ตามที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชุมนุมนั้น รัฐบาลจึงเห็นควรประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้
ประกาศ
เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ประกาศ เจตนารมณ์ชัดเจนในการปลุกกระแสระดมมวลชน พร้อมทั้งระดมยานพาหนะเป็นจำนวนมาก และนัดชุมนุมให้เข้าร่วมในการเรียกร้องความต้องการตามแนวทางและผลประโยชน์ของกลุ่ม มุ่งหวังเพื่อสร้างกระแสความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และมีวัตถุประสงค์สุดท้ายในการกดดันให้นายกรัฐมนตรี ยุบสภาหรือลาออก โดยกำหนดให้มีการชุมนุมและเคลื่อนไหวตามเส้นทางและปิดล้อมสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่บางส่วนของปริมณฑล และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประกอบการชุมนุมดังกล่าวมีเจตนาดำเนินการในลักษณะยืดเยื้อ และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมด้วยกัน หรือกับประชาชนผู้สุจริต หรืออาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มก่อเหตุระหว่างการชุมนุม และขยายลุกลามจนเกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายให้กับประเทศโดยรวม
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการในการรักษาความสงบและความปลอดภัยมีเอกภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขมิให้สถานการณ์ขยายตัวลุกลาม เป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบหรือหากเกิดสถานการณ์ขึ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553 ดังต่อไปนี้
1. ให้เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอธัญบุรี อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ อำเภอพระประแดง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2. ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงาน ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออื่น เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่าง 11 มีนาคม ถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553
ประกาศ ณ วันที่...มีนาคม พ.ศ. 2553
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
นายกรัฐมนตรี
รายละเอียดการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
ประกาศ
เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่
ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้า ที่ตามกฎหมาย
ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏ เหตุการณ์อันควรกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอธัญบุรี อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ อำเภอพระประแดง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 และมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มี อำนาจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การอนุญาต อนุมัติสั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ในสถาน การณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศพื้นที่ และห้วงเวลาปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
2. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
3. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
4. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
5. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
6. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493
7. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
8. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
9. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
10. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
11. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
12. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
13. พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
14. พระราชบัญญัติวิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498
15. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
16. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม
17. ประมวลกฎหมายอาญา
18. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นด้วย
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ให้มีอำนาจดำเนินการโดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น โดยการใช้กฎหมายดังกล่าวให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ในการนี้ การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้รับผิดชอบเดิมหมดไป ซึ่งยังครอบคลุมหน้าที่ตามปกติ
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวัน ที่ 11 มีนาคม ถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553
ประกาศ ณ วันที่...มีนาคม พ.ศ. 2553
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
นายกรัฐมนตรี
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ตามที่ได้มีประกาศเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอธัญบุรี อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ อำเภอพระประแดง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ถึงวัน ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 และมอบหมาย ให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนิน การนั้น
เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553 ออกข้อกำหนดดังนี้
1. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการ หรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการมีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการเพื่อป้องกัน ปราบ ปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
2. ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น
3. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อน ไขการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวย การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด
5. ให้บุคคลปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือ หรืออุป กรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนดเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน
ในการนี้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไข ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553
ประกาศ ณ วันที่...มีนาคม พ.ศ. 2553
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
นายกรัฐมนตรี