นักวิชาการเปรียบ ทักษิณ ร้ายกว่าฮิตเลอร์
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 8 มีนาคม 2549 21:11 น.
ผู้ร่วมก่อตั้งไทยรักไทย มากับมือ ชี้ ใกล้ถึงเวลาอวสานแล้ว จวกเผด็จการ ฮิตเลอร์ ยังรักชาติ ไม่เหมือนกับเผด็จการยุคใหม่ที่ขายแม้กระทั่งชาติตัวเอง โต้ ทักษิณ-ลูกหาบ กรณีใช้มาตรา 7 ยันไม่ได้ฉีก รธน.ยกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่เคยงดใช้ธรรมนูญการปกครอง และนำกระบวนการประชาธิปไตยแก้วิกฤต-แต่งตั้งนายกฯพระราชทาน
วันนี้ (8 มี.ค.) ที่วชิราวุธวิทยาลัย นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย หนึ่งในทีมนักวิชาการที่ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่า มีแนวโน้มที่พรรคไทยรักไทยกำลังจะล่มสลาย เพราะพรรคนี้ยึดถือที่ตัวหัวหน้าพรรคคนเดียว ตั้งแต่สมัยที่ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมา จุดมุ่งหมายของพรรคเพื่อขยายฐานการเมืองภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยพัฒนามาภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองนี้ เพระทุกอย่างไปรวมอยู่ที่ตัวคนๆ เดียว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของการบริหารจัดการ เมื่อคนๆ นี้ล้ม ทุกอย่างจึงล้มหมด
ส่วนที่มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ เปรียบเสมือนฮิตเลอร์นั้น ก็มีส่วน แต่ฮิตเลอร์สมัยก่อน แม้ได้อำนาจจากการเลือกตั้งก็มาปิดหัวหนังสือพิมพ์ และสร้างกลไกตลาดต่างๆ เข้ามาครอบงำประชาชน แต่ฮิตเลอร์สมัยใหม่เข้ามาจากการเลือกตั้ง ใช้วิธีควบคุมสื่อด้วยวิธีแอบแฝง และรวมศูนย์อำนายบริหารไว้ที่ส่วนกลาง คือ ผู้ว่าฯ ซีอีโอ แต่ฮิตเลอร์สมัยก่อนไม่ทุจริตคอร์รัปชัน มีความรักชาติ ไม่นำสมบัติของชาติไปขายให้ต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากฮิตเลอร์สมัยใหม่ที่นำสมบัติของชาติไปขาย ไม่รักชาติ เช่น พยายามเปิดเสรีทางการค้า หรือเอฟทีเอโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ดังนั้น ฮิตเลอร์สมัยใหม่จึงร้ายกว่าฮิตเลอร์ในอดีตมาก
นายธีรภัทร์ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ได้กับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ว่า ตนเห็นแย้งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย เพราะกรณีที่จะให้มีการบังคับใช้มาตรา 7 มีอยู่ 4 กรณี คือ 1.กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ แต่เคยมีจารีตประเพณี 2.กรณีที่มีบทบัญญัติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ปฏิบัติไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนไข เงื่อนเวลาเปลี่ยนไป อาทิ การสรรหากรรมการในองค์กรอิสระที่กำหนดเงื่อนเวลาไว้แล้วแต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือกรณีไม่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3.กรณีที่มีบทบัญญัติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเงื่อนไขครบ เงื่อนเวลาไม่มีปัญหา สามารถปฏิบัติได้ แต่เมื่อปฏิบัติแล้วทำให้เกิดผลเสียหายตามมา อาทิ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าน่าจะเกิดความเสียหายแน่นอน เพราะการเลือกตั้งขาดความเป็นอิสระ ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่สมเหตุสมผล และไม่มีฝ่ายค้าน
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า 4.กรณีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้รัฐธรรมนูญ การบริหารราชการแผ่นดินสะดุดหยุดลง ซึ่งอาจจำเป็นต้องงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือทั้งฉบับ เช่น เกิดภัยพิบัติสาธารณะ เกิดสงครามสู้รบ จนไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งต่อไปได้ หรือต้องจำกัดเสรีภาพบางประการ ห้ามผู้คนนอกเคหสถาน กรณีดังกล่าวนี้รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่แต่ละฝ่ายไม่ยอมซึ่งกันและกัน มีการนำประชาชนมาประจันหน้ากัน หรือปะทะกัน ซึ่งมีการคาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดสถานการณ์ดังกล่าวได้
มาตรา 7 ไม่ได้หมายความถึงการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือการใช้งดรัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือทั้งฉบับก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่กลับเป็นการป้องกันและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น จึงมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน นำธรรมนูญการปกครอง ราชอาณาจักร พ.ศ.2514 ขึ้นหิ้งไว้ แล้วดำเนินการตามกระบวนการประชาธิปไตย มีการตั้งสมัชชาสนามม้า แล้วใช้ธรรมนูญเท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่ใช้ขนบธรรมเนียมประชาธิปไตยแทนเกือบทั้งหมด โดยไม่ได้ยกเลิกธรรมนูญดังกล่าว นายธีรภัทร์ กล่าว