ชิงดำปธ.สนช.ฝุ่นตลบ มีชัยเต็ง ทีมหนุนประสงค์วิ่งวุ่น

"โค้งสุดท้าย"


บรรยากาศช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันลงคะแนนเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นไปอย่างเข้มข้น หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแบ่งกลุ่มเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ล่าสุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กลุ่มของนายมีชัย ออกมาเปิดเผยว่า นายมีชัยอาจยอมถอยไม่เข้าชิงตำแหน่งแล้ว ขณะที่นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลุ่มของ น.ต.ประสงค์ ฟันธงว่า คำพูดของนาย บวรศักดิ์เป็นข่าวลวง พร้อมระบุขณะนี้คะแนนของนายมีชัย และ น.ต.ประสงค์ ก้ำกึ่งกันมาก อยู่ที่สมาชิกสายนักวิชาการและสื่อมวลชนจะเป็นตัวชี้ขาด

แจงขั้นตอนเลือกประธาน สนช.

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 24 ต.ค. ว่า ได้บรรจุ วาระการประชุมไว้ 3 วาระ เริ่มจากการอ่านพระบรมราชโองการเปิดสมัยประชุม จากนั้นคุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด จะขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว นำสมาชิก กล่าวคำปฏิญาณตน และอ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้น จึงเข้าสู่ วาระการเลือกประธานและรองประธาน ซึ่งได้เตรียมความ พร้อมทุกอย่างหมดแล้ว รวมถึงการจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยป้อนข้อมูลให้ประธานในที่ประชุมชั่วคราวด้วย หลังจากเลือกประธานและรองประธานเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ นอกจากนี้สำนักงานเลขาธิการ ครม.ได้ ประสานมาแล้วว่า จะขอเปิดประชุมสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 27 ต.ค.นี้ คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร

กัญจนา แขวะพวกต่อต้าน มีชัย

น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า มีจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพราะเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เหมาะสมที่สุด ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่า นายมีชัยรับใช้ระบอบ ทักษิณนั้น ไม่รู้สึกว่านายมีชัยเอนเอียง หรือรับใช้ใครเป็น พิเศษเลย เวลามีอะไรฉุกเฉินก็เห็นทุกคนเรียกใช้นายมีชัย ทั้งนั้น แปลกใจว่า พวกต่อต้านนายมีชัยมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ ทำไมต้องค้านกันรุนแรงขนาดนี้ ส่วนที่นาย สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุ ว่า ถ้านายมีชัยได้รับเลือกเป็นประธานจะมีสมาชิกบางคนลาออกนั้น คงห้ามกันไม่ได้ เป็นสิทธิของแต่ละคน

บวรศักดิ์ เผย มีชัย อาจยอมถอย


นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกระแสต่อต้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เดี๋ยวนี้บ้านเมืองเปลี่ยน แปลงไปแล้ว เหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม ก็ต้องทำใจยอมรับ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางคนระบุว่า นายบวรศักดิ์เป็นคนเดินสายขอเสียงสนับสนุนนายมีชัย นายบวรศักดิ์ตอบว่า ครับ ก็ คมช. (คณะ มนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ไม่ทำอะไรเลย ผมก็ทำให้ ไม่มีอะไรแอบแฝง เมื่อถามว่า ในเมื่อมีกระแสต่อต้านรุนแรง นายมีชัยจะยอมถอยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าว ว่า ครับ คงเป็นอย่างนั้น ตอนนี้พูดได้แค่นี้ เพราะรอดูเหตุการณ์ก่อน เราไม่อยากให้ภาพของสภานิติบัญญัติเสียหายไปกว่านี้

