ป๋าเปรมยํ้าอ้อมาพบไม่มีอะไรทุกอย่างจบ

อดีตทส.ยัวะถูกหารับเงินลั่นฟ้อง ส่งร่างนโยบายรับเน้น5เรื่องหลัก เหนือระอุ-ทัพ3จับตา"คลื่นใต้นํ้า"


ป๋าเปรม เผย คุณหญิงอ้อ เข้าพบไม่มีอะไรในกอไผ่ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ อู้ด เบื้องบน บอกทุกอย่าง ก่อนชิ่งขึ้นรถกลับบ้าน แย้มคุณธรรมคนไทยกำลังป่วยโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง แนะให้ใช้ความพอเพียงเยียวยา ขณะที่ อู้ด สุดยั๊วะเจอพวกปากดีกล่าวหารับเงินมาจัดคิวพบ ป๋า ลั่นมีหลักฐานฟ้องแน่ไม่สนพูดจริงหรือพูดเล่น รมว.กลาโหมยัน แม้ว กลับประเทศได้หรือไม่อยู่ที่ บิ๊กบัง ตัดสินใจ ด้าน มาร์ค ชี้เป็นสัญญาณทางการเมืองเพื่อหวังผลทางจิตวิทยา พร้อมแนะรัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่ใครหรือกลุ่มใด ชวน ยัน แม้ว เป็นคนไทยมีสิทธิ์กลับประเทศ ด้าน มีชัย ปฏิเสธบล็อกโหวตตำแหน่งประธาน กมธ.ตอบแทนผู้ที่เลือกเป็นประธาน ฝ่ายรัฐบาลส่งร่างนโยบายให้ สนช.แล้ว เน้น 5 เรื่องหลัก ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สมานฉันท์ ต่างประเทศ และความมั่นคง ภาคเหนือระอุ ทัพภาค 3 สั่งจับตาคลื่นใต้น้ำห้ามกะพริบ ผู้ว่าสั่งทุกอำเภอเตรียมพร้อมดูแลความสงบ หลังได้ข่าววัยรุ่นเตรียมก่อกวน

"เปรม" ชี้ศก.พอเพียงไม่สาย


เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ กล่าวในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549 ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมที่คณะกรรมการได้ร่วมนำประเด็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะ นำแก่คนไทยให้นำมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี

พล.อ.เปรม กล่าวต่อว่า คนไทยน่าจะพอระลึกได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งถึง "แนวเศรษฐกิจพอเพียง" มานานกว่า 20 ปี ในตอนแรกคนสนใจน้อยมาก บ้างเห็นว่าล้าสมัย บ้างพูดกันแต่จะพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ เพราะไม่เข้าใจพระราชประสงค์ที่ทรงดำริโดยแท้จริง แต่ก็ยังเป็นโชคดีของคนไทย และยังไม่สายเกินไปที่จะนำปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน

สวดผู้บริหารคุณธรรมเสื่อม


ประธานองคมนตรีกล่าวต่อว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อให้ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทย จึงเป็นที่รักเคารพเทิดทูนบูชาอย่างหาที่สุดมิได้ เศรษฐกิจ พอเพียงที่ทรงสอนนั้น คือปรัชญาการดำเนินชีวิตทุกด้าน โดยจะต้องอิงทั้งคุณธรรมและความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ดังนั้นการสร้างสุขภาวะให้เกิดแก่บุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม จำเป็นต้องอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะคนจะมีสุขภาพดี ครอบครัวอยู่เย็น สังคมเป็นสุขก็ต้องเกิดขึ้นจากความพอดี ความพอประมาณ หรือความพอเพียง

