อุบัติเหตุช่วงสงกรานต์รวม 5 วัน มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 257 คน ลดลงจากปีก่อน 15 คน นครราชสีมา มากสุด 17 ศพ ส่วนผู้บาดเจ็บ 3,104 คน นครศรีธรรมราช มีผู้บาดเจ็บสูงสุด 131 คน...
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 17 เม.ย. 2553 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
แถลงว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ห้าของเทศกาล โดยเกิดอุบัติเหตุ 348 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5 ครั้ง ร้อยละ 1.46 เสียชีวิต 45 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 7 คน ร้อยละ 13.46 บาดเจ็บ 370 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 1 คน ร้อยละ 0.27 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 31.90 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 17.82 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 75.49 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 59.20 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 28.74 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 53.01
นายอนุชา กล่าวว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 21 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 5 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด
ได้แก่ เชียงใหม่ 24 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (วันที่ 12 - 16 เม.ย. 53) เกิดอุบัติเหตุ รวม 2,863 ครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 243 ครั้ง ร้อยละ 7.82 เสียชีวิตรวม 257 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 15 คน ร้อยละ 5.51 บาดเจ็บรวม 3,104 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 271 คน ร้อยละ 8.03 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 116 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 17 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 131 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 5 วัน มี 11 จังหวัด ได้แก่ ตราด นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สุโขทัย และยะลา
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวต่อว่า จากการที่ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับแล้ว
ส่งผลให้เส้นทางสายหลัก มียานพาหนะคับคั่งมากขึ้น ศปถ. จึงได้ประสานให้จังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ปรับแผนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน โดยสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเน้นการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นบนถนนสายหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เข้มงวดกวดขันรถโดยสารและรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก โดยเน้นการตรวจจับเมาแล้วขับ การใช้ความเร็วสูง การตัดหน้ากระชั้นชิดและการขับรถจักรยานยนต์ย้อนศรตามถนนสายหลักเป็นพิเศษ นายอนุชากล่าวด้วยว่าจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่ผ่านมา
พบว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงถึง ร้อยละ 30 แม้ว่า จะมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในกลุ่มเยาวชนอย่างต่อเนื่อง
แต่ยังไม่สามารถลดปัญหาในกลุ่มเยาวชนได้ แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองยังละเลย ปล่อยให้เด็กโดยสารท้ายรถกระบะ ขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ดังนั้น ศปถ. จะเสนอให้มีการปลูกฝังอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ท้ายนี้ ขอฝากให้ประชาชนที่เดินทางกลับในช่วงนี้ เตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสอบสภาพเส้นทาง และเลือกใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง เพื่อลดเวลาในการเดินทาง ตรวจรถก่อนใช้