แหล่งข่าวจากคณะรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผย"มติชนออนไลน์"เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม
ถึงเบื้องหลังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางปรองดอง 5 ข้อพร้อมกับเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553ว่า นายอภิสิทธิ์ได้หารือกับฝ่ายต่างๆรวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและตระเตรียมเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหลายวันโดยมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการคือ
1. ต้องการให้เรื่องจบภายในวันที่ 5 พฤษภาคมเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เนื่องในวันฉัตรมงคลหรือเป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 (ทรงขึ้นครองราชย์วันที่ 9 มิถุนายน 2489)
2.การเตรียมพร้อมของฝ่ายความมั่นคง เพราะถ้านายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางปรองดองและวันที่จะจัดการเลือกตังเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือสนองตอบจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) อาจถูกตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าดำเนินการกับผู้ชุมนุม
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนแถลงเมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคม
รัฐบาลได้มีการพูดคุยกับแกนนำ นปช.บางคนถึงข้อเสนอต่างๆรวมทั้งวันจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งแกนนำ นปช.คนดังกล่าวยอมรับ แต่ก็มีปัญหาว่า แกนนำรายอื่นๆจะยอมรับข้อเสนอนี้หรือไม่ แต่เมื่อนายกฯแถลงข้อเสนอออกไปก็ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีซึ่งต้องรอดูผลอย่างเป้นทางการต่อไป
อนึ่ง กลุ่ม นปช.เริ่มชุมนุมใน กทม.ครั้งหลังสุดที่สะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 และเพิ่มจุดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553 รวมการชุมนุมแล้วเป็นเวลา 1 เดือน 23 วัน