เป็นไปตามคาดสำหรับการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล อีก 5 คน ชนิดเต็มเวลา 2 วัน 2 คืน ผลปรากฏคะแนนโหวตไว้วางใจให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไป 246 เสียง ไม่เห็นด้วย 186 เสียง งดออกเสียง 11 และ ไม่ลงคะแนน 21
ไว้วางใจนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี 245 เสียง ไม่ไว้วางใจ 187 เสียง งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 21 ไว้วางใจนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 244 ไม่ไว้วางใจ 187 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 22 ไว้วางใจ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ 239 ไม่ไว้วางใน 190 งดออกเสียง 15 ไม่ลงคะแนน 21
ไว้วางใจนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 236 ไม่ไว้วางใจ 194 งดออกเสียง 14 ไม่ลงคะแนน 22 และ ไว้วางใจนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 234 ไม่ไว้วางใจ 196 งดออกเสียง 13 ไม่ลงคะแนนเสียง 22
สรุปว่า ทุกคนยังคงได้รับการไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป !!
ทว่าคะแนนเสียงที่ออกมาเช่นนี้ แสงสปอร์ตไลท์ ย่อมส่องไปหาคนที่ถูกไม่ไว้วางใจมากที่สุด คือ รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย นายโสภณ 196 เสียง ตามมาด้วยหัวหน้าพรรคอย่าง นายชวรัตน์ 194 เสียง
ทำให้หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เสียงไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นมานั้นมาจากไหน และเมื่อโฟกัสลงไปถึงระดับตัวบุคคล พบว่า เสียงค้านที่ไม่ปกติส่วนใหญ่มาจาก "พรรคเพื่อแผ่นดิน" ที่ก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรค นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ออกมาระบุว่า ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการโหวต หากรัฐมนตรีคนใด ชี้แจงไม่เคลียร์ก็ไม่ต้องโหวตให้ ผลออกมาว่า ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่ไว้วางใจนายโสภณ ถึง 14 เสียง และไม่ไว้วางใจ นายชวรัตน์ 10 เสียง
และนายชาญชัย ก็ยังยืนยันคำเดิม แถมยังยุพรรคประชาธิปัตย์ ให้ยึดกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงคมนาคมมาบริหารเอง
ท่าทีที่ชัดเจนเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ฝั่งภูมิใจไทยทุกคนจะควันออกหู โดยนายโสภณ ถึงกับเอ่ยปากตำหนิว่า "ขาดมารยาท" คะแนนที่ออกมาชัดเจน รู้มาก่อนแล้ว และไม่รู้ว่าเป็นเรื่องขบเกลียวระหว่าง นายเนวิน ชิดชอบ แกนพรรคนำภูมิใจไทย กับ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดินหรือไม่ ต่อไปนี้การทำงานร่วมกันในรัฐบาล ทำได้ แต่คงไม่ราบรื่น ต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน
ขณะที่นายชวรัตน์ และ นายเนวิน ออกโรงมาประกาศเองว่า มติของพรรคให้นายกฯ ตัดสินใจว่าจะเลือกภูมิใจไทย หรือ เพื่อแผ่นดิน โดยให้เวลาภายในสัปดาห์นี้เท่านั้น !!!
กระทั่งนายสุเทพ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ก็ออกมายอมรับว่ารัฐบาลมีปัญหาจริง แต่จะเร่งประสานความเข้าใจกับทุกฝ่าย และจะเป็นคนแก้ปัญหาเอง ตามคำสั่งของนายกฯ ที่ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้นายสุเทพ นัดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยอาจจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาปรับ ครม.ด้วย
ปมความขัดแย้งนี้แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า อาจจะเกิดจากการที่แกนนำพรรคภูมิใจไทย กับแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน กินแหนงแคลงใจกันเรื่องการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงความขัดแย้ง พร้อมกับปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่พรรคภูมิใจไทยนั้น ได้รับเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่พรรคเพื่อแผ่นดินนั้นได้เพียงหยิบมือเท่านั้น
"หมอแว" นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน จ.นราธิวาส บอกว่า พรรคเพื่อแผ่นดินเที่ยวนี้คงลำบาก เพราะภายในพรรคเองยังมีเสียงที่แตกกันมาก หลายขั้ว เปรียบกันไม่ได้กับพรรคชาติไทย ที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เป็นคนพูด ทุกคนฟัง การปรับ ครม.ครั้งนี้คงลำบาก
ขณะที่ ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์กับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ผลการลงมติครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อแผ่นดิน คงเป็นความขัดแย้งในระดับนำ เป็นเพราะความอึดอัด จึงออกมาในลักษณะเสียงเกือบทั้งหมด พรรคเพื่อเพื่อแผ่นดินก็พูดชัด ว่ามีความอึดอัดและต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาดูแล จุดประสงค์ก็เพื่อส่งสัญญาณ เท่าที่ฟังพรรคเพื่อแผ่นดินอยากให้เปลี่ยนโควตากระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงคมนาคม เนื่องจากอาจจะเห็นว่าพรรคภูมิใจไทยดูแลตรงนี้ อาจจะไม่ดูแลพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างดีพอ แต่เข้าใจว่าในที่สุดน่าจะตกลงกันได้ เป็นหน้าที่ของนายสุเทพ จะเข้ามาจัดการ คิดว่าจะไม่เป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรง เพราะทุกพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ ยังต้องการอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป
ช่วงนี้รัฐนาวาของนายอภิสิทธิ์ กำลังระส่ำระสายอย่างหนัก ไหนจะข่าวคราวความขัดแย้งภายในพรรคตัวเอง ที่กำลังขับเคี่ยวเรื่องเก้าอี้เสนาบดี กรณีการยุบพรรค ที่รอการพิจารณาตัดสินของศาล เรื่องราวการสอบสวนกรณีสลายการชุมนุม ที่ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับเข้าไปไต่สวนนายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ แล้ว ยังมีการกระตุก เลื่อยขาเก้าอี้ ไม่ลงรอยระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่ปะทุขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นลำดับ
เมื่อภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด ทำให้เครื่องบินในอากาศ ทะยานไม่ได้ "รัฐบาลมาร์ค" ก็เช่นเดียวกัน ปัญหารุมเร้าหนัก จำเป็นต้องเดินเกมอย่างสุขุม รอบครอบ ภายใต้คอนเซปต์ "ยื้อก่อนยุบ" แต่หากเดินเกมพลาด อาจกลายเป็น "ยุบก่อนยื้อ" ก็เป็นได้.
Aftershock หลังอภิปราย รัฐนาวาแตก มาร์คยื้อก่อนยุบ!
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง Aftershock หลังอภิปราย รัฐนาวาแตก มาร์คยื้อก่อนยุบ!
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!