ดีเอสไอเสนอ ศอฉ.ห้าม "ตู่" ไปนอก พร้อมสนธิกำลัง 6 หน่วยงานตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วสายด่วน 1688 ช่วยผู้เดือดร้อน
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
กล่าวถึงการดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายกับนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า นายจตุพร ได้ใช้เอกสิทธิความเป็น ส.ส.คุ้มครอง ดีเอสไอจึงไม่สามารถควบคุมตัวในระหว่างสมัยประชุมได้ แต่คดีดังกล่าวเป็นคดีร้ายแรงทางดีเอสไอกังวลว่านายจตุพร อาจเดินทางออกนอกประเทศ ทาง ศอฉ.จึงได้ออกคำสั่งที่ 64/53 ห้ามไม่ให้นายจตุพร เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
สำหรับการสอบสวนคู่ขนานในคดีก่อการร้าย ทางดีเอสไอได้รับสำนวนการสอบสวนแล้วทั้งหมด 115 คดี
และหลังจากนี้คาดว่าจะมีสำนวนคดีต่าง ๆ ทยอยส่งเข้ามาเพิ่มเติมอีกมาก อาทิ คดีวางเพลิงและเผาทรัพย์ในหลายจุด ซึ่งเป็นความผิดในฐานการก่อการร้ายที่ตำรวจต้องสอบสวนเบื้องต้นก่อนส่งมาให้ดีเอสไอดำเนินการต่อ
นายธาริต กล่าวถึงกรณีที่ทาง ศอฉ. มีคำสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มเติมอีก 20 ราย ว่า เดิมคำสั่งของ ศอฉ.กำหนดให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่ถูกขึ้นบัญชีส่งรายงานเอกสารธุรกรรมการเงินย้อยหลัง 9 เดือน ในวันที่ 23 พ.ค.นี้
แต่ช่วงนี้เป็นวันหยุดต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อไม่ให้สถาบันการเงินต้องทำงานเร่งรีบเกินไป ดีเอสไอจึงได้เสนอเรื่องให้ ศอฉ.ผ่อนผันการส่งรายงานธุรกรรมออกไปเป็นวันที่ 26 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการสอบสวนทางดีเอสไอจะพยายามไม่ขยายเครือข่ายผู้ที่ต้องถูกระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแบบเหวี่ยงแห แต่จะสั่งห้ามเฉพาะราย เพื่อเลี่ยงกระทบสิทธิของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
"ทาง ศอฉ.ได้มีคำสั่งเห็นชอบตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอำนวยความยุติธรรม (ศป.ยธ.) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระห่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ดีเอสไอ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกี่ทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)และสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการของ ศอฉ. และเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุร้ายและเข้าช่วยเหลือประชาชน จึงขอให้ผู้ประสบเหตุสามารถโทรศัพท์เข้ามาแจ้งได้ที่สายด่วน 1688.