวจ.สงขลา เป็น ผวจ.พัทลุง นายศุภชัย ยุวบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง นักปกครอง 10 สำนักงานปลัดกระทรวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเบื้องหลังการแต่งตั้งโยกย้าย ผวจ.ในครั้งนี้ พบว่าผู้ที่ถูกโยกย้ายจาก ผวจ.เป็นผู้ตรวจฯนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้เป็น ผวจ.สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายสุกิจ เจริญรัตนกุล ผวจ.สุโขทัย พี่ชาย นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายมานิต วัฒนเสน ผวจ.สตูล และนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผวจ.พัทลุง ที่มีความสนิทสนมกับนายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ส่วนนายสุขุมรัฏฐ์ สาริบุตร ผวจ.สมุทรปราการ เป็นเพื่อนโรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี กับ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีต รองนายกรัฐมนตรี สำหรับนายไพศาล รัตนพัลลภ ผวจ. กำแพงเพชร เป็นคนที่นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ผลักดันให้เป็น ผวจ.สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่นายใหญ่ โรจน์สุวณิชกร ผวจ.บุรีรัมย์ นั้น ถูกลดชั้นเพราะภาพความสนิทสนมกับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็น รมช.มหาดไทย

"ถูกจับไปอยู่ในจังหวัดเล็กลง"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนนายประภากร สมิติ ผวจ.ชัยภูมิ มีปัญหาถูกร้องเรียนจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับ กกต. ทั้งนี้ ร.ท.อุปฤทธิ์ ศรีจันทร์ ผวจ.อุตรดิตถ์ นายกิตติพงษ์ สุนานันท์ ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ นายเสนอ จันทรา ผวจ.ระยอง นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผวจ.สุรินทร์ นายใหญ่ นายไพศาล และนายสุขุมรัฏฐ์ เป็นผู้ที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือสิงห์แดงทั้งสิ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ผวจ.ที่ถูกย้ายไปอยู่ในจังหวัดที่เล็กลง เช่น นายอุดม พัวสกุล ผวจ.เชียงราย ได้ย้ายมาจากรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ นายเจตน์ ธนะวัฒน์ ผวจ.ขอนแก่น เป็นผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนนายพินิจ พิชยกัลป์ ผวจ.พิจิตร ถูกข้อหาช่วยพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง อย่างไร ก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชุมพร พลรักษ์ ผวจ.สระบุรี ที่ได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ไม่ได้ถูกลดชั้นไปเป็นผู้ตรวจฯ เพียงแต่ถูกโยกย้ายไปในจังหวัดตาก ซึ่งจัดเป็นจังหวัดในระดับเดียวกับจังหวัดสระบุรี

"ผู้ได้รับแต่งตั้งระดับ 10"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรอง ผวจ.ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นระดับ 10 ผู้ที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือสิงห์ดำ มีจำนวน 6 คน คือ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี นายปรีชา เรืองจันทร์ รอง ผวจ.เพชรบูรณ์ นายธนเษก อัศวานุวัตร รอง ผวจ.สระบุรี นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายวันชัย สุทิน รอง ผวจ.อุบลราชธานี นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับนายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนสิงห์แดงมีจำนวน 3 คน คือ นางกาญจนาภา กี่หมัน และนายธีระ มินทราศักดิ์ ด้านนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ รอง ผวจ.ยะลา จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 คน คือ นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล รอง ผวจ.นครนายก และจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 คนคือนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รอง ผวจ.ภูเก็ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านการโยกย้าย ผวจ.โดยผู้ที่ได้รับการเลื่อนไปอยู่จังหวัดใหญ่ขึ้น เช่น นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผวจ.ตรัง เป็นเพื่อนสนิทของนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี โดยเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นเดียวกัน และเคยช่วยราชการที่ ศอ.บต. นายวิชัย ศรีขวัญ ผวจ.ลพบุรี ที่ได้ดีขึ้นเป็น ผวจ.เชียงใหม่นั้น เคยทำงานร่วมกับนายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย สมัยที่นายอารีย์เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เช่นเดียวกับนายปรีชา บุตรศรี ผวจ.อุทัยธานี นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ ผวจ.สมุทรสงคราม นายสนธิ เตชานันท์ ผวจ.กระบี่ นายประชา เตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผวจ.กาญจนบุรี รวมถึงผู้ที่ได้รับการเลื่อนขั้นจากผู้ตรวจฯเป็น ผวจ. เช่น นายประภาส บุญยินดี นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา นายสยุมพร ลิ่มไทย นายวิทยา ผิวผ่อง นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ต่างจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

"เป็น นโยบาย มหาดไทย"


เย็นวันเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งโยกย้าย ผวจ.ที่ถูกมองว่าเป็นการล้างบางข้าราชการในรัฐบาลชุดที่แล้วว่า ไม่ใช่ แต่เป็นนโยบายของ รมว.มหาด-ไทยที่ยึดความเหมาะสมของตัวบุคคลที่เหมาะกับงานที่รับผิดชอบ ยืนยันไม่มีการล้างบาง เพราะ รมว.มหาดไทยยืนยันต่อหน้าผู้บริหารกระทรวงว่าจะต้องให้ความเป็นธรรม ไม่มีฝ่าย และเชื่อว่า รมว.มหาดไทยจะสามารถชี้แจงการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ได้ เพราะได้กลั่นกรองเรื่องเหล่านี้มาแล้ว ทั้งนี้ การสับเปลี่ยนโยกย้ายเป็นเรื่องปกติ ของการทำงาน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวาระ ไม่ใช่ว่าไปอยู่ที่หนึ่งที่ใดแล้วคิดว่าเป็นของเรา คงไม่ได้ และโดยหน้าที่ของแต่ละคนก็รู้อยู่แล้วว่างานอะไรต้องทำต่อเนื่อง ต้องมีการมอบหมายงานกันเป็นขั้นตอน

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ นายสุขุมรัฏฐ์ สาริบุตร ผวจ.สมุทรปราการ ได้เปิดห้องทำงานแถลงข่าวภายหลังทราบคำสั่งย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยว่า จะยื่นใบลาออกต่อกระทรวงมหาดไทย สำหรับเหตุผลที่ลาออกจากการ เป็นข้าราชการนั้น มีสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะในตำแหน่ง ผวจ. และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพราะรู้สึกน้อยใจและรู้สึกว่าการโยกย้ายในครั้งนี้ขาดความเป็นธรรม เนื่องจากการโยกย้ายครั้งนี้ไม่ได้มีการพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่มีการวางไว้ ที่มีการประเมินการทำงานก่อนหน้าที่จะมีการโยกย้าย โดยจากการประเมินผลการทำงานจังหวัดสมุทรปราการ ได้คะแนนถึง 4.677 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งถือว่าสูงมากแต่ทำไมเกณฑ์การประเมินนี้ถึงไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

"เห็นว่าไม่เป็นธรรม"


การปรับเปลี่ยนตำแหน่งโยกย้ายครั้งนี้ สำหรับผมมองแล้วเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากในโผการโยกย้ายที่ทราบมา กลุ่มสิงห์แดง-คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จะถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกว่า 90% ขณะที่สิงห์ดำ-คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่สำคัญ หากจะให้เกิดความเป็นธรรมจริงๆ ทำไมถึงไม่ปรับตำแหน่งจากกลุ่มสิงห์แดงและสิงห์ดำ ให้มีอัตราส่วนเท่ากันคือ 50-50 ในกระทรวงมหาดไทย

นายสุขุมรัฎฐ์กล่าวว่า การปรับตำแหน่งโยกย้ายครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม จึงตัดสินใจขอยื่นหนังสือลาออกต่อกระทรวงมหาดไทยในช่วง 1 สัปดาห์ นับจากนี้ เพราะจริงๆแล้วตนก็เหลืออีกแค่เพียง 9 เดือนก็จะเกษียณอายุราชการ ไม่เหมาะที่จะไปทำงานในตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์