"เราเชื่อกันว่าสุขภาพของคนเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นส่วนประกอบจำเป็นที่จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข เราเชื่อกันว่า คุณธรรมจะสร้างสุขภาพให้สังคม ผมขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายมองคุณธรรมในเชิงสุขภาพ เราจะมองเห็นได้ชัดเจนว่า สุขภาพของคุณธรรมของคนไทยโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงเสื่อมถอยลงมาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คุณธรรมของคนไทยกำลังป่วย จึงน่าจะเป็นหน้าที่ของสมัชชานี้ ที่จะเยียวยารักษาสุขภาพของคุณธรรมของคนไทยให้หายจากการเจ็บป่วยกลับแข็งแรงเหมือนเดิม โดยมาตร การใดมาตรการหนึ่ง และมาตรการที่ดีที่สุด คือ ความรู้จักพอเพียง" พล.อ.เปรม กล่าว

เผย "อ้อ" เข้าพบไม่มีอะไร


ภายหลัง พล.อ.เปรม กล่าวในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสร็จ ผู้สื่อข่าวได้รุมล้อมเพื่อที่จะสอบถามประเด็นการเข้าพบของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.เปรมถอยออกมาห่าง ๆ พร้อมชิงกล่าวว่า ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นอะไร รู้ว่าพวกคุณจะถามเรื่องอะไร ไม่ต้องถามทุกอย่างเป็นตามที่ พล.อ.อู้ด เบื้องบน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพูดให้ฟัง มีอยู่แค่นั้นจบแค่นั้น ไม่มีอะไรไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพยายามที่จะซักถามต่อ แต่ พล.อ.เปรมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ และเดินขึ้นรถกลับ

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการขอกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า อยู่ที่การตัดสินใจของประธาน คมช.เพราะรับผิดชอบด้านความมั่นคง เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็ทราบว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ประธาน คมช. ก็พูดชัดเจนว่าถ้าเข้ามาต้องแจ้งให้ทราบก่อน สำหรับปัญหาคลื่นใต้น้ำนั้น เราก็ไม่ได้ปล่อยให้ออกมาเขย่ากันอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ คลื่นใต้น้ำจะสงบหรือไม่ต้องไปถามเขาไม่ใช่มาถามตน

"อู้ด" ยัวะกล่าวหารับเงิน


ด้าน พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ยืนยันว่าการที่คุณหญิงพจมานเข้าพบ พล.อ.เปรมในฐานะผู้น้อยพบผู้ใหญ่และถามสารทุกข์สุกดิบ เมื่อไม่เชื่อก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต่อไปคงต้องมีการถ่ายทอดวงจรปิดให้รู้กันไปเลยว่าเขาคุยเรื่องอะไรกัน ส่วนที่มีสื่อมวลชนบ้างฉบับลงว่ามีการเกี้ย เซี้ยะกันนั้น ตนก็ไม่รู้ว่ามันเกี้ยเซี้ยะได้อย่างไร ถ้าจะทำกันจริงมีวิธีการมากกว่านี้ ตนเป็นคนที่ไม่ชอบสาบานแต่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความสัตย์จริง ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว

ส่วนที่มีการระบุว่ามีการไปรับเงินมานั้น พล.อ.อู้ดกล่าวว่า ถ้ามีหลักฐานว่าเป็นใครพูดตนจะฟ้อง ไม่ว่าจะพูดเล่นหรือพูดจริง เพราะทำให้ตนเกิดความเสียหาย ตนรับราชการเป็นถึงระดับปลัดกระทรวงกลาโหม การที่จะประสานติดต่อให้ใครเข้าพบไม่จำเป็นต้องไปรับเงิน คนที่พูดทุเรศที่สุดที่มีความคิดแบบนี้แย่จริง ๆ ตนยอมรับว่ารู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณมาตั้งแต่ยังรับราชการถ้านับเวลาก็กว่า 30 ปีแล้ว คนที่รู้จักกันมาเป็นเวลานาน อยู่ ๆ จะปฏิเสธไม่พบปะเลยเป็นไปไม่ได้ การที่ลูกชายของตนไปแต่งงานกับหลานของนายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลังก็เป็นเรื่องของคนสองคนที่เขาชอบพอกัน ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเอาเรื่องต่าง ๆ ไปโยงเข้าหากันไปหมด ทำไมถึงไม่คิดอย่างที่ พล.อ.สนธิ เคยพูดไว้ว่าให้ดึงศัตรูมาเป็นมิตรให้ได้จะได้เกิดความสมานฉันท์ ทำไมเราไม่มองในเรื่องของความสมานฉันท์ที่จะเกิดขึ้น

