ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจจริงแต่ต้องสุจริต ทนายเหยื่อ 10 เม.ย.เผย โปลิศจ่อเรียก "มาร์ค-สุเทพ" ให้ปากคำ
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายพีรพันธ์ พาลุสุข และพล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย
พร้อมทั้ง นายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์ ทนายความของนายเกรียงไกร คำน้อย ผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. แถลงข่าวถึงกรณีทีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เดินทางไปมอบตัวต่ออธิบดีดีเอสไอ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ข่าวที่ออกมาเหมือนกับ ว่า นายสุเทพทำทีต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่อธิบดีดีเอสไอก็เป็นกรรมการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไร ว่า ดีเอสไอจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง สุจริต ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มีการเสนอโรดแม็พปรองดองแต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยคำขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ตั้งข้อกล่าวหาแกนนำเป็นผู้ก่อการร้าย นายอภิสิทธิ์ต้องไม่ได้ทำตัวเป็นนายกแต่ทำตัวเหมือนเป็นคู่กรณีกับกลุ่ม นปช.ขอเรียกร้องให้นายกฯมีจิตเมตตา ปฏิบัติด้วยความสุจริต เป็นกลาง และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเรื่องใดเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ แม้ว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจะมอบอำนาจให้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้ไปฆ่าคนได้ การดำเนินการใดๆต้องสมควรแก่เหตุทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ด้าน พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวว่า กรณีของนายเกรียงไกร ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.
ทางบิดาของผู้ตายได้มีการเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ จ.ร้อยเอ็ด และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต และสถานีตำรวจนครบาลสามเสนว่า นายกฯและนายสุเทพ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ทหาร สลายการชุมนุม ซึ่งได้มีการสอบสวนและสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วต่อมาได้มีการโอนคดีดังกล่าวไปให้ดีเอสไอ แต่นายสุเทพในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ได้ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเดินทางไปพบอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับนายสุเทพ จึงไม่ได้เป็นไปตามหลักการ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯและนายสุเทพ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาเหมือนกับประชาชนทั่วไป หากทำเช่นนี้หากแกนนำนปช.เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน แกนนำ นปช.ก็ควรได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน
“แม้ว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน จะบัญญัติให้ผู้ปฏิบัติไม่ต้องรับผิดทางอาญา แพ่ง และทางวินัย แต่มาตรา 17 ได้ระบุถึงการกระทำที่ไม่ต้องรับผิดไว้ 3 ข้อ คือ ต้องทำการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่ทำเกินกว่าเหตุ และคนที่ชี้ว่าใครทำผิดทำทุกต้องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ส่งฟ้องอัยการ อัยการสั่งฟ้อง ก็ต้องเข้าสู่ศาล ซึ่งมีทั้ง 3 ศาล ผู้ปฏิบัติจะมาวินิฉัยเองไม่ได้ อยากเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางด้วย ทั้งนี้ 10 เม.ย.ตาย 29 คน บาดเจ็บ 800 คน ก็พอแล้ว ครั้งนี้หากจะมีการสลายการชุมนุมอีกก็ขอชีวิต ทหาร และตำรวจ เจ้าหน้าที่เอื้อเฟื้อทำอย่างตรงไปตรงมา เท่าเทียมกัน” พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าว
นายเรืองเดช กล่าวว่า ขณะนี้คดีของเกรียงไกรทางพนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ได้ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือเรียกร้องผู้ถูกกล่าวหา คือนายกฯและนายสุเทพแล้ว จึงของเรียกร้องให้ทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้นอย่างถูกต้อง อย่างทำลับๆล่อว่า ทำแล้ว ที่ไปมอบตัวกับดีเอสไอเป็นเพียงการโฆษณาตัวเองมากกว่า.