เผยแผนรัฐบาลยุบสภา 6ธ.ค.เลือกตั้ง23ม.ค.54

รองโฆษกปชป.เปิดโรดแม็ป"สุเทพ"วางกรอบปลดล็อก ช้าเร็วอยู่ที่แกนนำนปช.จะรับเงื่อนไข ยอมรับหลายกลุ่มยิงถล่ม โยนบึ้ม เชื่อ2วันเจรจาไม่เสียหาย


ภายหลังการประชุม น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

แถลงว่า ที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเจรจาระหว่าง ตัวแทนนปช.กับรัฐบาลล้มเหลว ซึ่งพรรคผิดหวังกับที่นปช.ปฏิเสธการหารือและแนวทางของรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้วิเคระห์สถานการณ์ว่า มียุทธศาสตร์ 3 ด้านของกลุ่มนปช. คือ 1.กดดันเพิ่มความเสียหายทำให้เกิดการเผชิญหน้า 2.การสร้างความวุ่นวาย ก่อวินาศกรรมหลายจุด และ 3.สร้างเงื่อนไขเพื่อเข้าสู่การเจรจาต่อรอง โดยเป็นการร่วมกันระหว่างนปช. พรรคเพื่อไทย ในการต่อรองนำสู่การยุบสภา เพื่อเข้าสู่อำนาจ


น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ที่ประชุมประเมินผลการเจรจาสองวันที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลมีกำไร

เพราะมวลชนเสื้อแดงได้ดูคำชี้แจงของนายกฯ และเข้าใจและเห็นความจริงใจนายกฯมากขึ้น โดยหลังการเจรจาวันแรก มวลชนคนเสื้อแดงไม่พอใจแกนนำของตัวเอง ทำให้ พล.ต.อ.ชัชจ์ กุลดิรก ถึงกับต้องขึ้นเวทีทำความเข้าใจว่าแกนนำทำได้ดีแล้ว และวันที่สองคือแกนนำเสื้อแดงตั้งใจจะมาเอาคืน จึงทำให้โต๊ะเจรจาล้ม 


รองโฆษกคนเดิมกล่าวอีกว่า พรรคประเมินการชุมนุมยังยืดเยื้อและจะมีการยั่วยุจนกว่าเจ้าหน้าที่จะพลาด และถูกโยนบาปให้เจ้าหน้าที่รัฐ

และจากข้อมูลวงในแจ้งว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ แจ้งกับกลุ่มตัวเองว่านายใหญ่ไม่ต้องการให้มีการทำประชามติ แต่ต้องการนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้เพื่อที่จะได้กลับประเทศได้ แต่ถ้าจะมีการทำประชามติจริงจะต้องเพิ่มประเด็น"นิรโทษกรรม" "นายสุเทพยังได้ชี้แจงเรื่องการยิงระเบิดในช่วงนี้ กลุ่มอยู่เบื้องหลังมีหลายกลุ่ม และจ้างกันเป็นทอดๆ มีทั้งนายทหารเก่าและตำรวจเก่า ที่รู้ช่องทาง ทำให้ยากต่อการจับกุม นายสุเทพจึงชี้แจงว่า จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธทุกจุด โดยเฉพาะสายตรวจ ยกเว้นเจ้าหน้าที่อยู่ใกล้ที่ชุมนุม ดังนั้นจากนี้จะเห็นทหารบนทางด่วนทั้งขาขึ้นและขาลง เนื่องจากเป็นจุดที่ยิงอาวุธเข้าไปได้ง่าย" 


น.พ.วรงค์ กล่าวอีกว่า นายสุเทพยังบอกด้วยว่ารัฐบาลได้ทำโรดแม็ปไว้เรียบร้อยแล้ว

หากการเจรจาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.สำเร็จในการประชุมครม.วันเดียวกันนี้ก็จะนำประเด็นการทำประชามติเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม. จากนั้นในวันที่ 5 เม.ย.นายกฯจะไปพบกับประธานวุฒิสภาและประธานสภาเกี่ยวกับการทำประชามติ หลังจากนั้นกฎหมายยังกำหนดว่ารัฐบาลต้องทำความเข้าใจในระยะเวลา 90-120 วัน ซึ่งคิดสั้นสุดคือ 90 วัน ตรงกันวันที่ 4 ก.ค. จากนั้นวันที่ 11 ก.ค.จะประกาศผลประชามติ วันที่ 13 ก.ค.จะเสนอครม.ให้ความเห็นชอบประเด็นที่ผ่านประชามติ และเสนออนุมัติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขในวันเดียวกัน 


ทั้งนี้จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระแรกวันที่ 21 ก.ค.

จากนั้น วันที่ 22 ก.ค. ถึงวันที่ 21 ก.ย.จะเป็นเรื่องในชั้นกรรมาธิการ การทำประชาพิจารณ์ และการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยหลังผ่านวาระสองแล้ว กฎหมายกำหนดว่าต้องรอ 15 วัน ซึ่งจะเข้าวาระสามได้ในวันที่ 8 ต.ค. และวันที่ 30 ต.ค. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ 


จากนั้นจะมีการพิจารณากฎหมายลูกต่างๆ และคาดว่าจะประกาศยุบสภาได้ในวันที่ 6 ธ.ค. และในวันที่ 23 ม.ค.54 จะให้มีการเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น อาจใช้เวลาเพียง 8 เดือนเศษเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นกับว่าการเจรจาจะลงตัวได้ในวันไหน จึงจะสามารถเดิมนับตามโรดแม็ปได้ 
"โรดแม็ปนี้นายสุเทพยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องด้วย แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่รับเงื่อนไข รัฐบาลยังคิดว่ายังมีสิทธิชุมนุม โดยจะวางมาตรการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย" รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อ้างคำพูดของเลขาธิการพรรค


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์