เมื่อ 21 พ.ค. สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยต่อเนื่อง
แต่ลดระดับความสำคัญของข่าวลงแล้ว เมื่อไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง ส่วนใหญ่หันไปเน้นการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ และภาวะตึงเครียดที่ยังมีอยู่ต่อไปในสังคม
ยูเอสเอ ทูเดย์ สหรัฐ พาดหัวข่าวว่า "กรุงเทพฯ สงบนิ่ง แต่ความตึงเครียดยังคุกรุ่น" พร้อมรายงานว่า แม้ทหารจะสลายผู้ชุมนุมสุดท้ายที่มีราว 3,000 คนแล้ว แต่มีความหวังเพียงเล็กน้อยว่า ไทยจะแก้ไขวิกฤตทางการเมืองและสังคมได้
รอยเตอร์ อังกฤษ รายงานวิเคราะห์ "ประเทศไทยที่ปั่นป่วนจะมุ่งหน้าไปทางไหน" ความสงบหวนคืนใจกลางกรุงเทพฯ หลังจากเกิดเหตุจลาจลร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อทหารเข้าสลายผู้ชุมนุมแล้ว สิ่งที่ยังต้องจับตาก็คือ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทหารยังต้องการให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยู่ต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการโยกย้ายตำแหน่งระดับสูงในกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับอำนาจ เกียรติยศ และการควบคุมกิจการบริษัทที่เชื่อมโยงกับกองทัพ
หากกลุ่มทหารที่คิดว่า จำต้องตัดนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีคนนี้ก็ต้องถูกทิ้ง แต่โรดแม็ปที่จะปรองดองอาจอยู่ต่อไปได้ บุคคลที่เป็นที่ยอมรับอาจขึ้นมารักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่คาดว่าจะไม่มีจนกว่าจะถึงเดือนธ.ค.ปี 2554
บีบีซี อังกฤษ รายงานว่า ความสงบเรียบร้อยหวนกลับมาในกรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่ชุมนุมเดิม คริส ฮอก นักข่าวในพื้นที่รายงานว่า ยังไม่ปกตินัก เพราะชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่อาจผ่านด่านตรวจของทหารได้ แม้คนไทยส่วนหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลต้องสั่งหารเพื่อยึดคืนเมืองหลวง แต่สิ่งนี้ต้องแลกด้วยความแตกแยกในประเทศที่จะมีต่อไป ยังมีผู้ชุมนุมที่กล่าวว่า เสื้อแดงไม่เคยแพ้ และจะยืนขึ้นอีกครั้งในวันหนึ่ง ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องแสดงคือกระบวนการปรองดองต้องเริ่มขึ้นอย่างเอาจริงเอาจังที่สุด
เอพี สหรัฐ รายงานว่า ชาวกรุงเทพฯ คำนวณความเสียหายในพื้นที่จลาจล หลังอาคาร 39 หลังถูกเผาทำลาย ในจำนวนนี้มีโรงภาพยนตร์สยาม และห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนห้างเซ็นเตอร์วันห้างเดียว ประเมินความเสียหายไว้ที่ 1 พันล้านบาท คนตกงานอีกราว 1 พันคน