"มาร์ค" ชี้เกมจิตวิทยา


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคุณหญิงพจมานเข้าพบ พล.อ.เปรมที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ว่า ถ้า มองในมุมของคุณหญิงพจมานตนไม่แปลกใจ เพราะคุณหญิงพจมานมักมีบทบาทแบบนี้มาตลอด เรื่องนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นสัญ ญาณทางการเมือง ผู้เข้าพบคงหวังให้เกิดผลทางจิตวิทยา ส่วนตัวไม่เข้าใจว่า พล.อ.เปรมมีแนวคิดอย่างไรที่ให้คุณหญิงพจมานเข้าพบ ตนคิด ว่าหลายคนก็กังวลว่าจะแปลว่าอะไร เพราะเป็นข่าวที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ จะขอกลับประเทศไทยหรือไม่ อีกทั้งคุณหญิง พจมานก็มีข่าวในเรื่องการซื้อที่ดินบริเวณใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่เคยเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แนะรธน.ใหม่อย่ารวบอำนาจ


สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั้น นายอภิสิทธิ์ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์www.abhisit.org ถึงการเสนอแนะหลักการร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนขอเสนอกรอบความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้ 1.ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องปรับปรุงการสร้างกลไกให้สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ แก่ประชาชน ป้องกันปราบปรามการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง รวมถึงการได้ผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 2.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องหลีกเลี่ยงการให้อำนาจเบ็ดเสร็จ เด็ดขาดแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใดที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน อีกทั้งต้องมีมาตรการขีดวงการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองไม่ให้แทรกซึมครอบงำวงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทาง การเมือง

3.รัฐธรรมนูญต้องมีมาตรการที่เป็น นวัตกรรมในการแก้ปัญหาระบบธนกิจการเมืองที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างครบวงจร โดยจะต้องควบคุมจำกัดตั้งแต่การบริจาคเงิน รายได้ของนักการเมืองและพรรคการเมือง การใช้จ่ายของนักการเมืองและพรรคการเมือง และการใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐ ซึ่งถ้าหลักการเหล่านี้เป็นที่ยอมรับก็จะนำไปสู่การระดมความคิดและการ ถกเถียงที่สร้างสรรค์ โดยมีกรอบที่ชัดเจน

"ชวน"ยัน"แม้ว"มีสิทธิกลับ


นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงพจมาน เข้าพบ พล.อ.เปรมว่า ตนไม่ได้ติดตามข่าวดังกล่าวเพราะอยู่ต่างจังหวัด ในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนไทยมีสิทธิจะกลับประเทศไทยเมื่อใดก็ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จะกลับเมืองไทยหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าการก่อรัฐประหารมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่ง คมช.จะต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณใช้สื่อและควบคุมมาเป็นเวลานาน 5 ปี โดยไม่ให้คนอื่นพูด ทำให้ประชาชนได้ข้อมูลฝ่ายเดียว

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการที่นโยบายของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ให้ความสำคัญกับสื่อมวลชน เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะนี้รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้สื่อมวลชนของรัฐตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอิทธิพลกลุ่มอำนาจเก่า และใช้สื่อเหล่านั้นเป็นเครื่องมือเผยแพร่ผลงาน รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ที่เผยแพร่เทปบันทึกการสัมภาษณ์พิเศษของอดีตรัฐมนตรีที่อวดผลงานนโยบายกองทุนหมู่บ้าน สะท้อนให้เห็นว่าสื่อของรัฐหน่วยนี้มีวาระซ่อนเร้น รัฐบาลก็ไม่ได้ใส่ใจในการกำกับดูแล จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรกับเรื่องนี้

