มาร์คเยียวยาล้างภาพสลายม็อบ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เหตุจลาจล "พฤษภามรณะ" ยุติลงท่ามกลางตัวเลขผู้เสียชีวิต 88 ศพ บาดเจ็บอีกเกือบ 2 พันราย

หลังเหตุการณ์ กทม. จับมือหน่วยงานธุรกิจและภาคประชาชน จัดกิจกรรม "บิ๊กคลีนนิ่งเดย์" ทำความสะอาด แยกราชประสงค์ และพื้นที่ที่เคยเป็นจุดชุมนุม ให้กรุงเทพฯ สะอาดสะอ้าน น่าอยู่ กลับมาคึกคัก

เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ก็ล้างภาพตัวเองครั้งใหญ่

หลังออกมาจากค่ายทหารราบ 11 โดยการประชุมครม.นัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ก็ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม 19 พ.ค. พร้อมจัดแผนเยียวยาและฟื้นฟูครั้งใหญ่ การดำเนินงานแบ่งเป็น 4 ส่วน

ส่วนแรก คือ ฟื้นฟูชุมชนต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย เช่น ชุมชนบ่อนไก่ ดินแดง และพื้นที่อื่นๆ มอบ หมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประสานกับ กทม.

ส่วนที่สอง ดูแลผู้ประกอบการที่ร้านค้าถูกไฟไหม้ และไม่มีสถานที่ค้าขาย มอบเงินสดให้ทันทีรายละ 5 หมื่นบาท และจัดหาทำเลค้าขายให้ โดยทำเลค้าขาย เน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักใน 3 ห้างใหญ่ที่ถูกเผา ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ และเซ็นเตอร์วัน

กลุ่มเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งถือว่าเดือดร้อนหนักที่สุด เบื้องต้นให้ย้ายไปขายของชั่วคราวที่ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นเวลา 1 ปี มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงเงื่อนไข ดังกล่าว

กลุ่มสยามสแควร์ ซึ่งจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้เตรียมสิ่งปลูกสร้างกึ่งชั่วคราวกึ่งถาวร เช่น เต็นท์ ไว้ให้ขายของชั่วคราว โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่

กลุ่มเซ็นเตอร์วัน และอื่นๆ จัดสถานที่ภายในแฟชั่นมอลล์ (โรบินสันเก่า) แทน หรือพื้นที่ใกล้เคียง ให้ เช่น บางกอกบาซาร์ ย่านราชดำริ อาจปิดถนนบางเส้นเพื่อทำถนนคนเดิน ให้ผู้ประ กอบการค้าขายในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กทม. และตำรวจ ไปหารือ

ส่วนที่สาม เรื่องเงินทุนจะช่วยเหลือในรูปเงินกู้พิเศษ ไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยผ่อนปรน
ล่าสุดครม.อนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) โดยปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
ในวงเงิน 1 ล้านบาทนั้น 3 แสนบาทแรก เป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย และไม่ต้องชำระเงินต้น
เป็นเวลา 1 ปี

สุดท้าย คือ เรื่องการชดเชยเงินเดือนให้กับลูกจ้างที่ตกงาน

หากอยู่ในระบบประกันสังคม นอกจากได้รับเงินช่วยเหลือ 7,500 บาทต่อเดือนแล้ว รัฐบาลยังจ่ายสมทบให้เป็นกรณีพิเศษอีกเดือนละ 7,500 บาท จนกว่าจะมีงานทำ แต่ไม่เกิน 6 เดือน
ขณะที่ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม ที่มีอยู่ประ มาณ 800 คน รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้เดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 3-6 เดือน

นอกจากนี้ ยังมอบหมาย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดบัญชีรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป ช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชน ก็ปฏิบัติหน้าที่ควบคู่กันไป

อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เปิดศูนย์เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.

