นิสิตแพทย์จุฬาฯโอด ชีวิตสุดเครียด แถมหยุดเรียนไร้กำหนดหลังแดงคุกคาม รพ.








นิสิตแพทย์จุฬาฯ รับเต็มๆ ครวญอยู่หอในต้องทนฟังเสียงไพร่แดงถึงตี 2 ตี 3 ล่าสุดต้องหยุดเรียนยาว หวั่นความปลอดภัย - คนไข้ก็ไม่มี ชี้โรงพยาบาลเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซัดแดงบุกไร้เหตุผล
       
       ภาพคนไข้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กๆ ที่ต่างอยู่ในอาการหวาดหวั่นวิตก ไม่ต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในเหตุการณ์วันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ย้ำชัดอีกครั้งของความหมายคำว่า “มนุษยธรรม” ในกลุ่มผู้ชุมนุมที่แทนตนเองว่า “ไพร่แดง”
       












       สิ่งที่คนไทยได้เห็นนั้น คือ ผลกระทบทางด้านการแพทย์ แต่ทว่าเมื่อมองให้ลึกไปทั้งองคาพยพขององค์กรจะพบว่า การบุกโรงพยาบาลยังกระทบต่อเยาวชนผู้กำลังก้าวสู่การเป็นหัวใจสำคัญของการสาธารณสุขในอนาคตอย่าง “นิสิตแพทย์” อีกด้วย
       
       ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่มีต่อการเรียนของนิสิตแพทย์ว่า คณะแพทยศาสตร์ต้องหยุดการเรียนการสอนทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของนิสิต และบุคลากร อีกทั้งยังไม่มีคนไข้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ทำให้ต้องมีการวางแผน ตารางการเรียนใหม่ ต้องมีการสอนชดใช้ภายหลัง ขณะเดียวกันหากสถานการณ์ความวุ่นวายยังยืดเยื้อไม่จบในระยะเวลาอันใกล้ ก็จำเป็นต้องประสานให้นิสิตแพทย์ไปเรียนร่วมกับทางมหาวิทยาลัยอื่น
       
       ด้านความในใจของบรรดานิสิตแพทย์ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เริ่มจาก นิสิตแพทย์หญิง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 5 รายหนึ่ง เปิดเผยกับ Campus ว่า นิสิตแพทย์ทุกคนต้องเรียนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยปกติช่วงนี้พรีคลีนิคชั้นปี 1- 3 อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน ส่วนชั้นปีที่ 4 -6 ต้องเรียนตามปกติ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทางโรงพยาบาลก็จำเป็นต้องประกาศหยุดเรียนเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตามพี่ๆปี 6 บางคนก็ไม่สามารถหยุดได้ เพราะยังมีหน้าที่ต้องดูแลคนไข้
       
       “เมื่อมีการชุมนุมในบริเวณใกล้โรงพยาบาล นิสิตแพทย์ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะนิสิตจำนวนไม่น้อยพักอยู่หอพักในโรงพยาบาล ซึ่งก็ต้องทนเสียงดัง ได้ยินคำปราศรัยด้วยถ้อยคำหยาบคายมาโดยตลอด บางคืนก็มีการจุดบั้งไฟ มีเสียงเฮลิคอปเตอร์บินไปมา และกว่าจะปราศรัยเสร็จก็เป็นเวลาตี 2 –ตี 3 ในแต่ละคืนไปแล้ว” นิสิตแพทย์สาว ระบายความอัดอั้น
       
       “ตอนนี้คนไข้เดินทางมาลำบาก รวมถึงนิสิตแพทย์เองก็เช่นกัน เพราะมีนิสิตบางคนต้องเดินทางไป –กลับ เวลาเดินกลับบ้านใครที่ต้องไปทางฝั่งสีลม ต้องเดินอ้อม เดินข้ามถนนไปแทน เพราะสะพานลอยถูกกลุ่ม นปช.ปิด แล้วระหว่างทางเดินก็มีขยะ สกปรก เหม็นกลิ่นปัสสาวะ แล้วยังต้องระวังตัวมากกว่าเดิม”











       นิสิตแพทย์ จุฬาฯ กล่าวต่อเสริมอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมายังไปเรียนตามปกติ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ก็ต้องหยุดการเรียนการสอนไปโดยไม่มีกำหนด รวมทั้งบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดหวั่น
       
       “เคยมีเคสหนึ่ง เพื่อนต้องไปรับคนไข้ใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ปรากฏว่ามีเสียงระเบิดดังขึ้น ก็ต้องวิ่งหนีกันตกอกตกใจ การขนย้ายคนไข้ก็ลำบาก เพราะคนไข้บางคนเดินเองไม่ไหว ตึกใหม่ที่ย้ายไปก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ลำบากกันไปหมดค่ะ”
       

       ส่วนอีกหนึ่งความเห็นจาก “เดลล์” ณัชชากร ขวัญขจรวงศ์ (ว่าที่) นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เมื่อวานที่กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าตรวจค้นโรงพยาบาล แม้อาจจะไม่ได้รับเสียหายอะไรมาก แต่ก็ทำให้ทุกคนขวัญเสีย
       
       “ต้องเข้าใจว่า โรงพยาบาลเป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสถานที่ให้บริการรักษาคนเจ็บป่วย ทั้งนี้รวมไปถึงเป็นสถานศึกษาของนิสิตแพทย์ด้วย คงไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะทำให้โรงพยาบาลจุฬาฯ กลายเป็นแหล่งกบดานของทหารอย่างที่กลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวหา ผมคิดว่า การบุกรุก การปฏิบัติพฤติกรรมรุนแรงอย่างไม่มีเหตุผลเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ทำไมไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ แพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่นิสิตแพทย์ที่กำลังเรียนอยู่บ้าง ผมหวังว่า ต่อไปคงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ บ้านเมืองวุ่นวายมากพอแล้ว ทำไมไม่เอาเวลาตรงนี้มาช่วยกันทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบสุขเหมือนเดิม” เดลล์กล่าวด้วยน้ำเสียงสลด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์