หลังการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ยึดแยกราชประสงค์มายาวนานกว่า 2 เดือน
ด้านหนึ่ง ดูเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ชนะศึก เพราะสามารถปิดล้อม บีบแกนนำสำคัญ นปช.มอบตัว พร้อมรวบตัว"อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง"แกนนำสายฮาร์ดคอร์ ได้สำเร็จ
เป็นการชนะศึกครั้งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความมั่นใจมากขึ้น
ปฎิบัติการของทหาร ตั้งแต่ ตี 5 จนสลายการชุมนุม ได้เรียบร้อยในเวลา บ่ายโมง น่าจะเป็นเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันที หลังชัยชนะของรัฐบาลก็คือ จลาจลที่เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพ และลามไปสู่ต่างจังหวัด
เมื่อมวลชนคนเสื้อแดงที่โกรธแค้นระเบิดอารมณ์ออกมาเป็นความรุนแรง ราวกับคลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นหลังอาฟเตอร์ช็อก
เพียงครึ่งวันมีการวางเพลิง ทั่วกรุงเทพ 27 จุด เช่น 1. สยามพารากอน 2.สยามสแควร์ 3..ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด 4. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5. อาคารแห่งหนึ่งย่านบ่อนไก่ 6. ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย สาขาอโศก 7. สำนักงาน ป.ป.ส.และร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น 8.ธนาคารกรุงเทพและสาขาธนาคารออมสิน สาขาดินแดง 9. อาคารมาลีนนท์และสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 10.ธนาคารกรุงเทพ และห้างโลตัส พระรามสี่ 11. การไฟฟ้านครหลวง สาขาคลองเตย 12.ธนาคารกรุงเทพ สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 13.ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานเหลือง 14.ห้างเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 15. ธนาคารกสิกรไทย พระราม 4 เป็นต้น
ไม่เพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง แต่ไฟแห่งความแค้นได้ปะทุไปในหลายจังหวัด มีการเผาศาลากลางจังหวัดใน 3 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น เหตุรุนแรงในขอนแก่น
รุนแรงขนาด บุกจะเผาบ้านนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พรรคภูมิใจไทย และมีการบุกเข้าไปจะวางเพลิงสถานีเอ็นบีที
"กรณ์ จาติกวณิช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินความเสียหายขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาท แต่นี่เป็นเพียงความเสียหาย"วันแรก"เท่านั้น
มิคสัญญีที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง เกิดขึ้นเพราะกำลังทหาร และตำรวจ ไม่เพียงพอที่จะเข้าป้องกันเหตุร้าย
"ข่าวร้าย"ปลิวว่อนไปทั่วโลก บรรยากาศในกรุงเทพ เสมือนฉาก " เสียกรุง" ควันไฟทมึนดำไปทั่วท้องฟ้า
รบเพียงวันเดียวมีคนตายเพิ่ม 7 ศพ รวมกับ 7 วันที่แล้วก็เท่ากับ 43 ศพ ไม่นับบาดเจ็บอีก เกือบ 300 คน และตัวเลขความสูญเสียกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ
สื่อต่างชาติ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในวันล้อมปราบว่า วันที่น่ากลัวที่สุด ยังมาไม่ถึง !!!!
แล้วที่สุด เมื่อรัฐบาลควบคุมสถานการณ์เอาไว้ไม่อยู่ จึงได้มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านในกรุงเทพ ตั้งแต่ 20.00-06.00 น.วันที่ 20 พฤษภาคม ผู้คนแตกตื่นโกลาหลกลับบ้าน
ตกค่ำ มีการประกาศเคอร์ฟิว เพิ่มอีก 23 จังหวัด ในภาคกลาง เหนือ และอีสาน สถานการณ์เหมือน"ไฟลามทุ่ง"
ในช่วงนี้เองที่กระแสข่าวรัฐประหารสะพัดไปทั้งเมือง พร้อมกับความเคลื่อนไหวจาก กรมทหารราบ 11 ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ว่า จะมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกองกำลังจากป่าหวาย ลพบุรี
เอาเข้าจริงแล้ว มีคนมองว่า แกนนำ นปช. ไม่ควรลากสังคมไทยไปสู่ความหายนะ เพราะรู้ทั้งรู้ว่า ศึกครั้งนี้ ไม่มีทางชนะ
แต่แกนนำ นปช. ก็ยังเลือกเดินหมากที่นำไปสู่ความตายและความคั่งแค้นของผู้คน
สำคัญที่สุดในศึกครั้งนี้ก็คือ ฟากรัฐบาลเองที่เชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังสงครามกลางเมือง จึงเป็นที่มาของการลุยปิดล้อม โดยมีการยืนยันจากบิ๊กในกองทัพว่า "เอาอยู่"
เช่นเดียวกับ คำมั่นจาก นายเนวิน ชิดชอบ และนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ให้ความมั่นใจว่า อย่าห่วงคนเสื้อแดงในต่างจังหวัด เพราะได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เรดโซนไว้อย่างมั่นเหมาะ
เมื่อมั่นใจเต็มร้อย ! นายอภิสิทธิ์ก็เดินหน้าสั่งลุยในทันที แต่โอกาสบางทีก็กลายเป็นวิกฤต ได้เช่นกัน
มีคนมองว่า นับจากนาทีสั่งปิดล้อม"อภิสิทธิ์" ได้ทิ้งโอกาสที่ดีที่สุด ในช่วงวิกฤตให้หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย
เพราะหากรัฐบาลและกำลังทหาร ควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ คือ
หนึ่ง เมื่อสถานการณ์บานปลาย เกินควบคุม อาจเกิดการรัฐประหาร
สอง พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ซึ่งทั้งสองสถานการณ์ย่อมนำสู่คำตอบเดียวคือ รัฐบาลอยู่ไม่ได้
นี่คือ ชะตากรรมของ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่ตกอยูในสถานการณ์" ชนะศึก แต่แพ้สงคราม"?
เส้นทางเดินของผู้นำหนุ่ม นับจากนี้ไปมีทางเลือกไม่มากนัก เขาอาจต้องยุติบทบาททางการเมือง และอาจต้องหอบลูกเมียไปอยู่ต่างประเทศ
เพราะความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของคนเสื้อแดง คือ ความเสี่ยงของนายอภิสิทธิ์ ทุกเสี้ยวนาที
และไม่ใช่แค่"อภิสิทธิ์"เท่านั้นที่อยู่อย่างสงบได้ยาก แต่ขุนพลพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนก็ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ในทางการเมือง
จะว่าไป คำเตือนเรื่อง ชนะศึก แต่แพ้สงคราม มีผู้หวังดี เตือนเขาด้วยความปรารถนาดี แต่เพราะนายอภิสิทธิ์ ... ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง
อย่างไรก็ตามที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการผู้นำรัฐบาลคนหนึ่ง มองต่างมุมว่า สถานการณ์อาจไม่เลวร้าย หากปราบปรามได้อยู่หมัด ประชาชนพึงพอใจที่รัฐบาลนำความปกติกลับมาสู่สังคมอีกครั้ง
หากบทวิเคราะห์ที่ปรึกษาถูกต้อง ย่อมทำให้นายกฯอภิสิทธิ์เกิดความมั่นใจ ยิ่งขึ้นไปอีก
ทว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ขอให้จับตาดู ค่ำคืนวันที่ 19 พฤษภาคม และวันพรุ่งนี้ว่า จบจริง หรือไม่ ?
ถ้าไม่จบ "อภิสิทธิ์"ก็จบ ???