เมื่อวันที่ 22 เมษายน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีที่ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยุติความขัดแย้งภายในประเทศ ความว่า
คำแถลงการณ์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมือง
ด้วยความเคารพต่อข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย คำแถลงฉบับนี้ กระผมมิได้กระทำในฐานะนักการเมืองเพื่อตอบโต้ หรือ แสวงหาประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่สังกัดแต่ประการใด ซึ่งเรื่องทางการเมืองยังมีอีกมาก แต่จะไม่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในฐานะส่วนตัว กระผมได้ทำงานด้านความมั่นคงของชาติมายาวนาน และนำเสนองานด้านวิชาการอันเป็นหลักวิชาที่เป็นความเห็นถูกแห่งสัมมาทิฐิ เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นการให้การศึกษาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยและเป็นการนำเสนอหลักวิชาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติชาติทั้งปวง ต่อไปด้วย
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 กระผมได้แถลงโดยสรุปว่า “…คือ หวังในพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานให้พวกเรา เพื่อยุติความขัดแย้งที่มีมานาน และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างมหาศาล...พระอาญามิพ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับทุกสิ่งทุกอย่างไว้เหนือหัว หากสิ่งที่อยู่ในหัวใจของพวกเราในวันนี้ คือ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมให้กับพี่น้องคนไทย ให้กับพวกเราด้วย ผมคิดว่าถ้าไม่มีพระมหากรุณาธิคุณ ก็ไม่แน่ใจต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นภายในวันสองวันข้างหน้านี้ และจะเป็นตราบาปที่คนไทยไม่ต้องการเห็น...ที่ตัดสินใจมาทำงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย เพราะมีภารกิจที่ต้องพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อสีนี้และคนที่เกี่ยวข้องมีความจงรักภักดีหรือไม่ วันนี้ก็ได้พิสูจน์ด้วยสายเลือดทหารรักษาพระองค์ จึงขอประกาศว่า บุคคลทุกคนที่กล่าวมาข้างต้น มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด สิ่งที่หวัง คือ ให้สังคมไทยเกิดสันติสุข และปัญหาได้รับการแก้ไข จะยืนหยัดทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ให้สถิตสถาพรต่อไปให้จงได้
...ผู้สื่อข่าวถามว่า...แสดงว่าใน 1-2 วัน ทหารจะใช้กำลังเข้าสลายประชาชน ใช่หรือไม่ กระผมตอบว่า "มันคือสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ เพราะกลัวว่าทหารจะใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชน..." รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายได้ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้น 20 เมษายน 2553 ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่เห็นด้วยและไม่บังควรที่นำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง" และนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่า "...นับว่าเป็นความคิดที่แย่มาก คนแก่มีวุฒิภาวะถึงขนาดนี้ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ย่อมรู้ดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง และอยู่เหนือการเมือง...เป็นการดึงฟ้าให้ต่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และอยู่เหนือความขัดแย้งมาโดยตลอด ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ทุกคนเข้าใจได้ดีว่า เป็นความคิด ที่ทำลายสถาบัน..." และคำกล่าวของนายศุภชัย ใจสมุทร ว่า "..ก็ควรต้องรู้ว่าอะไรบังควรหรือไม่บังควร เพราะเป็นที่รู้กันตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง.." ฯลฯ
กระผมต้องขอขอบคุณทุกท่าน ที่ได้กรุณาให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ ที่กระผมได้เสนอขึ้น ซึ่งได้ก่อผลสะเทือนออกไปอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง แสดงถึงว่าบุคคลเหล่านี้ได้เป็นตัวอย่างอันดียิ่ง สะท้อนภาพว่ามีมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด หรือความมืดบอดอวิชชาอย่างหนาแน่น ต่อปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองการปกครอง นั่นคือ แสดงว่ามีปัญหาความคิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังแก้ไม่ตก คือ มีความรู้ผิดหรือมีความไม่รู้ นั่นเอง ซึ่งมีผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติ ประชาชน อย่างร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนา
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างความเห็นถูกสัมมาทิฐิ แก้ไขความคิดให้ถูกต้อง มีความจงรักภักดีอย่างมีวิชชา เพื่อรักษาความมั่นคงแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้อง และนำไปสู่ความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตย และ
การแก้ปัญหาของประชาชนทั้งมวล ฉะนั้น จึงขอชี้แจงต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. ก่อนอื่นทั้งสิ้นเราจะต้องรู้ให้ถูกต้องเสียก่อนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีความจริงแท้เป็นมาอย่างไร
ตามกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า
"...สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แทนแห่งอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์” (THE MONARCH APPEARS AS THE REPRESENTATIVE OF THE SOVEREIGNTY OF THE STATE, AND THEREBY BECOMES A SOVEREIGNTY HIMSELF) จากหนังสือ INTERNATIONAL LAW A TREATISE VOL.I - PEACH BY H. LAUTERPACHT, Q.C., LL.D., F.B.A.
