โธ่...ทักษิณ! บัญชีโชว์ตัวเลขแต่เบิกไม่ได้ เทมาเส็กจ้องล้มดีล
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 9 มีนาคม 2549 11:42 น.
ทักษิณ เจอเงื่อนตาย ต้องยื้อเก้าอี้นายกฯสุดชีวิต
เอกสารยันชัดเทมาเส็กมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากเหตุการณ์อึมครึมทำทรัพย์สินเสียหาย
ชินวัตร-ดามาพงศ์ ยังจ๋อยบัญชีมีแต่ตัวเลข ถอนมาใช้ไม่ได้
ความเคลื่อนไหวของนักวิชาการ เด็กนักเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ราชสกุล-บุคคลสำคัญ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ แสดงเจตจำนงตรงกันว่าให้ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่สถานการณ์ของนายกฯ ที่แม้จะเดินเข้าสู่หนทางที่เริ่มตีบตันขึ้นทุกขณะก็ยังแสดงท่าทีไม่ยี่หระต่อกระแสเรียกร้องที่แม้จะดังขึ้น-ดังขึ้น (อ่านล้อมกรอบ ดัชนีคนรักทักษิณดิ่งลงดิน)
เพราะอะไรนายกฯหน้าเหลี่ยมคนนี้จึงไม่สะท้านกับความรู้สึกเกลียดชัง และเบื่อหน่ายของคนทั่วประเทศที่ประดังเข้าสู่ตัวที่เกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา หรือเป็นเพราะยังหลงตนเองคิดว่ามีจริยธรรมมากพอจะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง หรือยังมีเงื่อนไขทางธุรกิจบางประการที่ยังสะสางไม่แล้วเสร็จ !?!
มีเหตุผลที่พอเชื่อได้ว่า เหตุผลสำคัญที่ทักษิณ มีทีท่าดื้อดึงไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้ ทั้งที่เสียงประสาน ท้ากกกกษิณ ออกไปๆๆๆ ดังลั่นไปทั่วท้องสนามหลวง และจังหวัดต่างๆ เป็นเพราะเม็ดเงินจำนวน 73,000 ล้านบาท ที่ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ขายหุ้นจำนวน 1,487.74 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 49.60% ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็ก แห่งสิงคโปร์ ยังไม่เรียบร้อย กล่าวโดยสรุปคือ จนถึงวันนี้ทั้งพานทองแท้ พิณทองทา และบางคนในตระกูลดามาพงศ์ยังไม่ได้รับเงินก้อนนี้ ทุกวันนี้มีเพียงตัวเลขโชว์ขึ้นมาในบัญชีเฉยๆแต่ยังไม่สามารถถอนเงินจำนวนนี้ออกมาใช้ได้
สิ่งที่ยืนยันข้อมูลข้างต้นไม่ใช่เพียงถ้อยความที่ สนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำปราศรัย ที่ได้กล่าวต่อหน้าประชาชนผู้ร่วมชุมนุมเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา มีใจความสำคัญว่า เหตุผลหลักที่ทักษิณไม่ยอมลาออกเป็นเพราะยังไม่ได้เงินจากเทมาเส็ก เท่านั้น
แต่ยังมีหลักฐานเอกสารที่สามารถยืนยันถ้อยความดังกล่าวได้ก็คือ คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ข้อเสนอและระยะเวลาการรับซื้อนี้เป็นข้อเสนอสุดท้ายที่จะไม่แก้ไขเพิ่มเติมอีก) โดยเฉพาะส่วนที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ สาระสำคัญของคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่ข้อ 9 เรื่องเงื่อนไขในการยกเลิกคำเสนอซื้อ ระบุว่า ผู้ทำคำเสนอซื้อ (บ.ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด รวมเรียกว่าผู้ทำคำเสนอซื้อ) อาจยกเลิกคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการได้ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
9.1 มีเหตุการณ์และ/หรือการกระทำใดๆ เกิดขึ้นภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับคำเสนอซื้อและยังไม่พ้นระยะเวลารับซื้อ อันเป็นเหตุหรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อฐานะหรือทรัพย์สินของกิจการ โดยเหตุการณ์ และ/หรือการกระทำดังกล่าวมิได้เกิดจากการกระทำของผู้ทำคำเสนอซื้อ หรือการกระทำที่ผู้ทำคำเสนอซื้อต้องรับผิดชอบ หรือ
