“อภิสิทธิ์” พอใจ ศอฉ.สรุปเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศชาติ ขณะที่ ศอฉ.มอบข้อมูลให้ชี้แจงในศึกซักฟอก...
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 พ.ค.2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะ ผอ.ศอฉ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (1) พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (2) พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) และ พล.ต.อุทิศ สุนทร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง
โดยการประชุม ศอฉ. จากเดิมได้มีการกำหนดประชุมไว้ในเวลา 16.00 น. แต่นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เลื่อนการประชุมมาในเวลา 09.30 น. แทน
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการสรุปสถานการณ์เหตุการณ์การกระชับวงล้อมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้มีการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ทั้งคลิปวีดีโอ ของผู้สื่อข่าวไทย และ ต่างประเทศ ที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
โดยทาง ศอฉ. ได้จัดเตรียมข้อมูลเอกสารที่มีการพิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ และ แผ่นวีซีดี มอบให้กับนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ
เพื่อนำไปชี้แจงในการปฏิบัติการงานในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ วันที่ 31 พ.ค. และ 1 มิ.ย.นี้ ตามที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านมีการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
แหล่งข่าวในที่ประชุม ศอฉ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศอฉ.ในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
หลังจากที่ รัฐบาล และ ศอฉ. มีมติประกาศยกเลิกการประกาศพื้นที่ควบคุม หรือ เคอร์ฟิวในพื้นที่ กทม. และ พื้นที่ต่างจังหวัดอีก 24 จังหวัด รวมถึงรายงานภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ กทม. และภูมิภาค ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี รับทราบแนวทางที่จะเฝ้าระวังในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้รับฟังการบรรยายสรุปของ ศอฉ.ถึงการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มต้นการตั้ง ศอฉ. ขึ้นมาควบคุมดูแลสถานการณ์บ้านเมือง หลังจากที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันตั้งแต่ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
“ศอฉ.ได้มีการบรรยายลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เพื่อเตรียมชี้แจง ในกรณีที่มีการขอให้ชี้แจงในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของสถานการณ์บ้านเมือง ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในเรื่องการชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มเติมว่า การชี้แจงกับเอกอัครราชทูต และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ บางส่วนยังไม่เข้าใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งการปฏิบัติการที่ผ่านมา ศอฉ.ไม่ได้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่การปฏิบัติงานเป็นการกระชับวงล้อม และ ตั้งด่านตรวจ เพื่อตัดเส้นทางการส่งบำรุงต่าง ๆ ให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น เพื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อันตราย การกระทำดังกล่าวของรัฐบาล หรือ ศอฉ. ก็เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้มันดีขึ้น ไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรง”
มาร์คขอบคุณศอฉ. ทำเพื่อชาติ พร้อมรับศึกซักฟอก
แหล่งข่าวระบุ แหล่งข่าว ยังบอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงกรณีที่มีบางส่วนไม่เข้าใจที่รัฐบาลตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง
ซึ่งจริง ๆ การทำงานเป็นไปตามกฎหมายอาญาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการนำเทปที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงไว้กับเหล่าบรรดาเอกอัครราชทูต และ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ออกอากาศซ้ำอีกเพื่อต้องการให้เกิดความเข้าใจตรงกันถึงภารกิจต่าง ๆ ที่ ศอฉ.ปฏิบัติมา ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้กำลังทหาร และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้เข้าไปปราบปราม แต่การดำเนินการเพื่อต้องการสกัดบีบวงล้อม เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธพยายามใช้พื้นที่สวนลุมพินีเป็นฐานในการโจมตี ทาง ศอฉ. จึงจำเป็นจะต้องจะต้องใช้กำลังทหารกระชับวงล้อมเพื่อต้องการยุติกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้