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (HEAD OF STATE) ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งองค์กรรัฐ (A HEAD AS ITS HIGHEST ORGAN) หรือเป็นหัวหน้าขององค์กรรัฐ (CHIEF ORGAN) และเป็นตัวแทนของรัฐในความสัมพันธ์และกิจการระหว่างประเทศทั้งสิ้น (REPRESENTATIVE IN THE TOTALITY OF ITS INTERNATIONAL RELATIONS)
สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นส่วนสำคัญของชาติไทย ที่เป็นสถาบันที่มีมายาวนานที่สุดและทรงก่อตั้งชาติ ทรงมีพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณี ภายใต้พระราชดำริและพระราชวินิจฉัยตามความรับผิดชอบของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อประเทศชาติ มาตั้งแต่ก่อตั้งชาตินับร้อยปีนับพันปี จึงทรงมีอำนาจมากกว่าสถาบันอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นประมุข
สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทย ซึ่งกองทัพไทยประกอบ ด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ และอาสาต่างๆ ทั้งสิ้น"
2. สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยเก่า ขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ทรงสร้างประชาธิปไตย ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
(ร.5) สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (ร.6) และสมเด็จพระปกเกล้าฯ (ร.7) ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ จนสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ จากการ ล่าอาณานิคมของประเทศนักล่าอาณานิคม และยกระดับประเทศขึ้นสู่ความทันสมัยศิวิไลซ์ (MODERNIZATION) อีกทั้งทรงวางรากฐานประเทศด้านความมั่นคง และด้านประชาธิปไตย และสมเด็จพระปกเกล้าฯ กำลังทรงสร้างประชาธิปไตย ขั้นตอนสุดท้ายเกือบสำเร็จ แต่ได้เกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้นเสียก่อน ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 การสร้างประชาธิปไตยของไทย โดยพระมหากษัตริย์ก็จะสำเร็จไปแล้วประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรืองพร้อมๆ กับประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว นี่คือ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อบ้านเมืองไทยในอดีต ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้แม้แต่น้อย
และที่สำคัญที่สุด สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสามสถาบันที่สร้างประชาธิปไตยในโลก คือสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันกองทัพ สถาบันพรรคการเมือง แต่สำหรับประเทศเอกราชเอเชีย 3 ประเทศ คือ จีน ไทย ญี่ปุ่น มีกฎเกณฑ์พิเศษอยู่ว่า มีเพียงสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่สร้างประชาธิปไตยได้ ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกขัดขวาง ก็จะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ ประเทศจีน ถูกขัดขวางก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ญี่ปุ่นไม่ถูกขัดขวางก็สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ ประเทศไทยสร้างประชาธิปไตยขึ้นในขั้นตอนแรก แต่ถูกขัดขวาง โดยเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 การสร้างประชาธิปไตยขั้นตอนที่ 2 จึงไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยของไทยจึงยังสร้างไม่สำเร็จตลอดมาเป็นระยะเวลาถึง 78 ปี ไม่ว่าจะเป็นโดยสถาบันกองทัพ หรือสถาบันพรรคการเมือง