9.2 กิจการที่ถูกเสนอซื้อกระทำการใดๆ ภายหลังจากสำนักงาน ก.ล.ต. รับคำเสนอซื้อและยังไม่พ้นระยะเวลารับซื้อ อันเป็นเหตุให้มูลค่าของหุ้นสามัญของกิจการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่า เวลานี้เกิดความเสียหายขึ้นกับสถานะการเงิน และหุ้นของชินคอร์ปไม่ใช่น้อย
หากพิจารณาสถานะการเงิน และสินทรัพย์ของชินคอร์ปหลังจากเกิดปัญหา อาจเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะไม่ค่อยดีนัก นับเฉพาะวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หุ้นกลุ่มชินคอร์ป ประกอบด้วย บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ร่วงยกแผง โดยพบว่า 4 บริษัทในกลุ่มมีกำไรสุทธิรวม 21,088.98 ล้านบาท ลดลง 557.44 ล้านบาท หรือ 2.58%
ยังไม่นับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหวในวันที่ 8 มีนาคม 2549 รณรงค์ให้คนไทยงดใช้สินค้าและบริการในกลุ่มชินคอร์ป ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ แคปปิตอล โอเค เอสซีแอสเสท แอร์เอเชีย และยังลุกลามไปถึงสินค้าและบริการของสิงคโปร์อีกด้วย เช่น ธนาคารยูโอบี ดีบีเอส ไทยทนุ ไทเกอร์เบียร์ สิงคโปร์แอร์โลน์ เป็นต้น
ทั้งปลายทั้งปวงเหล่านี้ มิพักต้องสงสัยเลยว่าจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้สถานะทางการเงิน และราคาหุ้นของชินคอร์ปยิ่งร่วงลงไปอีกเท่าไร ผลที่ตามมาคือเทมาเส็กมีเหตุผลพอที่จะบอกเลิกสัญญาที่ทำมาแล้วก่อนหน้านี้ ทักษิณจึงยอมให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม อาจเพื่อกลบกระแสเรื่องเงินที่ครอบครัวนายกฯยังไม่ได้รับว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทักษิณเลือกการยุบสภาแทนการลาออก ทำให้วันรุ่งขึ้นหลังจาก สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาให้ข้อมูลด้งกล่าว ทางธนาคารไทยพาณิชย์รีบออกมาแก้ข่าวเลยว่า ทางบริษัทกุหลาบแก้วได้เบิกเงินกู้ไปหมดแล้ว และระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์จ่ายเงินสำหรับซื้อหุ้นชินคอร์ป 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 30,000 ล้านบาท ใช้วิธีขอกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารได้ปล่อยกู้ร่วม หรือซิดิเคท โลน กับธนาคารกรุงเทพในสัดส่วนเท่ากันคือ แห่งละ 15,000 ล้านบาท รวม 30,000 ล้านบาท และล่าสุดกลุ่มเทมาเส็กได้บิกเงินไปแล้วตามจำนวนที่ขอกู้ ธนาคารจึงไม่มีการยกเลิกเงื่อนไขเงินกู้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพที่ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ออกมาเปิดเผยกรณีที่เทมาเส็กกู้เงินจากธนาคารฯไปจำนวน 15,000 ล้านบาทนั้น เทมาเส็กได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวไปหมดแล้ว
ทว่า วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันสหสวรรษ ออกมาแสดงความคิดเห็นกับ ผู้จัดการรายสัปดาห์ ว่า ได้รับการยืนยันว่าเงินที่ซีดาร์ หรือแอสเปน ได้จ่ายให้กับตระกูลชินวัตร หรือดามาพงศ์ วันนี้อยู่ในบัญชีที่ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายเงินได้ ก็เข้าใจว่าบัญชีนี้น่าจะถืออยู่ในรูปบัญชีที่เรียกว่า Escrow Account เป็นบัญชีพักเงิน เพื่อให้เงื่อนไขของการซื้อขายบรรลุก่อนจึงจะมีการเคลื่อนย้ายเงินได้ ทำให้เข้าใจว่าอาจจะมีเงื่อนไขในการดูแลหุ้นตัวนี้ระยะเวลาหนึ่ง เท่าที่ได้ทราบมาลือกันหนาหูในวงการธุรกิจก็คือ มีระยะเวลา 90 วัน
เหตุที่ในสัญญาต้องระบุสาระสำคัญไว้เช่นนั้น และเชื่อว่าในสัญญาฉบับจริงซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ก.ล.ต. จะต้องมีความเข้มข้นมากกว่านี้แน่นอน เนื่องจากเทมาเส็กก็รู้อยู่เต็มอกว่าการซื้อหุ้นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานรัฐย่อมต้องมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เพียงแต่ในช่วงก่อนเข้ามาซื้อนั้นไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงจะขยายวงกว้างและใหญ่โตเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้ข่าวหลังจากเดินทางไปสิงคโปร์ ซึ่งได้พบกับผู้นำภาคธุรกิจ และผู้นำภาคการเมืองด้วยว่า ทางสิงคโปร์มีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ เนื่องจากเกรงว่าจะลุกลามไปสู่การต่อต้านสิงคโปร์ และนักลงทุนต่างชาติ
แม้จะมีความหวั่นไหวอยู่ในอก แต่เทมาเส็กก็ยังกล้าเข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ปก็เพราะมีความเชื่อมั่นในตัวทักษิณว่าจะสามารถ จัดการ เรื่องราวทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากทักษิณได้แสดงอภินิหารแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม จากเดิมที่ได้ออกประกาศบังคับใช้พรบ.กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งตามมาตรา 8 วรรคสาม (1) กำหนดไว้ชัดเจนว่า กิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ห้ามมิให้คนต่างด้าวถือหุ้นมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และกรรมการของนิติบุคคลที่ประกอบกิจการประเภทนี้ต้องมีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
มาเป็นการลงกำหนดให้คนต่างด้าวสามารถเข้ามาถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด พร้อมประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่แก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น คือ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549 แต่ตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ คนในครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์จึงได้โอนขายหุ้นจำนวนร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดให้แก่เทมาเส็กในวันจันทร์ที่23 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที
ด้วยอภินิหารดังกล่าวจึงทำให้เทมาเส็กเกิดความเชื่อมั่นว่าทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นใต้ฟ้าเมืองไทยจะถูกนายกฯหน้าเหลี่ยมเนรมิตให้เกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ทักษิณยังมีอำนาจอยู่
แต่การณ์กลับไม่ใช่เช่นนั้นเพราะประชาชนไม่ยอมรับดีลที่ขายสมบัติชาติ แถมนายกฯกับพวกพ้องไม่ต้องเสียภาษีสักบาท ขยายตัวไปในวงกว้างมากขั้น-มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทักษิณจึงต้องพยายามอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ท่ามกลางกระแสการกดดันจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทักษิณจึงเลือกยุบสภาแทนที่จะลาออก เพราะอย่างน้อยในช่วงเวลาที่อยู่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีนั้น เขายังมีอำนาจในการควบคุมดูแลกิจการโทรคมคม ตามมาตรา 5 ในพรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ที่ให้นายกฯรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้อีกด้วย
