หมอจุฬาฯน้ำตาซึมกลางงานเสวนาถูกคุมคามหนัก พยาบาลผวาเจอม็อบขู่ละเมิดทางเพศ นัดรวมพลังเช้าพรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "ปากคำแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ที่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศระหว่างการเสวนา ปรากฎว่า แพทย์ พยาบาล ที่เข้าร่วมงานทุกคนต่างมีอาการเศร้าซึม สะเทือนใจกับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 
 


รศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า เช้าวันเดียวกันนี้ รพ.จุฬาฯ ได้ประชุมคณะผู้บริหารโรงพยาบาลทั้งหมด ที่ประชุมต่างเห็นชอบว่า ขณะนี้ได้เกิดความวุ่นวาย และความไม่สะดวกในการทำงานช่วยเหลือผู้ป่วย จึงขอวิงวอนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เห็นใจ และถอยร่นจากพื้นที่บริเวณตั้งแต่พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ไปจนถึงแยกสารสินระยะทาง 100 เมตร เพื่อความสะดวก และสบายใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน และจนถึงขณะนี้ รพ.จุฬาฯ ยังไม่ได้ปิดให้บริการทั้งระบบ และผู้ป่วยฉุกเฉินยังสามารถเข้ารับการรักษาได้
 


รศ.นพ.สมรัตน์ กล่าวถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ว่า ขอยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากความตกใจจนเกินเหตุ แต่เกิดจากการไตร่ตรองอย่างสมเหตุสมผลแล้ว เนื่องจากทุกๆ เหตุการณ์มีขั้นตอน มีเรื่องราวที่เป็นเหตุให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลวิตกกังวล ไม่สามารถมั่นใจถึงความปลอดภัย
 


"ก่อนหน้านี้ช่วงกลางวัน ยังมีการปากระจกเข้ามาในตัวตึกของโรงพยาบาล ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร และหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จริงๆ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ คนไข้ โดยแต่ละวัน รพ.จุฬาฯ รับการรักษาคนไข้ทั้งสิ้น 3,000-4,000 คน ตั้งแต่ก่อตั้ง รพ.จุฬาฯ ก็รักษามาแล้วราว 45 ล้านคน  เรียกว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีคนไข้เข้ารับการรักษามากเป็นอันดับต้นๆ แม้จะเริ่มมีการชุมนุม คนไข้ก็ยังเข้ารับการรักษา แต่จำนวนลดลงร้อยละ 20  หลายเหตุการณ์ทำให้คิดว่า แกนนำผู้ชุมนุมไม่สามารถควบคุมคนของตนเองได้ ส่งผลให้ไม่สามารถมั่นใจความปลอดภัยได้อีก จึงจำเป็นต้องตัดสินใจย้ายผู้ป่วย แต่ได้มีการประเมิน และสอบถามความสมัครใจทั้งตัวผู้ป่วยและญาติแล้ว ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่า ยังมีผู้ป่วยรายเดียวที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะไม่ต้องการย้ายไปที่อื่น แต่ผู้ป่วยรายนั้นอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3 พฤษภาคม รพ.จุฬาฯ จะจัดทีมแพทย์เข้าเยี่ยมผู้ป่วยส่งต่อในโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย" รศ.นพ.สมรัตน์ กล่าว
 


ด้าน นพ.ธรรมศักดิ์ ทวิชศรี วิสัญญีแพทย์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ต่างวิตกกังวลถึงความปลอดภัยของตนเอง เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่สู้ดี ทั้งมลภาวะทางเสียง โดยเฉพาะพยาบาลสาวๆ ต่างหวาดกลัวถึงกระแสคำขู่จากการชุมนุมว่า ต้องการล่วงละเมิดทางเพศกับพยาบาล ผมเห็นสภาพที่เกิดขึ้นไม่อยากจะเชื่อว่า จะเป็นเช่นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ขอวิงวอนให้แพทย์พยาบาลสามารถทำงานด้วยความสบายใจ แทนที่ต้องมากังวลทั้งความปลอดภัยของคนไข้และแพทย์ พยาบาล


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รวมพลังร่วมกันแสดงจุดยืนการทำหน้าที่อย่างอิสระตามวิชาชีพเวลา  7.30 น. วันที่ 3 พฤษภาคมโดยรวมตัวกันที่หน้าเสาธง หน้าตึก อำนวยการ จากนั้นร่วมกันร้องเพลงชาติ เวลา 8.00 น. อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนในการทำหน้าที่อย่างอิสระ ร้องเพลงมาร์ชโรงพยาบาลจุฬา และเพลงมาร์ชพยาบาล


 


 


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์