การช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.แบบเร่งด่วน ได้แก่ กรณีเสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 4 แสนบาท ทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบกิจการ งานประจำตามปกติได้รายละ 2 แสนบาท กรณีบาดเจ็บสาหัส นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เกิน 20 วัน ได้รายละ 1 แสนบาท บาดเจ็บนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 20 วันได้ 6 หมื่นบาท และบาดเจ็บเล็กน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลได้ 2 หมื่นบาท
2.การช่วยเหลือต่อเนื่องกรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินฟื้นฟูสมรรถภาพ 2 แสนบาท และเงินช่วยเหลือ ผู้พิการรายเดือนๆ ละ 1,000-3,000 บาท ส่วนบุตรผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ได้รับเงินยังชีพรายเดือนจนจบปริญญาตรี

ผู้ได้รับความเสียหาย หรือญาติ สามารถยื่นเรื่องขอรับการช่วยเหลือได้ที่ศูนย์เยียวยาช่วยเหลือฯ ที่อาคารสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน ภายในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โทร. 0-2354-4244, 0-2306-8957-8 เวลา 08.00-18.00 น. หรือติดต่อได้ ที่ศูนย์ประชาบดี โทร. 1300

กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดศูนย์ Fix It Center ทำความสะอาดและปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานกรมสุข ภาพจิต ส่งจิตแพทย์มาเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักเรียน นักศึกษา และชุมชน

ในส่วนของ กทม. ทำแผนแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นเป็นตอน จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยและซ่อมแซมอาคาร ตั้งศูนย์ดูแลบรรเทาสาธารณภัย มอบเงินช่วยเหลือ หาพื้นที่ค้าขายชั่วคราว

รวมถึงจัดทำบุญใหญ่ 5 ศาสนาที่บริเวณแยกศาลา แดง-ปทุมวัน เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและความเป็นสิริมงคลของคนกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ยังเดินสายลงพื้นที่ชุมชนแทบทุกวัน กวาดล้างทำความสะอาดถนน มอบเงินช่วยเหลือให้บ้านที่ถูกไฟเผาทั้งหลังทันที 1 หมื่นบาท
กระทรวงมหาดไทย ของบกลางสนับสนุนการจัดอบรมอาสาสมัครปกป้องสถาบัน ตั้งเป้าให้ได้อำเภอละ 1 พันคน

นอกจากนี้ยังจัดอบรมทำความเข้าใจฟื้นฟูจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดทำบุญใหญ่ของแต่ละจังหวัด ในส่วนนี้ใช้งบประมาณประจำที่ได้รับการจัดสรรไปในแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว

อีกทั้งอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบจากครม. 1,336 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทดแทนศาลากลางจังหวัดที่ ถูกเผา แยกเป็น จ.มุกดาหาร 235 ล้านบาท, อุดรธานี 441 ล้านบาท, ขอนแก่น 214 ล้านบาท, อุบลราชธานี 424 ล้านบาท, และ เชียงใหม่อีก 11 ล้านบาท

กระทรวงสาธารณสุข เน้นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผู้บาดเจ็บ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิต เน้นในพื้นที่ 24 จังหวัดที่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ บริเวณจุดชุมนุมในกทม.

ส่วน กระทรวงพาณิชย์ จัดรถธงฟ้าเคลื่อนที่เข้าไปจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก และยังได้รับภารกิจให้ฟื้นบรรยากาศของธุรกิจย่านราชประสงค์ โดย เตรียมจัดงาน Thailand Best Friends ช่วงเดือนมิ.ย. เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้ค้าต่างชาติกลับคืนมารวมถึงจะเดินหน้าแผนโรดโชว์การค้า การลงทุนใน ต่างประเทศ เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทย

แม้รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณเร่งจัดทำแผนเยียวยา ฟื้นฟูประเทศ แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งต่อชีวิตและ ทรัพย์สิน ต้องถามกลับไปว่าคุ้มหรือไม่กับคำสั่งกระชับ พื้นที่

ลำพังแค่ "บิ๊กคลีนนิ่งเดย์" ไม่รู้จะล้างหมดคราบรึเปล่า?


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์