การกระทำทุกอย่างของทักษิณ ณ เวลานี้จึงเป็นความพยายามเพื่อซื้อเวลาการอยู่ในตำแหน่งให้ยาวนานออกไปอีกสักระยะ อย่างน้อยก็ให้เกิน 90 วัน หรือช่วงเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเพื่อให้ดีลนี้จบสิ้นอย่างสมบูรณ์ ถ้าให้ดีกว่านี้ต้องให้คืนสู่อำนาจเพื่อจะได้แผ้วทางให้เทมาเส็กเข้ามาโดยสะดวก และทิ้งช่วงเวลาให้คนไทยลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้หอบเงินทั้งหลายเหล่านี้ไปเสวยสุขในต่างประเทศหนีการตามเช็คบิลตามยึดทรัพย์สินที่กอบโกยไปจากประเทศชาติคืนมา
*******************
ดัชนีชี้วัดคนรักทักษิณดิ่งลงดิน
แนวโน้มคนรักทักษิณหนีหายกลายเป็นเกลียด เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ
หากจะมองกันง่าย ๆ เครื่องมือสร้างภาพชิ้นล่าสุดที่นายกรัฐมนตรีงัดมาใช้เพื่อสร้างภาพความมั่นคงในฐานคะแนนเสียงของตนเองที่อวดอ้างมาตลอดว่า มีประชาชนชาวไทย 19 ล้านคน เลือกเขาเข้ามาทำงาน และยังคอยค้ำบัลลังก์ให้เขาอยู่นั้น
การส่งไปรษณียบัตรให้กำลังใจ ตู้ ปณ.888 ทำเนียบรัฐบาล นั้น แม้จะมีการประเมินจำนวนไปรษณียบัตรที่ส่งมากองอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ราว 4 ล้านใบ สร้างความปลาบปลื้มใจเมื่ออยู่หน้ากล้องให้กับนายกรัฐมนตรี แต่ลึก ๆ แล้ว 4 ล้านใบนั้น มาจากความตั้งใจจริงในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนี้กี่ใบ คนในพรรคไทยรักไทยน่าจะรู้ดี และที่สำคัญ ตัวเลข 4 ล้านใบ กับจำนวน 19 ล้านเสียง ช่างห่างไกลกันนัก แต่ผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย ได้รับจากเครื่องมือสร้างภาพชิ้นนี้คือ จะได้สำเหนียกในความเป็นจริงว่า ประชาชนที่เคยมอบความไว้วางใจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้น ในวันนี้เริ่มเปลี่ยนขั้วมาอยู่ฝั่งไม่ไว้วางใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
สอดคล้องกับผลการสำรวจเรื่อง สำรวจแนวโน้มของความคิดเห็นสาธารณชนต่อการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลากออก และแนวคิดขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี : กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ซึ่งได้ดำเนินการกับกลุ่มตัวอย่าง 2,175 ตัวอย่าง ในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่า 1 ใน 3 คือ ร้อยละ 48.2 ระบุว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก ตัวอย่างร้อยละ 35.5 ระบุว่าไม่ควรลาออก และร้อยละ 16.3 ไม่ระบุความเห็น ทั้งนี้ จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร้อยละ 48.2 นั้น เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในสัปดาห์ก่อนหน้าของเดือนเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพียงร้อยละ 39.1 สอดคล้องกับกรณีแนวคิดการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าเช่นกัน โดยครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.1 เห็นด้วย ร้อยละ 20.2 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 33.7 ไม่มีความคิดเห็น
สื่อทีวีอึดอัด เจาะจอไล่นายกฯ
