อภิสิทธิ์ปบอกไม่มีความเห็น จาตุรนต์นั่งรักษาหน.ทรท.

"ไม่มีความเห็นแต่ประหลาดใจ"


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่แสดงความเห็น จาตุรนต์ ฉายแสง นั่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ชี้เป็นเรื่องภายใน ขณะนี้ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะกฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้ ตัวแทนองค์กรประชาธิปไตย พรรคการเมือง ร่วมงานครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา เพียบ

(14ต.ค.)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปร่วมงานรำลึกครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประจำปี 2549 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคไทยรักไทยแต่งตั้งให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่าตนไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่รู้สึกประหลาดใจ เพราะปกติแล้วผู้ที่เป็นรองหัวหน้าพรรคก็ต้องรักษาการตามข้อบังคับของพรรคอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ข้อยุติเป็นแบบนี้ถือเป็นสิทธิของพรรคไทยรักไทย

"ไม่เข้าแทรกแซง"


ส่วนกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอันดับ 1 ไม่ตอบรับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นปัญหาภายในของพรรคไทยรักไทย ตนคงไม่เข้าไปแทรกแซง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประกาศกฎอัยการศึกยังมีผลบังคับ ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงยังทำอะไรไม่ได้ คงต้องรอให้ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกก่อน

ส่วนเรื่องคดียุบพรรค นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำให้การกับศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว รอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเรียกไปชี้แจง

งาน14ตุลาคึกคักองค์กรปชต.ร่วมงานคับคั่ง


ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประจำปี 2549 ได้มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 33 รูป โดยมีญาติวีรชนและวีรชนจำนวนหนึ่งมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

เวลาประมาณ 08.00 น. ตัวแทนองค์กรประชาธิปไตยวางพวงมาลา อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตัวแทนเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ตัวแทนมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จากนั้นประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา และพิธีกล่าวสดุดีวีรชน โดยนายอภิรักษ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบแนวทางประชาธิปไตย ซึ่ง กทม.จะร่วมกับคณะกรรมการ 14 ตุลา 16 จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เพื่อสะท้อนแนวทางประชาธิปไตยในทิศทางที่สร้างสรรค์

"ควรตรวจสอบอำนาจรัฐ"


ด้านนางรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยต้องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะต่อให้เป็นคนดีแค่ไหนก็มีโอกาสคอร์รัปชั่น ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยต้องตรวจสอบได้ ขอให้ผู้ที่ยึดอำนาจระลึกไว้ว่ารัฐธรรมนูญที่แท้จริงไม่อาจถูกฉีกทิ้งได้ เพราะประชาธิปไตยได้กลายเป็นสายเลือดและจิตวิญญาณ หากการยึดอำนาจนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองและเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์จึงจะถือว่าเป็นการรักษาอำนาจได้อย่างแท้จริง

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน นักปกป้องเพื่อสิทธิชุมนุม กล่าวว่า บ่อยครั้งที่ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมือรับรองความชอบธรรมจากอำนาจเผด็จการ เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามเข่นฆ่าประชาชน เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา นักต่อสู้ด้านสิทธิเสรีภาพกว่า 20 คน ถูกลักพาตัวหายไป และไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ค้นหาผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ใช้รับรองให้กับผู้ที่ไม่เป็นธรรม นำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ผู้กระทำความผิดอย่างเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยถูกลงโทษ

"อนาคตการเมืองไทย"


เพราะเป็นความสอดคล้องในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่มาแปรรูปเป็นสินค้า โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนในประเทศ เนื่องจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะปรับตัวตามนโยบายเศรษฐกิจพอพียง แต่จะเป็นในลักษณะใดก็คงต้องรอดูรายละเอียดจากรัฐบาลต่อไป

จากนั้นเวลา 10.00 น.ได้มีการจัดรำลึก 33 ปี โดยมี ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ กล่าวปาฐกถาเรื่อง อนาคตการเมืองไทย : ขบวนการประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม เนื้อหาบางส่วนว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 เป็นเหตุการณ์จุดเริ่มต้นหนึ่งของการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการพัฒนาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนต่อไป ซึ่งประชาธิปไตยของไทยแบ่งได้เป็น 3 ช่วงที่เป็นช่วงเริ่มต้น ช่วงกลาง และช่วงปัจจุบัน ที่ประชาธิปไตยจะก้าวไปสู่อนาคต

"ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ"


อดีตที่ผ่านมาเคยมีการเรียกร้องสำเร็จในหลายเรื่อง หากย้อนมองดูในปี พ.ศ.2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากคณะราษฎร ภาคประชาชนที่เป็นภาคสังคมทั่วไป ยังไม่มีบทบาทขับเคลื่อนประชาธิปไตยเท่าที่ควร เป็นช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง ครั้นต่อมาในช่วง 14 ตุลา เป็นช่วงประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน เกิดความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเป็นอย่างมากมาย มีการแบ่งเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ทำให้ภาคประชาชนเริ่มเติบโตมากขึ้น

ศ.ดร.อมรา กล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยยุคต่อมาดีขึ้นสมบูรณ์แบบ ที่เรียกกันได้ว่า ประชาธิปไตยเต็มใบเกิดแบบเต็มตัว เพราะบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาจากการเลือกตั้ง เริ่มเห็นได้ตั้งแต่พ.ศ.2530 เป็นต้นมา สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องมีการเน้นความเป็นธรรม จริยธรรมในสังคม ได้ให้สิทธิการเคลื่อนไหวมีการจัดเป็นองค์เยอะขึ้น เพราะการดำเนินการเพียงคนเดียวไม่มีแรงในการขับเคลื่อนนัก ครั้นมายุคปัจจุบันเกิด 19 กันยาขึ้น ไม่มีใครเรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบอีกแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกประชาธิปไตยครึ่งใบได้เช่นกัน เพราะการเรียกทั้ง 2 อย่าง ต้องเป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

