มีทั้งค้าน-หนุน มีชัย นั่งประธานสภาฯ

"กลุ่มคนหลากหลาย ทั้งต้าน ทั้งหนุน"


จากกรณีที่จะเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (15 ต.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในฐานะรองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาต่อต้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ให้เป็นประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติฯว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติฯเป็นกลุ่มคนที่หลากหลาย

มีทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพรรคการเมือง รวมถึงพรรคไทยรักไทยก็เข้ามาอยู่ในสภานิติบัญญัติฯด้วย อย่าไปนึกว่าใครเป็นปฏิปักษ์ ส่วนตัวเห็นว่าประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติฯจะเป็นใครก็ได้ เพราะประธานสภาฯเป็นผู้ที่ต้องบริหารการประชุมสภาฯและรู้กฎระเบียบ เมื่อถามว่าประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติฯต้องเป็นทหารหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตตอบว่าใครก็ได้ ไม่ใช่ว่าคนที่มีวุฒิภาวะสูงๆจะมานั่งเป็นประธานแล้วบริหารการประชุมได้

"เป็นการตบรางวัล"


นายทวี สุรฤทธิกุล ประธานกรรมการประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการคัดเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีรายชื่อแคนดิเดตหลายคน ทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายชัยอนันต์ สมุทวณิชว่า เรื่องนี้ได้ยินข่าวว่ามีการล็อกสเปกเอาไว้ที่ชื่อนายมีชัย โดยทราบว่ามีผู้ใหญ่กระซิบอ้อมๆมายังสมาชิกสภานิติบัญญัติฯคนอื่นๆว่า นายมีชัยก็เข้ามาทำงานให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้งแต่เริ่มแรก

ดังนั้นคงเป็นการตบรางวัลเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้โอกาสแก่นายมีชัยได้แสดงฝีมือทำงาน เพื่อพิสูจน์บทบาทความเป็นกลาง หรือคุณสมบัติส่วนตัวที่มีหลายฝ่ายเคลือบแคลงสงสัย มองในแง่ไม่ดี หากนายมีชัยเป็นประธานสภานิติบัญญัติฯจริง คงต้องถือเป็นวาระพิเศษตามที่จะอ้างว่าเพื่อความสมานฉันท์ แต่หากเกิดปัญหาหรือความไม่ชอบมาพากลอะไรขึ้น คมช.ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

"รู้สึกอึดอัดเหมือนการล็อกสเปก"


นายทวีกล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนมาจากกลุ่มเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยที่ต่อต้านเรื่องล็อกสเปกมาโดยตลอด จึงรู้สึกอึดอัดใจมาก ดังนั้นสมาชิกสภานิติบัญญัติสายนักวิชาการ คงต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานในสภาฯอย่างเต็มที่ เมื่อถามว่านายประพันธ์ คูณมี สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ และสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ สายเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาสนับสนุนน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ โดยอ้างว่าเหมาะสมมากกว่านายมีชัย นายทวีกล่าวว่า เท่าที่ทราบมีการส่งสัญญาณไปถึงเครือข่ายพันธมิตรฯกันเองแล้วว่า

การดำเนินการต่อจากนี้ไปกลุ่มพันธมิตรฯจะต้องปรับปรุงบทบาทให้อยู่ในกรอบ และแยกบทบาทออกเป็นสองส่วน โดยส่วนที่จะเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คงต้องหยุด แต่ควรต่อต้านในสิ่งที่ไม่ดี เช่น นโยบายต่างๆของรัฐบาลเก่าไม่ดีก็ว่ากันไป และเครือข่ายพันธมิตรฯที่ได้เข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯคงได้รับสัญญาณดังกล่าวด้วย

"ควรเป็นคนที่ไม่มีใครเคลือบแคลง"


ด้านนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติฯว่า ประธานสภานิติบัญญัติฯควรเป็นใครก็ได้ที่ไม่ผูกโยงจนทำให้คนเคลือบแคลงสงสัย แต่ต้องเป็นผู้สะท้อนความเห็นที่หลายหลาก ซึ่งมีทั้ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ แต่ไม่เอานายมีชัย ฤชุพันธุ์ เพราะจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของสภานิติบัญญัติฯหมดไป

นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ที่เหมาะสมเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ในส่วนของสื่อคงไม่เสนอใคร จะขอรับฟังความ คิดเห็นของหลายๆคนก่อน ส่วนกรณีที่มาของตัวแทนองค์กรสื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯนั้น ก่อนหน้านี้ตัวแทนองค์กรสื่อ 7 องค์กร ได้เชิญนักข่าวอาวุโสมาร่วมประชุม อาทิ นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นายเทพชัย หย่อง

"ต้องชัดเจนในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน"


นายสุทธิชัย หยุ่น โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ เห็นด้วยว่าจะต้องปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลรัฐประหารจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นว่าเมื่อสภานิติบัญญัติฯ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมัชชาแห่งชาติจะมาจากทุกภาคส่วนของสังคม จึงน่าจะมีตัวแทนสื่อเข้าไปด้วย โดยเสนอให้ นายมานิจ สุขสมจิตร

เป็นตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอให้ตน นายสมชาย แสวงการ และนายภัทระ คำพิทักษ์ เป็นสมาชิกนิติบัญญัติฯ จากนั้นได้เข้ายื่นข้อเสนอให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช. ทั้งนี้ เมื่อได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯแล้ว เราก็จะไม่ลืมบทบาทสื่อที่มีหน้าที่ตรวจสอบและทำงานอย่างเต็มที่ จะไม่เข้าไปเป็นตรายางให้ใครแน่

"เป็นเพียงสภาตรายาง"


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงถึงกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเลือกนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นเป็นประธานสภานิติบัญญัติฯว่า นายมีชัยใกล้ชิดกับ คมช.และรัฐบาล และเข้าใจว่าเป็นเพียงสภาตรายางเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับรัฐบาลและ คมช. อีกทั้งประวัติและผลงานทางกฎหมายของนายมีชัยได้สร้างปัญหาให้ กับหลายฝ่าย

ดังนั้น ครป.ขอเรียกร้องให้นายมีชัยถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ นอก จากนี้ไม่เห็นด้วยหากจะตั้งนายทหารมาเป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ ส่วนคุณสมบัติของประธานสภานิติบัญญัติฯนั้น จะต้องเป็นผู้ที่แสดงวิสัยทัศน์ในการจัดการสะสางระบอบทักษิณ วางแนวทางสมานฉันท์ สร้างกรอบปฏิรูปการเมือง ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล

ด้านนายนิพนธ์ แก้วมณี กรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 14.00 น. คณะกรรมการญาติวีรชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ คมช. เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งนายมีชัยเป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ร่างกฎหมายให้ รสช.พ้นผิด


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์