คอลัมน์ เหล็กใน
จะมีปัญหาเรื่องการจราจรที่ติดขัดบ้างวันที่ม็อบแดงยกขบวน 3-4 หมื่นคน ไปประท้วงหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (บางเขน)
หรือวันที่ไปละเลงเลือดหน้าบ้านพักนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ซอยสุขุมวิท 31
โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าคนกรุงยอมรับได้
อาจเป็นเพราะผ่านปรากฏการณ์ม็อบที่รุนแรงและเดือดร้อนกว่านี้มาแล้ว
แต่ที่น่าวิตกกังวลเพราะมีเหตุการณ์สอดแทรกขึ้นมา
โดยเฉพาะเหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 เข้าใส่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ริมถนนวิภาวดีฯ ถล่มรวดเดียว 6 ลูกซ้อน จนทหารรักษาการณ์ได้รับบาดเจ็บไป 2 นาย
เกิดเหตุช่วงที่ม็อบแดงเคลื่อนขบวนไปประท้วงที่ราบ 11 พอดิบพอดี!?
ถัดมาอีกวันก็เกิดเหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 อีก 2 ลูก ใส่บ้านนักธุรกิจย่านลาดพร้าว 23
แต่การข่าวสงสัยว่าเป้าหมายอาจเป็นบ้านพักของนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งห่างไปประมาณ 300 เมตร แต่ยิงพลาดไป
หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ม็อบจะชุมนุมใหญ่ก็เกิดเหตุการณ์ยิงเอ็ม 79 ใส่ตึกบัญชาการ บก.ทบ.
และยิงใส่ม.เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชย์พระนคร ใกล้ๆ กับทำเนียบรัฐบาล
รวมไปถึงการวางระเบิดที่ทำการศาลฎีกา สนามหลวง
ทั้งหมดนี้ใครต่อใครก็พากันฟันธงว่าเป็นกลุ่มมือที่ 3 ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง
แล้วมือที่ 3 ที่ว่านี้จะเป็นกลุ่มไหน?
วิเคราะห์กันว่ากลุ่มแรกเป็นพวกหัวอนุรักษนิยม ที่เกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงขึ้นให้ลุกลามใหญ่โตจนบ้านเมืองวุ่นวาย
หวังให้ทหารเข้ามาปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อที่จะล้างเครือข่ายทักษิณให้สิ้นซากไปในคราวเดียวกัน
กลุ่มนี้ไม่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภา ไม่กล้าเสี่ยงให้มีการเลือกตั้งใหม่ กลัวแพ้พรรคเพื่อไทย
เพราะเชื่อว่าถ้าแพ้เมื่อไหร่ ทักษิณกลับมาแน่!!
อีกกลุ่มเป็นพวกฮาร์ดคอร์ที่สนับสนุนทักษิณ
แก๊งนี้ต้องการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้บ้านเมืองวุ่นวายเหมือนกัน
แต่คนกลุ่มนี้ประเมินว่าหากสถานการณ์เลวร้ายและลุกลาม ทหารจะไม่ปฏิวัติอีก แต่จะเลือกใช้วิธีบีบให้นายกรัฐมนตรียุบสภาหรือลาออกแทน
ฉะนั้น สถานการณ์ตอนนี้ ทหารและตำรวจต้องรับบทบาทหนัก ต้องระแวดระวังไม่ให้มือที่ 3 ก่อการได้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเกิดความสูญเสียขึ้นแน่ๆ
เพราะแค่นี้ก็บอบช้ำมากแล้ว
และต้องวัดใจกองทัพว่าถ้าสถานการณ์รุนแรงเกินที่จะควบคุมได้จริงๆ
จะเลือกใช้วิธีใดเข้ายุติปัญหา
จะปฏิวัติล้างเครือข่ายทักษิณ หรือกดดันให้นายกฯ ยุบสภา-ลาออก
ตัวอย่างในอดีตเป็นบทเรียนอยู่แล้ว!?