ย้ำไม่เอาปฎิวัติแน่ วอน ปชช.ร่วมมือกับรัฐ ขอให้อดทน-อดกลั้น ย้ำจะยึด กม.-รธน.-คำตัดสินศาลเป็นหลัก
วันนี้(11 มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง ผลกระทบต่อประชาชนในกรุงเทพมหานครจากการชุมนุมใหญ่ ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค.นี้ ว่า ส.ส.กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ 30 คน มีความเป็นห่วงเพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือคนในกรุงเทพ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง เพราะมีแกนนำเสื้อแดงบอกว่าให้เตรียมขวดน้ำมันมาด้วยหากผู้ชุมนุมโดยทำร้ายกรุงเทพจะเป็นทะเลเพลิง และยังประกาศว่าตรงนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้าย ไม่ชนะไม่แตกหัก ไม่กลับบ้าน รวมถึงมีการพูดว่ามีคนๆหนึ่งพร้อมพลีชีพ และขณะนี้ก็มีข่าวการก่อวินาศกรรมเป็นระยะๆ รวมถึงที่โรงพยาบาลศิริราช ทั้งนี้ การที่รัฐบาลประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ล่วงหน้าเพราะสาเหตุใด และนายกรัฐมนตรีมั่นใจ และกล้ายืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดสงครามกลางเมือง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จุดยืนรัฐบาลที่เกี่ยวกับการชุมนุมชัดเจนคือการเคารพสิทธิ์ประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญคือสงบ และปราศจากอาวุธ โดยไม่กระทบต่อประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 9 ต.ค.51 วางแนวทางชัดเจนเกี่ยวกับผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ไว้ชัดเจน คือ สามารถชุมนุมได้ แต่ถ้ามาสร้างความหวาดกลัว ปิดล้อมสถานที่ ขัดขวางเจ้าหน้าที่ และส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนนั้น การชุมนุมจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ เราทำตามหลักสากล และตามสิทธิมนุษยชน ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งตรงนี้ไม่เหมือนกับการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะการประกาศ พ.ร.บ.นั้น มุ่งป้องปรามเหตุไม่ใช่การปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประกาศใช้ใน กทม. ชะอำ ภูเก็ต หัวหิน ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า ข่าวสารในขณะนี้มีมากมาจากทุกฝ่ายรวมถึงทำร้ายกันเองเพื่อสร้างเงื่อนไข ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีมาตรการไม่ให้เป็นเหยื่อการชุมนุม นอกจากนี้รัฐบาลจะมีการเปิดเผยข้อมูลให้สื่อได้ติดตามอย่างโปร่งใส ถ้าทุกคนอยู่ในกรอบกฎหมายก็สามารรถจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ เพราะถ้ามีความรุนแรงไม่มีใครได้รับชัยชนะ มีแต่ความเดือดร้อนของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
นายองอาจ ได้ถามต่อว่า ขณะนี้มีการวิเคราะห์จากสื่อทั้งในและต่างประเทศว่า หากการชุมนุมในครั้งนี้เกิดเหตุการณ์รุนแรง นายกรัฐมนตรีมี 3 ทางเลือก คือ ยุบสภา ลาออก หรือเกิดปฎิวัติรัฐประหาร อยากทราบว่านายกรัฐมนตรีจะมีแนวทางใดในการแก้ปัญหานี้
นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า ตนขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลจะดำเนินการทุกวิถีทางไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และเมื่อถามถึง 3 แนวทางเลือกนี้ ก็ไม่ทราบว่าผู้ถามนั้นถามภายใต้เงื่อนไขอะไร ซึ่งตนจะเลือกแนวทางที่ยึดเอาประโยชน์ส่วนรวมให้บ้านเมืองไปข้างหน้า และตนไม่เคยปิดทางยุบสภาหรือลาออก แต่ต้องมั่นใจว่าตรงนี้เป็นทางออกทำให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีความขัดแย้ง หรือกระทบต่อระบบ ส่วนการปฏิวัติรัฐประหารนั้น เรามีหน้าที่ไม่ให้เกิดขึ้นเพราะการปฏิวัติมีแต่บาดแผลความเสียหายเพิ่มเติม ทำให้บ้านเมืองถอยหลังในสายตาชาวโลกและทำให้ประเทศไทยไปสู่ความรุนแรงแบบไม่จบสิ้น.