จุดเริ่มต้นของการชุมนุมกู้ชาติ ขับไล่นายกรัฐมนตรี ที่ล่วงเลยข้ามปีมาจนถึงวันนี้ ย้อนกลับไปถึงวันเริ่มต้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกิดจากการปิดกั้นของสื่อโทรทัศน์ ที่สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกบอร์ดบริหาร อ.ส.ม.ท. ปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ออกจากโมเดิร์นไนน์ โทษฐานการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนในรัฐบาล นับจากนั้นเป็นต้นมา สื่อโทรทัศน์ และวิทยุทุกสถานี กลายเป็นกระบอกเสียงให้หน่วยงานภาครัฐ เป็นการพยายามปิดช่องทางการสื่อสารของเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จนต้องหันไปใช้ทีวีดาวเทียม ASTV วิทยุชุมชน 97.75 รวมถึงเว็บไซต์ manager.co.th ซึ่งก็มีปัญหาถูกคุกคาม มีความพยายามจะสั่งปิดช่องทางทั้ง 3 นี้อยู่เสมอ
แต่เมื่อสถานการณ์พัฒนาขึ้น จากเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร กลายเป็นการชุมนุมกู้ชาติ จำนวนผู้ร่วมชุมนุมขยายวงมากขึ้นเป็นระดับประเทศ สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อลำดับแรก ๆ ที่เริ่มนำเสนอข่าวการชุมนุม รวมถึงมีบทวิเคราะห์ วิจารณ์ ซึ่งเริ่มจากเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงแรก ๆ กลายเป็นการวิจารณ์บทบาทของนายกรัฐมนตรี ไปในทิศทางเดียวกัน จนถูกมองจากนายกรัฐมนตรีว่าเป็นผู้สร้างกระแสไล่ทักษิณ โดยกล่าวว่า สื่อหนังสือพิมพ์ไม่แฟร์กับตน ไม่มีพื้นที่ที่จะอธิบาย ทุกวันมีแต่การเสนอข่าวขับไล่ สื่อบิดข้อเท็จจริง เล่นตามกระแส บิดเบือนข้อมูล
แต่ปรากฏการณ์ของสื่อที่น่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับสังคมประชาธิปไตยในสไตล์ทักษิณ ที่พยายามปิดหูปิดตาประชาชน เกิดขึ้นเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม เมื่อสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 สี ได้ทำการถ่ายทอดสดภาพการชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากบริเวณท้องสนามหลวง โดยใช้พื้นที่เจาะมุมล่างซ้ายของจอ ควบคู่ไปกับการฉายละครตามปกติของสถานี สร้างปรากฏการณ์ทั้งในมุมของช่อง 7 ที่เคยถูกวิจารณ์ว่าไม่เคยให้ความสำคัญกับข่าวสารบ้านเมือง เกินกว่าละคร และเป็นปรากฎการณ์ของสถานีโทรทัศน์ของรัฐที่พยายามเกาะติดข่าวการชุมนุมขับไล่ผู้นำรัฐบาล
ชาลอต โทณวณิก ประธานกรรมการ บริษัท บีบีทีวี โปรดักชั่นส์ จำกัด ในเครือช่อง 7 กล่าวว่า การดำเนินการถ่ายทอดนี้เป็นงานของฝ่ายรายการ ที่มีนางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นผู้ดูแล ซึ่งคงเป็นเพราะต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสาร โดยช่อง 7 ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ของคนไทย โดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัดรับชมกันมาก โดยส่วนตัวตนถือเป็นเรื่องที่ดี และสมควรทำเป็นอย่างยิ่งที่สถานีต้องทำหน้าที่เสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของสถานการณ์บ้านเมืองให้ประชาชนได้รับทราบ
เช่นเดียวกับ ททบ. 5 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. มีการมอบนโยบายในการนำเสนอข่าวการเมืองอย่างเป็นกลาง ให้ข้อมูลของทุกฝ่ายรอบด้าน และเน้นนำเสนอเฉพาะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่แสดงอารมณ์และความรู้สึก ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวทางช่อง 5 มีแนวโน้มว่าจะเปิดกว้างในการนำเสนอข่าวสารของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าสื่อของกองทัพต้องทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้ให้มากที่สุด การปิดกั้นจะยิ่งส่งผลเสีย สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อในวันนี้ สร้างความอึดอัดใจให้กับคนในรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ยุทธ ตู้เย็น ยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่แม้ยืนกรานว่ารัฐบาลไม่มีการแทรกแซงสื่อ แต่เมื่อสื่อเริ่มนำเสนอข่าวฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น กลับแสดงอาการฟิวล์ขาด กล่าวหาว่าในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา คอลัมนิสต์จากสื่อสิ่งพิมพ์ 70-80% เขียนบทบาทอันเป็นปรกปักษ์กับรัฐบาล รวมถึงปรากฎการณ์ของช่อง 7 ที่กลับกลายเป็นการมองว่าต่อต้านรัฐบาล รวมถึงรายการทางโมเดิร์นไนน์ ที่มีการนำเด็ก 10 ขวบมาออกรายการ โดยมีผู้ดำเนินรายการถามคำถามว่า ทำไมถึงไม่ชอบนายกรัฐมนตรี
คนเคยรัก กลับมาไล่
หนึ่งในคำกล่าวอ้างถึงความนิยมในตัวผู้นำประเทศ ที่ ทักษิณ ชินวัตร พยายามพูดอยู่เสมอ คือจำนวน 19 ล้านเสียงที่เลือกพรรคไทยรักไทย เมื่อการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา มันกลับกลายเป็นประเด็นสื่อสารชั้นดีที่ฝ่ายขับไล่ภูมิใจที่จะกล่าวถึงว่า ตนเองคือ 1 ใน 19 ล้านนั้น และเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับพฤติกรรมทุจริตในตัวทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นอย่างดี
ศรัณยู วงศ์กระจ่าง นักแสดงหนุ่มใหญ่ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ก็เป็นอีกหนึ่งคนเคยรักทักษิณ ที่เข้ามาร่วมการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีอยู่สม่ำเสมอ ศรัณยู กล่าวว่า ตนมาร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนของประเทศ เป็นหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีความอิจฉา ไม่ได้มาเพราะผลประโยชน์อะไร มาเพราะต้องการแสดงสิทธิของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
ทั้งนี้ศรัณยู ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเรียบร้อยแล้ว โดยให้เหตุผลว่า แม้จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค แต่เมื่อได้แสดงตัวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากพรรคไทยรักไทย ก็ไม่สมควรคงความเป็นสมาชิกพรรคอีกต่อไป
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ประกาศตัวออกมาเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรี กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า รู้จัก ทักษิณ และสนิทสนมกันดี แทบจะเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ได้เป็นศัตรูกันทางส่วนตัวเลย แต่เมื่อมาถึงนาทีนี้ เป็นนาทีที่ตีบตันเหลือเพียงแค่ 2 ขั้วเท่านั้น แม้ไม่อยากให้เกิดภาวะนี้เลย แต่แนวทาง 2 ขั้วที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในหลักการ เราจะเห็นด้วยกับทักษิณ หรือไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้เกิดเพียง 2 ขั้วเท่านั้น หน้าที่ของคนทำงานวรรณกรรม ศิลปะ ต้องเลือก ถ้าเราไม่เลือก งานของเราจะไม่มีความหมาย เราทำงานเพื่ออะไร ไม่ใช่รับใช้ตัวเอง เราต้องรับใช้สะท้อนถ่าย ดูแลความรู้สึกของผู้คนในสังคม ตรงนี้คือนาทีที่เราต้องตัดสินใจเลือก
มีคนถามว่า ศิลปิน นักเขียน กวี นักดนตรี ไปอยู่ที่ไหน ในขณะที่สถานการณ์เป็นแบบนี้ พวกเราทนไม่ได้ เพราะว่าการทำงานของพวกเราทำงานท่ามกลางบนความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เรามีหน้าที่สะท้อนถ่ายความรู้สึกนึกคิดออกมา ความรู้สึกนึกคิดไม่ได้ตกมาจากฟ้า ความรู้สึกนึกคิดของพวกเรามาจากสังคม มาจากผู้คน ผู้คนรู้สึกอย่างไร สังคมรู้สึกอย่างไร พวกเรารู้สึกร่วมด้วย