ร้องแก้คำสั่งห้ามเป็นสมัชชา


นายเทพไท เสนพงศ์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข้อเรียกร้องว่า ขอให้ คมช.แก้ไขปรับปรุงคำสั่งฉบับที่ 8 ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ข้อ 2 (5) กรณีคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นสมัชชาแห่งชาติ ต้องไม่เคยเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือมีตำแหน่งในพรรคไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนได้รับการคัดเลือก เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวขัดกับบทแนบท้ายที่กำหนดสัดส่วนในประเภทของพรรคการเมืองและองค์กรปกครองท้องถิ่น ตนจึงขอเสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงดังนี้ 1.ควรยกเลิกข้อกำหนดคุณสมบัติที่ปิดกั้นสมาชิกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.ต้องตัดสัดส่วนตัวแทนพรรคการเมืองออก เพื่อป้องกันข้อครหาว่าพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เตือน คมช.ระวังภาพเสีย


นายเทพไทยังกล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงพจมานเข้าพบ พล.อ.เปรมว่า เรื่องดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนมองว่าเป็นการเข้าไปต่อรองหรือขอความช่วยเหลือ เพราะพล.อ.เปรมเปรียบเหมือนกับที่ปรึกษาของ คมช.และขณะนี้ ป.ป.ช. และ คตส. ก็กำลังตรวจสอบทรัพย์สินรัฐบาล ในอดีต การเข้าพบครั้งนี้อาจจะทำให้ผู้ที่ทำ หน้าที่ตรวจสอบเสียขวัญกำลังใจ ส่วนการที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ลงเตะฟุตบอลร่วมทีมเดียวกันกับ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. เมื่อเย็น วันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา จะทำให้ประชาชนคิดว่าการปฏิวัติเพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะทุก ครั้งก็จะมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ทำตัวเหมือน พาร์ตเนอร์การเมืองหรืออะไหล่การเมืองไปร่วมตั้งพรรคการเมืองใหม่

ด้านนายสุทิน คลังแสง รองโฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกระแสข่าวพ.ต.ท. ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศว่า ผู้มีอำนาจคงจะพิจารณาได้ว่าสิ่งใดเหมาะสมไม่เหมาะสม หากบอกว่าทำเพื่อประชาชนก็น่าจะเปิดหูเปิดตารับฟังความรู้สึกของประชาชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ถามว่าถ้าระบอบทักษิณสร้างความเลวร้ายให้ประเทศชาติจริง ทำไมรัฐบาลและ คมช.ถึงไม่ยกเลิกนโยบายพรรคไทยรักไทย

เหนือสั่งรับมือคลื่นใต้น้ำ


สำหรับปัญหาคลื่นใต้น้ำนั้น พ.อ. บรรยงค์ จิรสุนทร หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้รับแจ้งว่าพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีความเคลื่อนไหวอย่างมาก ทั้งใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำปาง มีกลุ่มบุคคลใช้รถเป็นพาหนะติดเครื่องกระจายเสียงวิ่งตระเวนตามหมู่บ้านโจมตี คปค. ว่าทำลายระบอบประชาธิปไตย ขณะนี้ทหารกำลังตรวจสอบว่ารถคันดังกล่าวมาจากไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ วงศา โรจน์ ผวจ.พิษณุโลก ได้ออกประกาศหนังสือด่วนที่สุดส่งตรงไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอเพื่อแจ้งเตือนไปยังหน่วยราชการต่าง ๆ ให้ทราบว่า ทางจังหวัดได้ รับแจ้งเตือนจากหน่วยข่าวกรองว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นเพื่อเตรียมก่อความไม่สงบในพื้นที่ จึงขอให้ทุกอำเภอเฝ้าระวัง และดูแลความสงบเรียบร้อย

