5อาจารย์นิติฯมธ.ออกแถลงการณ์ค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ละเมิดสิทธิประชาชน

แถลงการณ์กลุ่ม ๕ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เรื่อง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน


ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นั้น เรา กลุ่ม ๕ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้


๑. เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐเสรีประชาธิปไตย


๒. ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง คือ ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๕ วัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องปกติในรัฐเสรีประชาธิปไตย การปิดถนนและการยึดพื้นที่สาธารณะบางส่วนเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุม หากการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายใด รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้


๓. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่เพียงต่อผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนเป็นสำคัญ


เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง เราเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงยังอยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หากรัฐบาลต้องการให้ผู้ชุมนุมออกจากสถานที่สาธารณะ รัฐบาลสามารถใช้มาตรการอื่นๆได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนกรณีระเบิดตามสถานที่ต่างๆในแต่ละวันนั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่ามีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพจำนวนมาก ทั้งในแง่ความเข้มข้นของมาตรการและในแง่พื้นที่ซึ่งครอบคลุมในหลายจังหวัด


เราเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงยังไม่ถือเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ อันเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน


๔. มาตรา ๑๖ ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง นั่นหมายความว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้เป็นคดีรัฐธรรมนูญ ส่วนจะอยู่ภายใต้การควบคุมของศาลยุติธรรมหรือไม่นั้น ยังไม่มีคำพิพากษาบรรทัดฐานยืนยันไว้ ความข้อนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการประกันโดยองค์กรตุลาการเพียงพอ จนอาจทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบได้


เราเห็นว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นไปเพื่อสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง รักษาอำนาจและความมั่นคงของรัฐบาลต่อไป ไม่ใช่รักษาอำนาจและความมั่นคงของรัฐ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหาให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งครั้งนี้ให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ แต่กลับเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น


เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข


รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล


วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์