ไพบูลย์ เสนอตุ๊กตา 6 ขั้นแก้วิกฤต ชี้หลังเลือกตั้ง ทักษิณ ต้องไม่เป็นนายกฯ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2549 13:02 น.
โดย...ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
สันติวิธี กับวิกฤตสังคมไทย
หลายฝ่ายได้ออกมาเรียกร้อง หรือเสนอแนะให้ใช้ สันติวิธี ในการคลี่คลายภาวะ วิกฤต ของสังคมไทยในขณะนี้ รวมทั้งผมเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่ขอเรียกตัวเองว่า นักสันติวิธีมี รศ.ดร.โคทม อารียา (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล) รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในสังกัดรัฐสภา) เป็นต้น
ส่วนผมเองเป็นประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ศูนย์คุณธรรม มีพันธกิจในการส่งเสริม ขบวนการคุณธรรม ซึ่งย่อมรวมถึง ขบวนการสันติวิธี ไปด้วยโดยปริยาย เพราะ สันติวิธี ก็คือ คุณธรรม อย่างหนึ่งนั่นเอง
ประเทศไทยของเรากำลังประสบภาวะวิกฤต ทั้งทางการเมือง และทางสังคม ซึ่งถ้าคลี่คลายไม่ได้จะนำไปสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ รวมถึงอาจเกิดการปะทะรุนแรง ถึงขั้น บาดเจ็บ ล้มตาย ทรัพย์สินเสียหาย ฯลฯ กลายเป็น โศกนาฏกรรม ที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลในดวงจิตของคนไทยและสังคมไทยอย่างน่าเศร้าเสียใจอีกครั้งหนึ่ง
สันติวิธี เป็นสะพานสู่ทางออกจากวิกฤต
สันติวิธี จึงน่าจะเป็น สะพานสู่ทางออก จาก วิกฤตสังคมไทย ในปัจจุบัน
สันติวิธี มีได้ 2 แบบ คือ แบบชั้นเดียว และ แบบสองชั้น
สันติวิธีแบบชั้นเดียว คือ การเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ ความรุนแรง แต่มุ่งให้ได้ ชัยชนะ ของฝ่ายตน แบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อหิงสา (Non-violence)
ส่วน สันติวิธีแบบสองชั้น ได้แก่ การใช้วิธีการอันเป็นสันติ รวมถึงการพูดจาต่อรอง (Negotiation) เพื่อให้ได้ ข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งเป็นที่พอใจหรือยอมรับได้ร่วมกันทุกฝ่าย แบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้างสันติ (Peace Building)
ถ้าประยุกต์หลักการ และความหมายข้างต้นเข้ากับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ จะเห็นว่า มี คู่ขัดแย้ง อยู่ 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) ฝ่ายรัฐบาลรักษาการ (2) ฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้าน (3) ฝ่ายชุมนุมเรียกร้อง (ให้นายกฯทักษิณ ลาออกและเว้นวรรคทางการเมือง)
ทั้ง 3 ฝ่ายกำลังใช้ สันติวิธีแบบชั้นเดียว คือ ไม่ใช้ความรุนแรงทางร่างกาย หรือทางอาวุธ แต่มีการใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีตลอดจนกลอุบายต่างๆ ที่กล่าวหาหรือกดดัน หรือสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้เพื่อให้ฝ่ายตนได้รับ ชัยชนะ
ควรใช้ สันติวิธีแบบสองชั้น
ยังไม่มีฝ่ายใดพยายามใช้ สันติวิธีแบบสองชั้น คือ หาทางพูดจาต่อรองเพื่อให้ได้ ข้อตกลงร่วมกัน โดยอาจจะมีหรือไม่มี คนกลาง ช่วยด้วยก็ได้
คนกลาง ในกระบวนการสันติวิธีนี้ ยังมีได้ 2 แบบหลักๆ คือ (1) แบบช่วย เอื้ออำนวย (Facilitating) คือ ช่วยประสานเชื่อมต่อ (เช่น พูดกับฝ่ายนั้นทีฝ่ายนี้ที เพื่อนำเข้าสู่การพูดจาต่อรองอย่างพร้อมหน้าเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม) ช่วยจัดกระบวนการ ช่วยดำเนินการประชุม ฯลฯ
คนกลางแบบที่ (2) คือ ช่วยเป็น ร่มบารมี ให้คู่กรณีได้มาพูดจากันในบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการปรองดองกันได้ง่ายขึ้น คนกลางแบบนี้มักเป็น ผู้ใหญ่ หรือ ผู้อาวุโส หรือ ผู้มีตำแหน่งฐานะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของทุกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง
กรณีความขัดแย้งทั่วไป อาจใช้คนกลางแบบใดแบบหนึ่งก็เพียงพอ แต่ในบางกรณีที่มีความยากและซับซ้อนหรือละเอียดอ่อนมากๆ อาจอาศัยคนกลางทั้ง 2 แบบ ร่วมกันก็ได้
สมมติว่า ทั้ง 3 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ ยอมหันหน้ามาพูดจากัน และสมมติด้วยว่า สามารถตกลงหาบุคคล ซึ่งเห็นชอบหรือยอมรับร่วมกันมาช่วยทำหน้าที่ คนกลาง ให้
คำถามต่อไป คือ จะมีทางตกลงกันได้หรือ? ในเมื่อคู่ขัดแย้งมี จุดยืน ที่สวนทางกันอย่างชัดเจน
เป็นหน้าที่ของ คนกลาง ที่จะพยายามชวนให้ทุกฝ่ายละวาง จุดยืน ของตนแล้วมุ่งหา จุดประสงค์ ร่วมกัน
เช่น จุดประสงค์ร่วมกัน อาจได้แก่ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความเจริญสุขร่วมกัน หรืออาจตั้งจุดประสงค์ร่วมกันว่าเพื่อสนองต่อพระปฐมบรมราชโองการ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
