ไตรรงค์ชงสุเทพ คุมกุ้งทั้งระบบ เสนอครม.วันนี้

จับตา ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” เตรียมชง ครม. ตั้ง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกฯฝ่ายมั่นคง ควบคุมดูแลธุรกิจกุ้งทั้งระบบ...

ในการประชุมครม. วันที่ 8 มิ.ย.2553 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การมอบหมายผู้รับผิดชอบดูแลสินค้ากุ้งทั้งระบบ โดยให้มีคณะกรรมการเฉพาะทำหน้าที่รับผิดชอบสินค้ากุ้ง โดยอาจมอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้กรมประมง เป็นฝ่ายเลขานุการ ยกร่างองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 

ทั้งนี้ มีการรายงานข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้  1.กุ้งเป็นสินค้าประมงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคใต้ และภาคตะวันออกที่มีผลผลิตปีละ 5.5 - 6.0 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของผลผลิตโลก โดยผลผลิตกว่าร้อยละ 90 ของประเทศไทยเป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในรูปกุ้งแช่แข็ง กุ้งแปรรูป และกุ้งกระป๋อง เป็นมูลค่าปีละ 85,000 ล้านบาท 

2. การเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศเป็นกุ้งขาวแวนนาไมร้อยละ 99 และกุ้งกุลาดำร้อยละ 1 ผลผลิตจะออกสู่ ตลาดมากในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน ประมาณร้อยละ 40 ของผลผลิตทั้งปี ซึ่งจะมีปัญหาราคาตกต่ำในช่วงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีจำนวน 30,000 ครัวเรือนและส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และ 2 - 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้เรียกร้องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดโดยการรับจำนำผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งการจัดทำระบบสัญญาข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าของเกษตรกร 

3. จากการดำเนินมาตรการรับจำนำกุ้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ก็ตาม แต่เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย (ปริมาณแทรกแซง 10,000 - 15,000 ตัน) ซึ่งไม่ค่อยมีผลต่อการยกระดับราคา ในขณะที่ภาครัฐต้องมีภาระในการบริหารการจัดเก็บและการดูแลรักษาคุณภาพ ตลอดจนการระบายผลผลิตที่รับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำกว่า ราคาตลาดมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดการค้าปกติของสินค้ากุ้ง 

4. ปัจจุบันการกำกับดูแลสินค้ากุ้งได้ดำเนินการ ตามกรอบยุทธศาสตร์กุ้งไทย ซึ่งมี 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 ปี 2549-2551 และฉบับที่ 2 ปี 2553-2555 เน้นการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพพื้นที่การเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ การเพิ่มศักยภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้ากุ้ง และการเพิ่มศักยภาพการตลาด โดยมีเพียงกรมประมงที่รับผิดชอบหลักในด้านการผลิต

ส่วนการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เป็นครั้งคราวเท่านั้น

ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการทั้งระบบ ซึ่งในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมกุ้ง มีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องดำเนินงานเชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ทั้งหน่วยงานของรัฐ -เกษตรกร ผู้ประกอบการในกระบวนการผลิต เช่น ผู้ค้าปัจจัยการผลิต ผู้แปรรูปอาหาร และผู้ส่งออกกุ้ง เป็นต้น 

อย่างไรเป็นที่น่าสังเกตุว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นั้น

เป็นนักการเมืองใหญ่ที่มีพื้นฐานธุรกิจของครอบครัวประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งรายใหญ่ ของภาคใต้อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งนายสุเทพ เคยระบุไว้ว่ามียอดขายปีละ 5-6 พันตัน ซึ่งปัจจุบันได้มอบหมายให้นายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชาย คนโตเป็นผู้ดูแลธุรกิจแทนทั้งหมด

ซึ่งล่าสุดก็ได้ถูกฝ่ายค้านนำประด็นความไชอบมาพากลในการถือครองที่ดินและออกโฉนดที่ดินจำนวนมากบนเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีไปเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสุเทพในสภาฯ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์