แนะสร้างฐานชุมนุนแก้วิกฤติ


รองปลัดมท.ชี้สังคมไทยเจอวิกฤติอารมณ์หนักเร่งเยียวยาด่วนแนะดึงสร้างฐานชุมนุนให้เข้มแข็ง


วันนี้ (25 เม.ย.) นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้การสร้างสุขภาวะชุมชนโดยชุมชนระดับตำบล กล่าวว่า  คณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้การสร้างสุขภาวะชุมชนโดยชุมชนระดับตำบล จัดตั้งขึ้นโดย แผนงานสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมวางแผน และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ให้เกิดกระบวนการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะตอนนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีระบบทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้สังคมขาดความเข้มแข็ง กลายเป็นสังคมอารมณ์ เพราะคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ขาดความเสมอภาค ขาดคุณธรรม   

นายสมพร  กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤติดังกล่าว ต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมา ชนบท ท้องถิ่น ได้รับการเหลียวแลน้อยกว่าคนในเมือง ดังนั้นควรเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้คนมีความรัก ความสามัคคี ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน ซึ่งสังคมไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งระบบสวัสดิการ การเรียนรู้ด้านต่าง ๆ การใช้ศาสนากล่อมเกลาจิตใจ แต่กลับไม่ยอมนำออกมาใช้ ทั้งที่การปลุกจิตสำนึกให้กับชุมชน เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะต่อไปชุมชนจะสามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนโรงเรียนฝึกประชาธิปไตยได้

ด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส.  กล่าวว่า ทางออกของสังคมตอนนี้ต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนเข้มแข็งก่อน โดยการใช้พื้นที่ในการพัฒนาชุมชน ดูศักยภาพชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งองค์กรหลัก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ถึงแม้จะทำหน้าที่เสริมสร้างให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง แต่อาจทำงานภายใต้กรอบและเวลา ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้เกิดการทำงานอย่างลงตัว

อย่างไรก็ตามการทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อพัฒนาไปสู่ตำบลและสังคมที่น่าอยู่นั้น ต้องเริ่มจากองค์ประกอบหลัก ๆ คือ
 
1.การพัฒนาระบบข้อมูลในพื้นที่

  2.ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิด ร่วมทำ

3. ดึงความรู้ที่มีอยู่เดิมออกมาปรับใช้ผ่านแหล่งเรียนรู้ เพื่อนำมาสู่การขยายผล

4.การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ โดยผ่านเครือข่าย สถาบัน องค์กรหลักในท้องถิ่น
 
5. สังเคราะห์นโยบายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ธรรมนูญสุขภาพ

และ6. ทำการสื่อสารทั้งในและนอกพื้นที่ เช่น ประชาคม สำนักข่าวชุมชน วิทยุชุมชน นสพ.ชุมชน ซึ่งหากทำได้อย่างนี้แล้วจะทำให้เกิดตำบลที่น่าอยู่ เพราะคนในชุมชนสามารถพึ่งพาช่วยเหลือตัวเองได้


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์