“การทำงานของ รัฐบาล และ ศอฉ.ที่ผ่านมา ถือว่ามีความชัดเจนมาก จึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดถึงการทำงานของ ศอฉ. ภายใต้การประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) โดยให้ดูว่าการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะเรื่องการปิดเว็ปไซต์ รัฐบาลไม่มีนโยบายที่เหวี่ยงแห หรือ ครอบคลุม แต่การปฏิบัติงานจะดูบุคคลที่เข้าไปใช้และไม่เหมาะสมเท่านั้น การปิดเว็ปไซต์ไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล เพียงแต่สั่งการให้ดูแลตามความเหมาะสม
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า ศอฉ. ได้สรุปสถานการณ์การปฏิบัติงานที่ผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะการปฏิบัติของของกำลังทหารที่มีการสนธิกำลังทางจาก 3 กองพล
คือ พล.1 รอ. , พล.ม.2 รอ. และ พล.ร.9 พร้อมกับได้มอบเอกสารทั้งวีซีดี และ เอกสารที่พิมพ์จากคอมพิวเตอร์ มอบให้กับนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการบรรยายสรุปจาก ศอฉ. และ ได้ดูภาพเหตุการณ์ที่ต่าง ๆ ที่ ศอฉ.รวบรวมให้ก็รู้สึกพอใจต่อการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และขอบคุณเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ทุกคนที่ปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เพื่อประเทศชาติ และยืนยันว่า รัฐบาล และ ศอฉ. จะปฏิบัติภารกิจภายใต้กฎกติกาของบ้านเมือง และยึดหลักตามสากลทุกประการ
ทางด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. เปิดเผยถึงกรณีมูลนิธิกระจกเงารายงานสรุปยอดผู้สูญหาย 39 คน
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้มีขั้นตอนในการดำเนินการอยู่แล้ว โดยทางญาติจะต้องไปแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในส่วนของ ศอฉ. ขอยืนยันว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ หรือ ทหาร ในช่วงที่ผ่านมา ศอฉ.ปฎิบัติตามขั้นตอน และในช่วงที่มีการปฎิบัติงานก็มีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวไม่มีจุดใดที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำงานโดยลำพัง
ส่วนการที่มูลนิธิกระจกเงาเรียกร้องให้ ศอฉ.เปิดเผยรายชื่อคนที่ถูกจับกุมตัวนั้น เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องปิดบัง
แต่เบื้องต้นรายชื่อคนที่ถูกจับกุมไม่ได้อยู่กับตน ซึ่งผู้ที่จะให้รายละเอียดได้คือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สามารถไปตรวจสอบได้
ขณะที่แนวโน้มในการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน นั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า
ในขณะนี้ทาง ศอฉ.ได้มีการประเมินว่า พรก.ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ดูแลสถานการณ์ทั้งใน กทม. และ ปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัดต่าง ๆ เพราะยังพบการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่พยายามจะปลุกระดมประชาชนให้ออกมาเคลื่อนไหว ร่วมถึงความพยายามจะก่อเหตุของกลุ่มขบวนการใต้ดิน ถึงแม้ว่า ทาง ศอฉ.ได้มีการจับกุมกลุ่มการ์ดกลุ่ม นปช.ไปบ้างแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีบางส่วนที่หลบหนีไปได้รวมถึงชายแต่งชุดดำที่มีอาวุธสงครามครบมือ ดังนั้น ทางศอฉ.จึงเห็นว่า พรก.ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติงาน ส่วนแนวโน้มการยกเลิกจะเป็นเมื่อไหร่นั้นคงตอบไม่ได้ แต่จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตาม พรก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
ส่วนกระแสข่าว ที่อาจมีการลอบทำร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง นั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ศอฉ.ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะหน่วยงานทางด้านการข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการดูแลความปลอดภัยนั้น เรามีชุดดูแลความปลอดภัยของผู้นำ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกทำกัน และทุกประเทศก็ต้องมี ทั้งนี้ในส่วนด้านการข่าว เรามีชุดในการปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ สำนักข่าวกรอง หรือ สมช. ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่