การประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.ร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายสุเทพบอกว่าถ้ายุบสภาตอนนี้ก็ไม่พร้อม เพราะพรรคเพื่อไทยเหนือกว่า จึงต้องให้พรรคร่วมช่วย ซึ่งเขาก็พร้อมช่วย แต่เขาขอช่องหายใจ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา ขัดจังหวะว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ บอกไปเลยว่าจะไม่ยุบสภา ควรแก้ปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดงก่อนดีกว่า
จากนั้น นายชวนกล่าวว่า "ที่ท่านสุเทพพูดเหมือนเป็นการข่มขู่ลูกพรรค โดยบอกว่าไม่พร้อมที่จะดูแลและสนับสนุนหากมีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีแบบนี้ ไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเอง ดังนั้นท่านต้องยึดหลักของพรรคและเรื่องใหญ่ตอนนี้คือเรื่องยุบพรรค ความจริงพรรคเองมีความชอบธรรมที่จะอยู่เป็นรัฐบาลได้มากกว่ามาต่อรอง 9 เดือนหรือ 6 เดือนด้วยซ้ำ ดังนั้น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะมาคุยกันวันนี้"
ข่าวแจ้งว่าเมื่อถึงตอนนี้ทำให้ นายสุเทพถึงกับน้ำตาซึม และลุกขึ้นชี้แจงด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า
"ขอพูดตอนที่ท่านอยู่ เพราะท่านประธานที่ปรึกษาพูดแบบนี้ไม่ถูก ผมต้องพูดเพื่อให้เข้าใจ ผมก็รักพรรค แต่เราก็ควรเปิดใจกว้าง ถ้าเราไม่มีน้ำใจให้กับคนอื่น คนอื่นจะมีน้ำใจให้เราได้อย่างไร ขอให้นึกถึงอกเขาอกเรา ถ้าเราไม่มีมติวันนี้ เราก็อยู่กับเขาไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีอะไรจะไปคุยกับเขา อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คนอย่างผมไม่เคยข่มขู่ใคร เป็นนักการเมืองอยู่ประชาธิปัตย์มา 30 กว่าปี ก็ไม่เคยหักหลังใคร พวกท่านอยู่สบาย ไม่เคยลำบากเหมือนผมกับท่านนายกฯ ที่ต้องถูกตามล่า ไม่รู้ว่าคนชุดดำจะออกมาเมื่อไหร่ วันนี้หน้าผมไม่เหลือแล้ว ขายไปหมดแล้ว และพรรคร่วมก็รอคำตอบอยู่ และเขาขอแค่ 2 มาตรา เราต้องมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งไปให้เขา เพราะวิกฤตบ้านเมืองเราต้องระดมสรรพกำลัง ไม่ใช่ลอยไปลอยมา"
จากนั้นได้เปิดให้ส.ส.แสดงความเห็น ซึ่งแตกออกเป็น 2 ส่วน คือเห็นด้วย กับไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ
ในช่วงท้ายนายอภิสิทธิ์ได้สรุปว่า "เราต้องร่วมรับผิดและรับชอบด้วยกัน ดังนั้นเพื่อไปปรับตัวแก้สถานการณ์ร่วมกัน ก็ขอให้ที่ประชุมมอบอำนาจให้ผมและท่านสุเทพไปร่วมพิจารณาตัดสินร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง และจะมาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ หากจะแก้ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าแก้เพื่อใคร และต้องแก้ทั้งระบบ" ทันทีที่นายอภิสิทธิ์พูดจบ ส.ส.ต่างปรบมือ ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลง