ดีเอสไอตั้งทีมสอบโอ๊ค-เอมถอนเงิน เล็งฟื้นคดีซุกหุ้นเอสซี แอสเซท ศาลปค.ไม่รับคดีแม้วฟ้องปปช.

"กรณ์"แย้มได้ข้อมูลคนตระกูล"ชินวัตร"ถอนเงินจากสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษรับลูกสอบ"โอ๊ค-เอม"ถอนเงินผิดปกติ เตรียมคัดคำพิพากษายึดทรัพย์ เล็งฟื้นคดีซุกหุ้น"เอสซี แอสเซท" ศาลปกครองกลางไม่รับคดี"ทักษิณ"ฟ้อง ป.ป.ช. ฐานปิดบังข้อมูล"ทีพีไอ"




 


นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ถึงกรณีนายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ขู่จะฟ้องร้องกรณีมีการแทรกแซงการทำงานของธนาคารพาณิชย์ ว่า คงต้องไปถามกรมสรรพากร เพราะก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ ธปท.ทำหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ให้ทำรายงานการเบิกถอนเงินของนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ให้สรรพากรทราบในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ค้างชำระภาษี



นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. กล่าวว่า การอายัดเงินของตระกูลชินวัตรไม่เกี่ยวกับ ธปท.ที่ต้องเข้าไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด และการที่จะให้ ธปท.ออกกฎเกณฑ์ควบคุมเงินไหลเข้า-ออก ก็ขัดต่อนโยบายการเปิดเสรีเงินทุน จึงเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมเงินไหลเข้า-ออก อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีรายงานการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศที่ผิดกฎหมาย



นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า สภาพคล่องในระบบขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และตามเกณฑ์ ธปท. ธนาคารพาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์ที่เป็นสภาพคล่องไม่น้อยกว่า 6% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ในจำนวนนี้ต้องเป็นเงินสดกับสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ ซึ่งขณะนี้มีสินทรัพย์ในระบบรวม 10 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อและเงินฝากเท่ากัน ประมาณ 7 ล้านล้านบาท หากจะมีการเบิกถอนเงินของตระกูลชินวัตรทั้งหมด 7.6 หมื่นล้านบาท ก็ไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ เพราะคิดเป็นเพียง 1% ของยอดเงินฝากรวมเท่านั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสัดส่วนการอายัดเงินไว้สูงสุด เพราะธนาคารไทยพาณิชย์มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท เพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อและรองรับการถอนเงินได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องรายงานการเบิกถอนเงินให้ ธปท.ทราบ เพราะ ธปท.ไม่ได้ติดใจอะไร



นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ว่า ดีเอสไอได้รับหนังสือจำนวนหนึ่งหน้าครึ่ง จากกรมสรรพากรให้ตรวจสอบกรณีการถอนเงินออกจากธนาคารของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่ โดยดีเอสไอได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าว มี พ.ต.อ.มานิต ธนะสันติ ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินและการธนาคาร เป็นประธาน เนื่องจากเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คาดว่าภายในวันที่ 2 เมษายนนี้ จะทราบว่าเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ พ.ร.บ.ภาษีอากรหรือไม่ ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ



ส่วนกรณีการรื้อฟื้นคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น นายธาริตกล่าวว่า หลังจากดีเอสไอได้ทำหนังสือไปยังศาลฎีกาเพื่อขอเอกสารคำเบิกความ คำร้อง คำคัดค้าน รวมทั้งพยานประกอบคำเบิกความทุกส่วนนั้น ศาลได้อนุญาตให้ดำเนินการได้ ดังนั้นดีเอสไอจึงอยู่ระหว่างการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการคัดสำเนาดังกล่าว เพื่อนำมาพิจารณาว่าหลักฐานใดเป็นหลักฐานใหม่ อันจะนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวได้



วันเดียวกัน ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองกลางเจ้าของสำนวน มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งที่ 82/2551 ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ แล้วต่อมามีหนังสือลับที่ ปช.0012/1175 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ไม่อนุญาตให้นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้ฟ้องคดี เข้าตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว ของผู้ถูกกล่าวหาที่มีสิทธิเพียงนำทนายความเข้าฟังการชี้แจงเท่านั้น โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อน ไม่สามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ไม่อาจหักล้างข้อกล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดีได้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว



ศาลปกครองตรวจคำฟ้องและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเรื่องของการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา และหากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะตรวจสอบพยานหลักฐาน สามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ที่สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เมื่อถูกผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธได้ การที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ จึงยังไม่เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้อง ตามมาตรา 42 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


 


 


 


 


 













ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน

 

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์