สั่งขรก.ห้ามเคลื่อนไหว


ขณะเดียวกันนายสมชัย เพียรสถาพร รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการผ่านทางนายเกษมสันต์ จิณณวาโส รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้กำชับผ่านไปยังผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เรื่องการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกให้ข้าราชการตั้งแต่ระดับหัวหน้าหน่วยในท้องที่อยู่ประจำ และห้ามเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง การทำกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่ขอให้หลีกเลี่ยงภาพที่ส่อไปในทางที่ไม่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ การออกนอกเขตพื้นที่ต้องทำหนังสือแจ้งทางเขตเพื่อขออนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานฯ และถ้าไม่ทำจะดำเนินการตามข้อสั่งการจะถูกสอบสวนทาง วินัยขั้นร้ายแรง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงเรื่องคลื่นใต้น้ำว่า ขอให้เลิกเป็นห่วงเพราะพรรคไม่มีนโยบายสนับสนุน เรามีจุดยืนชัดเจนและแสดงให้เห็นมาโดยตลอด ว่าความหมายของคำว่าสมานฉันท์บนหลักการ ประชาธิปไตยเป็นอย่างไร คำว่าคลื่นใต้น้ำไม่ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อคงกฎหมายที่คุมสิทธิประชาชนต่อไป ส่วนเรื่องใบปลิวต้องแยกแยะจะไปเหมาว่าเป็นคลื่นใต้น้ำทั้งหมดไม่ได้ บางแผ่นก็เป็นการเสนอความเห็นหรือถ้ามีใบปลิวโจมตีให้เสียหายก็ให้ว่ากันไปตามกฎหมาย ควรให้มีความชัดเจนมากกว่านี้การอ้างเรื่องคลื่นใต้น้ำแล้วโยง มาถึงพรรคคงอ้างไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด

คมช.ยังไม่แจงเหตุยึดอำนาจ


วันเดียวกันมีการประชุม คมช.ซึ่งภายหลังการประชุม พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. กล่าวถึงการประชุมว่า เป็นการพูดคุยถึงความคืบหน้าในการทำงานของ คมช.ว่ามีอะไรที่คั่งค้างอยู่บ้าง ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำไม่มีการพูดถึงรวมถึงเรื่องการขอกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำงาน เมื่อถามว่ามีการหารือถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารหรือไม่ ผบ. ทร. กล่าวว่า ต้องไปถามประธาน คมช.คิดว่าอะไรที่ชี้แจงได้ก็ควรชี้แจง แต่คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามภายใน คมช.ไม่มีปัญหาความขัดแย้งรวมทั้งเรื่องการปลด ผบ.ตร.ก็ไม่จริง ไม่ทราบว่าข่าวที่ออกมาเพื่อให้ คมช.แตกความสามัคคีกันหรือไม่

ด้านพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงพรรคไทยรักไทยว่า คลื่นใต้น้ำไม่มีแล้ว ต้องดูเป็นระยะไม่ใช่วันนี้ บอกไม่มีแล้วจบ เรื่องกฎอัยการศึกจะเลิกหรือไม่ต้องหารือกันหลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลด้วย กฎ อัยการศึกมีหรือไม่มีก็เรื่องใหญ่ ถ้ายกเลิกแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาก็ต้องประชุมกันเพราะเป็นเรื่องใหญ่

สนช.หารือ 2 วันต่อสัปดาห์


อีกด้านหนึ่งที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดที่ 2 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระที่ประชุมได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช.จากนั้นนายมีชัยกล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนและรองประธานทั้ง 2 คนขอขอบคุณสมาชิกที่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้ พวกตนจะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สภานี้เป็นสภานิติบัญญัติ ไม่มีฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน อะไรที่ไม่เข้าใจขอให้พูดจาถามกันไม่มีเขาไม่มีเรา

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วนที่ 1 คือการกำหนดวันและเวลาประชุม สนช. โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.เสนอ 2 วัน โดยให้เหตุผลว่า สนช.ทำหน้าที่ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จึงควรประชุม 2 วัน คือ 1 วันพิจารณากฎหมาย และอีก 1 วันตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครขัดข้องจึงได้ข้อยุติว่า สนช.จะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 วัน ในวันพุธ และพฤหัสบดีในเวลา 13.30 น.

"มีชัย" ปัดบล็อกโหวตกมธ.