"การเมือง สังคมต้องแยกกัน"


วันนี้เราต้องมองประชาธิปไตยที่แบบแยกออกจากเนื้อหา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 เผด็จการทหารทำให้เรามองว่า การเมืองกับสังคมต้องแยกออกจากกัน หากเป็นการเมืองต้องมองเป็นการเลือกตั้ง ประเด็นอื่นเป็นประเด็นสังคม ช่วงต่อมาเกิดโลกาภิวัฒน์ธุรกิจ เข้ามามีบทบาทมากๆการเมือง ธุรกิจแยกไม่ออก มีการอ้างว่า ทำตามกฎหมาย แต่ไม่คำนึงเรื่องจริยธรรม ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ประชาธิปไตยทั่วโลกได้เปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยแบบธรรมมาภิบาลไปแล้ว ศ.ดร. อมรา กล่าว

คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า การที่ภาครัฐยังไม่เปลี่ยนในลักษณะทางธรรมมาภิบาล ขณะที่ทางภาคประชาชนภาคสังคม ได้ปรับเปลี่ยนไปทำให้ความเกิดขัดแย้งทางการเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ไปในทิศทางที่ตรงกัน ตรงนี้การพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต ต้องมีการพัฒนาอย่างมีส่วนรวมอย่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ที่มีการช่วยร่างอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม เนื้อหาใน รธน.ดีมากมีความเป็นธรรม เรื่องการเรียกร้องทางประชาธิปไตยเราได้มีการขับเคลื่อนมาตลอด การป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจมาเอารัดเอาเปรียบประชาชน ถ้าประชาชนต้องการให้กลุ่มต่างๆยอมรับในสิทธิประโยชน์ของตน โดยไม่ต้องระบบผู้แทนแล้ว คงมีแต่ระบบประชาธิปไตยที่จะให้ได้ เพราะสามารถให้แสดงออกได้ อย่างไรก็ดีอยากบอกกับประชาชนว่า การเคลื่อนไหวต่างๆจะได้ผลสำเร็จ จะต้องเป็นประเด็นสาธารณะเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นในลักษณะส่วนตัว

"ไม่สามารถเรียกได้ว่าสำเร็จ"


การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ปี พ.ศ.2549 เกิดการพัฒนากระบวนการไปมากกว่าเหตุการณ์พฤษภา พ.ศ.2535 หรือ 14 ตุลา 6 ตุลา แต่ไม่สามารถเรียกได้ว่า ประสบผลสำเร็จ เราพบว่าจุดเด่นการเรียกร้องปี 49 ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายหลายเครือข่ายมีประเด็นสาธารณะชัดเจนคือ ขับไล่นายกฯทักษิณ ที่ขาดความชอบธรรมหลายอย่าง เช่น ปัญหาภาคใต้ ที่คนภาคใต้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนไม่ต้องการทักษิณ ซึ่งปัญหาตรงนี้ต่อไปหวังว่า น่าจะคลี่คลายขึ้นได้

ศ.ดร.อมรา กล่าวทิ้งทายว่า อยากให้ทุกคนได้ตระนักสังคมประชาธิปไตย ที่เรื่องจริยธรรมของผู้นำที่ต้องสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม ที่เราทุกคนได้เรียกร้องในปี พ.ศ. 2549 ที่ผู้นำต้องมีจริยธรรมพิเศษกว่าบุคคลธรรมดา มาช่วงในช่วงนี้ที่ประเทศไทยมีทุนนิยมเข้ามาอย่างเต็มตัว ประชาธิปไตยกำลังเติบโตอย่างเต็มที่ แต่จริยธรรมไม่ได้โตพัฒนาไปด้วย

"ผู้นำต้องมีมาตรฐานสูงกว่ากฏหมาย"


อยากให้เราได้เรียกร้องประชาธิปไตยแบบธรรมมาภิบาล ที่ผู้นำต้องมีมารตราฐานสูงกว่าขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ก็กำลังชูประเด็นนี้ โดยเฉพาะตัวของนายกฯว่า ไม่มีปัญหาเรื่องของจริยธรรม แต่เราคงต้องจับตาคนอื่นๆในคณะทำงาน ไม่ว่า คณะรัฐมนตรี องค์กรต่างๆที่เกิดขึ้นตรงมีฐานจริยธรรม เช่น ดียวกัน

เราคงต้องตรวจสอบฐานจริยธรรมในสังคมต่อไป ไม่ให้เหตุการณ์ 19 กันยา นำพาเรากลับไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่มีจริยธรรม ไม่มีความเป็นธรรมในสังคม เรายังไว้ใจไม่ได้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีกลไกตรวจสอบเยอะยังถูกแทรกแซงเลย ดังนั้นเราต้องเป็นกลไกตรวจสอบอย่างเต็มที่ ตามบทบาทภาคประชาสังคม ที่ตรวจสอบรัฐบาลทุกยุคสมัย เพื่อนำความในความเป็นธรรมทางสังคมให้กับประชาชน เพื่อที่เราจะมั่นใจว่า ผู้นำของเรานำไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย ทางตรงหรือทางอ้อม แต่เป็นประชาธิปไตยที่ช่วยประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันแบบไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบกัน ศ.ดร.อมรา กล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์