ทั้งนี้ สันติวิธี จะไม่พยายามค้นหา ว่า ใครถูกใครผิด หรือใครดีใครไม่ดี แต่จะพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งสู่ข้อตกลงร่วมกันเป็นหลัก
เมื่อได้จุดประสงค์ร่วมกันแล้ว ขั้นต่อไปคือพยายามหา วิธีการ สู่การบรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน
การพูดจาต่อรองในเรื่องที่ยากและซับซ้อน เช่น วิกฤตการเมืองและสังคมไทยครั้งนี้ คงต้องใช้เวลาให้มากพอ แต่ถ้าตกลงจุดประสงค์ร่วมกันได้แล้ว การค้นหาวิธีการมักจะเป็นไปได้ในที่สุด
ชุดวิธีการ ที่จะช่วยให้ออกจากวิกฤต
ซึ่ง วิธีการ ที่ว่านั้น คงจะเป็น ชุดวิธีการ คือมีหลาย ๆ อย่างที่ตกลงกันว่าจะทำพร้อมกันไป
ผมจะลองใช้จินตนาการว่า อาจบรรลุข้อตกลงเป็น ชุดวิธีการ เช่น ทำนองนี้
1. ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549
2. ให้ กกต.และกลไกต่าง ๆ พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
3. ให้มีการหาเสียงหรือรณรงค์อย่างเปิดเผยเป็น 2 ฝ่ายหลัก คือ ฝ่ายขอให้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคอื่นที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง) และฝ่ายขอให้งดเว้นการออกเสียง (เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาหรือไม่เห็นชอบต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี)
4. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกลงและประกาศ จะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อาจจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจยังคงเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หรือเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค
5. รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 จะเป็นรัฐบาลและสภาฯชั่วคราว มีหน้าที่หลัก คือ (1) การดูแลให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามปกติ (2) การดูแลและดำเนินการเกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง 60 ปี ครองราชย์ (3) การดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่จะทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ภายในประมาณสิ้นปี 2549 โดยเป็นที่เห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่าย
6. การแก้ไขปรับปรุงส่วนอื่นๆของรัฐธรรมนูญ ให้ทำภายหลังมีการเลือกตั้งครั้งใหม่(ประมาณปลายปี 2549) แล้ว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของส่วนต่างๆของสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งมากกว่า 3 ฝ่าย ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่
7. ให้ทั้ง 3 ฝ่าย ละเว้น จากการบริภาษ ยั่วยุ เสียดสี หรือการให้ร้ายอย่างไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายอื่นๆ
8. ให้ฝ่ายชุมนุมเรียกร้อง ยุติการชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลรักษาการสนับสนุนให้สื่อทุกประเภทมีอิสระในการดำเนินงาน และฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้านประกาศจะเข้าเสนอตัวในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายหลังการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแล้ว
ที่ผมลองจินตนาการดูข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่าง หรือ ตุ๊กตา ให้เห็นว่า น่าจะมีทางบรรลุข้อตกลงได้ ถ้าได้พูดจาต่อรองกันโดยมีคนกลางช่วยเอื้ออำนวย และมีจุดประสงค์ที่ได้พิจารณาเห็นชอบร่วมกันเป็นตัวตั้ง
สู่การปฏิรูประบบคุณธรรม สังคม และการเมือง
ส่วนคำว่า ส่วนต่างๆ ของสังคม ที่ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะรวมถึง (1) ภาคชุมชนฐานราก (ประชาชน ชาวบ้าน ทั้งในชนบทและในเมือง) (2) ภาคธุรกิจ (3) ภาควิชาการ
ทั้งนี้ โดยถือว่า (4) ภาคประชาสังคม (Civil Society) (5) ภาคการเมือง ฝ่ายรัฐบาล (6) ภาคการเมืองฝ่ายค้าน นั้น รวมอยู่ในคู่ขัดแย้ง 3 ฝ่าย ซึ่งต้องร่วมในกระบวนการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
รวมแล้วจึงเป็น 6 ฝ่ายหรือ 6 ภาคส่วนของสังคม ที่ควรมีบทบาทร่วมกันในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ
นอกจากแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แล้ว ผมยังเห็นว่าทั้ง 6 ฝ่าย น่าจะร่วมกันศึกษาพิจารณา ประเด็นที่ใหญ่กว่า และสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
นั่นคือ ประเด็นว่าด้วย การปฏิรูประบบคุณธรรม สังคม และการเมืองไทย