ต่อมาได้พิจารณาเรื่องด่วนที่ 2 เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.โดยนายวัลลภเสนอให้ตั้งเป็นกรรมาธิการสามัญจำนวน 15 คน ที่ประชุมเห็นด้วย และตั้ง กมธ.ยกร่างข้อบังคับฯประกอบด้วย 1.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 2.นายพชร ยุติธรรมดำรง 3.นายไพศาล พืชมงคล 4.นายประพันธ์ คูณมี 5.นายแวมาฮาดี แวดาโอะ 6.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ 7.นายวรเดช อมรวรพิพัฒน์ 8. พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ 9.นายวิษณุ เครืองาม 10.คุณพรทิพย์ จาละ 11.นายอรรคพล สรสุชาติ 12.พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน 13.พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ 14.นายโสภณ สุภาพงษ์ และ 15.นางเตือนใจ ดีเทศน์ เรื่องด่วนที่ 3 คือการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อสรรหาสมาชิก สนช.ให้ดำรงตำแหน่ง กมธ.สามัญประจำสภา โดยสมาชิกส่วนใหญ่อยากให้ได้ข้อยุติในเรื่องจำนวน กมธ.ก่อน

นายมีชัยกล่าวระหว่างการพิจารณาเรื่องการตั้ง กมธ.เพื่อสรรหาสมาชิก สนช.ประจำ กมธ.ว่า มีสมาชิกสนช.ไปให้สัมภาษณ์เรื่องการบล็อกโหวตจำนวน กมธ.และประธาน กมธ.เป็นความเข้าใจผิด เพราะตามข้อบังคับนั้นต้องเป็นไปตามมติที่ประชุม ไม่ใช่จะมีใครมาบล็อกใครได้ คงมี สนช.ที่ร้อนใจออกมาพูดซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ทำให้สภาเสียหาย หากมีอะไรก็มาพูดกันในห้องประชุม อย่างไรก็ตามอยากให้สมาชิกได้อุ่นใจว่าการตั้ง กมธ.ต้องถามความสมัครใจของสมาชิกว่าต้องการอยู่ชุดใด ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ใคร จะลอยจากฟ้าลงมาเป็นได้เลย กมธ.ชุดไหนที่สมาชิกต้องการเป็นจำนวนมากก็ต้องมีวิธีการจัดสรร ไม่ใช่ใครจะเป็นคนของใคร และได้สั่งปิดประชุมในเวลา 11.00 น.

ยึด รธน.ปี 40 เป็นแม่แบบ


ภายหลังการประชุมนายมีชัยกล่าวถึงกระแสข่าวบล็อกโหวตประธาน กมธ.เพื่อเป็นบำเหน็จแก่ สนช.ที่สนับสนุนว่า เป็นข่าวไม่จริงทำให้เข้าใจผิด เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบว่ามี กมธ.กี่ชุด อะไรบ้าง เมื่อถามถึงแนวทางการทำงานของ สนช.นายมีชัยกล่าวว่า สนช.เป็นหน่วยงานทางนิติบัญญัติไม่ใช่ฝ่ายบริหาร จุดเน้นอยู่ที่การออกกฎหมายและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ตอนนี้ต้องรอให้รัฐบาลแถลงนโยบายก่อน

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 มาเป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายมีชัยกล่าวว่า ตนเคยเสนอว่าไม่ให้รื้อใหม่ทั้งหมด ส่วนไหนไม่เหมาะก็แก้ตรงนั้น เราใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นหลักอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติให้บอกทุกระยะว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่างจากปี 40 อย่างไร จุดนี้เป็นคำตอบได้ดีแล้วว่าจะต้องยึดของปี 40 เป็นหลัก

พร้อมแสดงทรัพย์สิน ป.ป.ช.


นายมีชัยยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สมาชิกสนช.ยื่นแสดง บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า เมื่อป.ป.ช.กำหนดมาเราก็ยินดีไม่มีปัญหา ทางสำนักงานเลขาธิการ สนช.ได้จัดทำแบบฟอร์มให้แก่สมาชิกกรอกยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้ว ส่วนการแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ประสานมาว่า รัฐบาลพร้อมที่จะแถลงนโยบายในวันที่ 3 พ.ย.

