"เกรงบล็อกโหวต"
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการบล็อกโหวตเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าคงไม่มีการบล็อกเกิดขึ้น เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติฯมีวุฒิภาวะในการพิจารณา ขณะนี้เป็นการคาดการณ์ไปเอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ส่วนกรณีที่มีอดีต ส.ว.52 คน ระบุจะตรวจสอบการทำงานของสภานิติบัญญัติฯนั้น ก็ไม่เป็นไร ขบวนการตรวจสอบต้องมีความโปร่งใส ทุกคนรักประเทศชาติบ้านเมือง และมีความปรารถนาดี เพื่อให้ระยะเวลาการส่งผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ทุกคนรอคอย
มีชัย ไม่สนคำค้านนั่ง ปธ.
เมื่อเวลา 08.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงกรณีที่มีเสียงคัดค้านไม่ให้เป็นประธาน สนช. โดยกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า การที่มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นบทบาทตามระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อถึงเวลาการทำงานก็เป็นหน้าที่ใครหน้าที่มัน เพราะเวลาที่จะเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็จะเป็นวิจารณญาณของสมาชิกแต่ละคน อย่างไร ก็ดีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ขออย่าได้ใส่ความไม่จริงลงไปก็แล้วกัน
นายมีชัยกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยว่า ผู้จะมาเป็นประธาน สนช.ต้องเป็นคนที่สมาชิกให้ความไว้วางใจ และลงมติรับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้ สมาชิกแต่ละคนเป็นผู้ใหญ่มีความหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ละคนมีวิธีคิดวิธีเลือกของตนเอง เชื่อว่าสมาชิกที่มีใจเป็นธรรมจะมีความเข้าใจ ส่วนที่มีการคัดค้านการดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยนำไปเชื่อมโยงตนกับระบอบทักษิณนั้น นายมีชัยกล่าวว่า รู้สึกแปลกใจว่าทำไมคนจึงมาคัดค้านมีอะไรนักหนา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาเพราะคนที่ทำงานกับสาธารณชนก็จะถูกวิจารณ์อย่างนี้ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถจะถูกวิจารณ์ได้
กลุ่มแพทย์ยื่น จ.ม.ต้าน มีชัย
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล แกนนำเครือข่ายจุฬาฯเชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) นำกลุ่มคณะแพทย์และนักวิชาการ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อเสนอความเห็นคุณลักษณะผู้สมควรดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี พ.อ.ดิฎฐพร ศศะสมิต รองเลขานุการกองทัพบก เป็นตัวแทนรับมอบ
นพ.ตุลย์กล่าวว่า ตามคำสั่งที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายประกอบด้วยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานและคณะรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญการ ปกครองจนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ทางคณะมีข้อห่วงใย คือหากนายมีชัยซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญและได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติตามที่ท่านร่างขึ้นมาเอง และมีแนวโน้มว่าจะได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติอาจมองว่าทุกอย่างมีการเตรียมการไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเจตนาอันบริสุทธิ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
นพ.ตุลย์กล่าวว่า มาตรา 21 ระบุว่า ประธานสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติ ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะการประชุมสมัชชาแห่งชาติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ผู้ทำหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมาตรา 12 ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติขอให้เปิดการอภิปรายทั่วไป ดังนั้น ผู้จะดำรงตำแหน่งควรเป็นผู้เปิดกว้าง มีจิตใจยึดมั่นเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เคยมีประวัติรับใช้กลุ่มอำนาจโดยไม่ยึดถือความถูกต้อง ประชาชนคาดหวังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาก ซึ่งการปฏิรูปการเมืองมีความสำคัญ ดังนั้น หากผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติสามารถประสานความรู้สึกต่อสังคมต่อรัฐบาล ต่อ คมช. ได้ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ คมช.อย่าได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้นายมีชัยขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติโดยเด็ดขาด