สมบัติ ชี้ จรัล อาจเป็นตาอยู่

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงตัวเต็งที่จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ล่าสุดทราบมาว่า นอกจากตัวเต็งเดิม 2 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ แล้วยังมี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อีกคน โดยส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.จรัลเป็นผู้ใหญ่ได้รับความเชื่อถือสูง แม้ประสบการณ์ยังน้อยกว่าตัวเต็ง 2 คนเดิม เพราะไม่เคยเป็นรัฐมนตรี แต่ในแง่พื้นฐานความรู้และคุณวุฒิ เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุน ตอนนี้ยังไม่มีกระแสต่อต้าน หรือสนับสนุนที่ชัดเจน คิดว่าถ้าคนที่สนับสนุนนายมีชัยเปลี่ยนใจ น้ำหนักของ พล.อ.จรัลก็จะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เกรงว่าหาก พล.อ.จรัลได้ตำแหน่ง อาจจะมีข้อครหาว่า คมช. อยู่เบื้องหลัง

จรัล ไม่เชื่อ มีชัย ถอนตัว

พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอชื่อให้เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากนายมีชัยได้รับเลือกเป็นประธานว่า ที่ผ่านมามีแต่คนเสนอให้เป็นนั่นเป็นนี่ แต่เป็นด้วยปากคนอื่น ซึ่งขอมองโลกในแง่ดีว่าคนเสนอคงรักเรา ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าหากนายมีชัยถอนตัว จะมีการผลักดันให้ พล.อ.จรัลเป็นประธานแทน พล.อ.จรัลตอบว่า รู้ได้อย่างไรว่านายมีชัยจะถอนตัว ที่ผ่านมามีกระแสข่าวโจมตีว่านายมีชัยมีตำหนิ ก็เป็นธรรมดามีคนรักก็ต้องมีคนไม่ชอบ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะตัดสินใจ

สังศิต ประเมินคะแนนเสียงก้ำกึ่ง


ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งประกาศตัวสนับสนุน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน ได้เชิญสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสายนักวิชาการหลายคนไปหารือที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลังจากได้รับทราบข่าวนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะถอนตัว โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นนายสังศิตเปิดเผยว่า จากการที่นักวิชาการหลายสถาบัน หารือกันเพื่อประเมินสถานการณ์พบว่า ปัญหาในการเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้เกิดจากความผิดพลาดของ คมช. ที่หลังยึดอำนาจไม่ได้มองว่าองค์กรประชาธิปไตยและพันธมิตรเป็นพวกเดียวกับ คมช. ทิ้งระยะห่างจนเกิดความไม่ไว้วางใจกันและกัน คมช.จึงเลือกคนที่คิดว่าสั่งได้ โดยมีการจัดตั้งคนคุมเสียง 1 ต่อ 12 และล่าสุดลดลงเหลือ 1 ต่อ 8 เพื่อให้แน่ใจว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นคนที่ คมช.สนับสนุน จะได้รับเลือกเป็นประธานอย่างแน่นอน ขณะนี้เท่าที่คาดคะเนเสียงสนับสนุนของนายมีชัยและ น.ต.ประสงค์ยังมีเสียงทิ้งห่างกันไม่มากนัก อยู่ที่ 100 บวกลบ 25-35 เสียง เสียงเหล่านี้เป็นกลุ่มสื่อมวลชนและนักวิชาการที่มีอิสระเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้

ฟันธง มีชัย ถอยแค่ข่าวลวง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่านายมีชัยอาจจะถอยไม่รับตำแหน่งประธานแล้ว นายสังศิตตอบว่า เป็นข่าวลวง ทราบว่านายมีชัยสู้เต็มที่ และอาจจะมีการเสนอชื่อใครบางคนมาตัดคะแนนในส่วนขององค์กรอิสระด้วย หากเป็นแบบนี้กระแสวิจารณ์ คมช. จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะทำให้การทำงานของรัฐบาลลำบาก ถ้าสถานการณ์เป็นไปตามที่ฝ่ายสนับสนุนนายมีชัยตั้งไว้ ขอให้ คมช. และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินับถอยหลังได้เลย