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ในฐานะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า กมธ.จะประชุม นัดแรกวันที่ 30 ต.ค. เวลา 10.00 น. โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สนช. และกรรมาธิการสามัญยกร่างรับว่าจะทำกรอบการยกร่างมาให้ ทั้งนี้เรื่องสำคัญ เช่น กรรมาธิการควรมีกี่คณะ แต่ละคณะควรมีกี่คน และระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานควรเป็นกี่ปี อย่างไรก็ตามคาดว่าจะยกร่างฯ เสร็จภายในวันที่ 10 พ.ย. และนำเข้าที่ประชุมเพื่ออภิปรายและไม่เกินกลางเดือน พ.ย. ก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการเสร็จ และจะได้ตัวประธานแต่ละคณะภายในวันที่ 20 พ.ย. ถือว่าไม่ล่าช้าและ กมธ.มีเวลาทำงานถึง 9 เดือน

รมต.เรียงหน้าพบ "แอ้ด"


สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุรยุทธ์เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายชาญชัย ลิขิต จิตถะ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ได้เดินทางเข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้าและเดินทางกลับออกไปโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ จากนั้นนายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย นายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรฯ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม ได้เข้าพบและกลับออกไปโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์เช่นกัน

นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.เข้าพบนายกฯว่า เพื่อหารือถึงเรื่องที่พล.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอกลับไปทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งนายกฯได้มอบหมายให้ ผบ.ตร.ไปพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนายกฯจะเชิญมาหารือถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว มีข่าวว่า คมช. กำลังจับตาดู พล.ต.อ.โกวิทในการทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายตำรวจระดับสารวัตรด้วย เพราะเรื่องดังกล่าว คมช.ไม่ทราบเรื่องเลย

แจกนโยบายรัฐเน้น 5 ด้าน


ผู้สื่อข่าวรายรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลได้ส่งร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อจัดทำเป็นรูปเล่มแจกจ่ายไปยัง สนช.ทุกคน โดยร่างคำแถลงนโยบายดังกล่าวมีความยาวทั้งสิ้น 26 หน้า ประกอบด้วยนโยบายหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบายการปฏิรูปการเมือง การบริหาร อาทิ จะสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ เสริมสร้างมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบภาคการเมืองและภาคราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

2.นโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือการใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากแก้ว เศรษฐกิจระบบตลาด และเศรษฐกิจส่วนร่วม ให้มีส่วนร่วมในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบความยั่งยืน และความพอดี โดยจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจเพื่อการวางฐานรากการเจริญเติบโตของผลิต ภัณฑ์ประชาชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการจัดทำแผนแม่บทการสร้างเสริมประสิทธิภาพแห่งชาติ โดยเป็นแผนร่วมเอกชนสำหรับภาคเศรษฐกิจที่สำคัญให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน

สมานฉันท์รัฐมั่นคง


3.นโยบายสร้างสังคมสมานฉันท์ เช่น ส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ของคนในชาติให้เกิดความร่วมมือกันในการกอบกู้และฟื้นฟูประเทศชาติในทุกด้านโดยการสรุปบทเรียนจากปัญหาความแตกแยก ร้าวฉาน และความล้มเหลวในอดีตเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว รวมทั้งจะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในระบบการสืบสวนสอบสวน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

4.นโยบายด้านต่างประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ เสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศ โดยดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับนานาประเทศ และสานต่อเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยจะดำเนินบทบาทเชิงรุกในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อสนับสนุนความปรองดองและความมั่นคงในชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ยังจะมีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งจัดตั้งประชาคมอาเซียน

5.นโยบายการรักษาความมั่นคงของรัฐ จะมีการส่งเสริมการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ เพื่อการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องในเวลาปกติ และ นำไปสู่การระดมสรรพกำลัง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกองทัพให้เพียงพอและทันเวลาในเวลาไม่ปกติ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์