สุเทพโต้รพ.ย้ายผู้ป่วยไม่เกี่ยวศอฉ.

ชี้เป็นความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย หลังมี นปช. เดินไปข่มขู่ ปัดยิงเอ็ม79 จาก รพ. ระบุแค่ความเห็น “หมอพรทิพย์”


การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกันได้มีการพิจารณากระทู้ถามสด ของ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย

เรื่องการธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ถามว่า มีการเผยแพร่ภาพผู้ป่วยที่ต้องระหกระเหิน ซึ่งภาวนาว่าเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุอย่าเกิดจากความจงใจ ได้ข่าวมาว่ามีการโยกย้ายผู้ป่วยมาก่อนที่ นายพายัพ ปั้นเกตุจะบุกโรงพยาบาล 2 วันแล้วใช่หรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลเตรียมประกาศกฏอัยการศึกใช่หรือไม่ การพูดอะไรต้องไม่ให้คนเกลียดชังกัน โดยเฉพาะ ศอฉ.ตนเรียกว่า ศูนย์อับเฉา ที่ชอบประกาศอยู่เสมอว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาดแม้จะสูญเสียบ้างก็ต้องยอม ขณะที่แพทย์ควรหลีกเลี่ยงก้าวก่ายทางการเมือง จึงอยากถามว่าที่ผ่านมามีทหารกี่คนที่เข้าไปอยู่บริเวณโรงพยาบาลจุฬา และตึกชาญอิสระ ผู้ที่เสียชีวิตจากการ ย้ายโรงพยาบาลรัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า ได้รับการยืนยันว่าโรงพยาบาลยึดหลักกาชาดมาโดยตลอด

คือหลักมนุษยธรรม ไม่ลำเอียง เป็นอิสระ เป็นเอกภาพ และหลักความเป็นสากล ฉะนั้นการดำเนินการของโรงพยาบาลจุฬาได้ทำอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและสถานพยาบาลนั้นๆ ขณะนี้เมื่อมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการในบางแผนกก็จะเปิดต่อไป ทั้งนี้ได้รับรายงานว่ามีการย้ายผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. ก่อนที่แกนนำ นปช.จะบุกจริงเนื่องจากมีเสียงคล้ายระเบิดใกล้ รพ.ขณะที่ นปช. เองยืนยันว่าไม่รับรองความปลอดภัย ที่ได้รับรายงานขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งหมด 4 ราย คือที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รพ.หัวเฉียว และรพ.กลาง ซึ่งเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และ รพ.สมุทรปราการ เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจและไตแทรกซ้อน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศหลายครั้งแล้วว่ายินดีที่จะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงที่ย้ายไปรักษาตัวอยู่ใน รพ.เอกชน 13 แห่งด้วย สำหรับผู้เสียชีวิตจะมีศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลอยู่แล้ว

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศอฉ. ชี้แจงว่า เนื่องจากผู้ชุมนุมบุกเข้าไปยึดสี่แยกราชประสงค์ ศอฉ.จึงส่งกำลังเข้าไปคุ้มครองประชาชนที่อยู่บริเวณ สีลม 

จากวันที่ 22 เม.ย.มีกลุ่มคนติดอาวุธยิงใส่รถไฟฟ้า ครั้งแรก 3ลูก ลูกแรกยิงจากอนุสาวรีย์ ร.6 และยิงไปสี่แยกศาลาแดงอีก 2 ลูก ศอฉ.จึงสั่งการให้ช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่ง รพ.และส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบินตรวจตรา ซึ่ง ศอฉ.เกรงว่าโรงพยาบาลจุฬาอาจไม่ปลอดภัย จึงได้ประสานกับโรงพยาบาลเพื่อจะจัดกำลังเข้าไปอารักขา แต่ รพ.ปฏิเสธโดยอ้างว่าต้องการรักษาความเป็นกลาง ศอฉ.จึงเคารพการตัดสินใจของ รพ. ไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปใน รพ. มีเพียง จนท.ตำรวจท้องที่อยู่หน้า รพ.เท่านั้น  แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ นายพายัพ บุกรุกเข้าไปข่มขู่จนสร้างความหวาดกลัวให้กับแพทย์และพยาบาล เป็นเหตุผลสำคัญที่โรงพยาบาลต้องย้ายผู้ป่วย ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลหรือโรงพยบาลแต่เขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เพราะมีคนของนปช.เดินเข้าไปข่มขู่ เป็นการตัดสินใจโดยอิสระของพยาบาลไม่เกี่ยวกับ ศอฉ. กรณีการให้ความเห็นของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นเพียงความเห็น และยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ แต่ทราบตามสื่อว่าพบสารไนเตรดจากชั้น 7 ของโรงพยาบาลเท่านั้น.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์