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เท่าที่ได้สอบถามเพื่อนหลายคนทราบว่าขณะนี้เสียงสนับสนุนของนายมีชัยกับ น.ต.ประสงค์คู่คี่กันมาก มีประมาณ 100 เสียง คะแนนชี้ขาดจึงอยู่ที่คนที่ยังไม่ ตัดสินใจ แต่คิดว่าผลคะแนนที่ออกมาคงต่างกันไม่เกิน 20 คะแนน และเชื่อว่าทั้งนายมีชัยและ น.ต.ประสงค์คงไม่ถอนตัว เพราะถ้าจะถอนตัวก็คงถอนไปนานแล้ว โดยส่วนตัวสนับสนุน น.ต.ประสงค์ เนื่องจากเห็นว่ามีความเด็ดขาดรวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

สนธิ ยันไม่ได้ล็อบบี้บล็อกโหวต

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ไม่เคยใช้อำนาจไปล็อบบี้ผู้ที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดต ไม่ว่าจะเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยเราจะเข้าไปยุ่งไม่ได้ และ สนช. แต่ละคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ต้องปล่อยให้ดำเนินการกันเอง ใครมีเสียงข้างมากก็ได้ไป คมช.จะไปชี้นำไม่ได้ มิฉะนั้นจะทำให้เสียหายไปด้วย ผมขออย่างเดียว ไม่อยากให้ทหารเข้าไปเป็นประธานสภานิติบัญญัติเท่านั้นเอง เพื่อให้ภาพดูดี เนื่องจากต่างชาติมองว่าทหารเข้ามาควบคุมอำนาจมากเกินไป เราก็เป็นห่วงจุดนี้มาก ถ้าหากเข้าไปแทรกแซงหรือเข้าไปชี้นำก็จะถูกโวยวายแน่ ดังนั้นอยากปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยมากกว่า

สัก ดักคอ สนช.อย่าติดหนวด


นายสัก กอแสงเรือง กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรเป็นสภาที่สร้างต้นแบบมุ่งสู่การปฏิรูปการเมือง ไม่ควรกลับเข้าไปสู่วังวนเก่า น่าจะเป็นชุดที่ปลอดการเมือง มีเกียรติกว่าสภาชุดที่แล้วที่ถูกแทรกแซง ไม่ควรมีใบสั่งหรือมีการล็อบบี้ ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเสียงเรียกร้องให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถอนตัวหากได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายสักตอบว่า อยู่ที่นายมีชัยจะพิจารณาเอง แต่ สนช.ทุกคนควรมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ต้องมีความคิดเหมือนคมช.คือไม่ยึดติดอำนาจ เพราะจะมีแต่ความเสียหายต่อส่วนรวม ถ้าปฏิรูปการเมืองไม่ได้ก็ตอบประชาชนไม่ได้ แต่เรื่องอย่างนี้ก็ต้องแล้วแต่บางคน บางคนแค่มีคนตั้งข้อสังเกตก็ถอนตัวไปแล้ว จะไปเปลืองตัวทำไม ถ้าไม่คิดจะยึดติดกับอำนาจ คนที่มีภาพลักษณ์เก่าๆ ควรถอยออกไป เปิดให้คนที่มีภาพลักษณ์ใหม่เข้ามา ไม่ควรเอาแบรนด์ เก่ามาต่อหนวด

องค์กรสื่อกำหนดสเปกประธาน สนช.

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ประกอบด้วยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นถึงกรณีผู้ที่เหมาะสมเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้ง 3 คน ที่เป็นผู้แทนองค์กรสื่อเลือกประธาน โดยมีความเห็นว่าคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานต้องมีความกล้าหาญชี้ถูกชี้ผิด ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถดูแลในการออกกฎหมายในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อประโยชน์แก่ ส่วนรวมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ได้เสนอแนะให้ผู้แทนองค์กรสื่อเลือกประธานอย่างเป็นอิสระ โดยอาจเลือกบุคคลที่ตกเป็นข่าว หรือบุคคลอื่นที่เหมาะสม อาทิ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายสุจิต บุญบงการ นางจุรี วิจิตรวาทการ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์