เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่กรมราชทัณฑ์ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับไปยังนายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ให้ดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดีความขัดแย้งทางการเมือง อาทิ นายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์ หรือเคทอง ซึ่งถูกส่งตัวเข้าควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เบื้องต้น จะควบคุมตัวไว้กับผู้ต้องหาในคดีลักษณะเดียวกันหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างไรก็ตาม ให้เป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำ ว่าจะแยกขังหรือส่งตัวไปขังรวมในแดนใดตามความเหมาะสม แต่ให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกับผู้ต้องขังอื่น เนื่องจากนักโทษในเรือนจำยังไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่ผ่านมา น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องขังคดีการเมืองก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำได้
รายงานข่าวเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เปิดเผยว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เรือนจำนำตัว นายพรวัฒน์ หรือ เคทอง มาถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ลาดยาว
เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็ได้นำตัวเข้าไปคุมขังที่แดนแรกรับ (แดน 1) โดยช่วงที่เจ้าหน้าที่นำตัวเคทอง ลงจากรถเรือนจำพบว่าเคทอง มีความวิตกกังวล มีสีหน้าเคร่งเครียด และดวงตาแดงก่ำตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงต้องปลอบใจจนเคทองอาการดีขึ้น จากนั้นก็จับทำประวัติ ตรวจร่างกาย และรับคู่มือติดคุก 1 เล่ม เพื่อไว้ศึกษาระเบียบระหว่างถูกจองจำ โดยเคทองจะถูกคุมขังอยู่บริเวณแดนแรกรับนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นทางเรือนจำก็จะคัดแยกผู้ต้องขังใหม่ไปอยู่ตามแดนต่างๆ ตามความหนักเบาของคดี โดยจะมีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมพิจารณาคัดแยก
ทั้งนี้ ส่วน 2 น้าหลานในคดีปาระเบิดแบงก์กรุงเทพ
คือนายเอกชัย มูลเกษ ทำหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ และนายไสว ยางสันเทียะ ผู้สั่งการนั้น ทางเรือนจำก็ได้นำตัวทั้ง 2 คนไปคุมขังแดนเดียวกับเคทอง พร้อมจับทำประวัติและแจกคู่มือติดคุกคนละ 1 เล่มเช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับแดนแรกรับ (แดน 1) แห่งนี้ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 400-500 คน ในจำนวนนี้มี นายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ รวมอยู่ด้วย
เคทองตาแดงก่ำ-คืนแรกในคุก
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่กองปราบปราม พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. ได้เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าคดีของพล.ต.ขัตติยะ หรือเสธ.แดง กับพวก
เปิดเผยว่า มาเร่งรัดคดีสอบสวน ของพล.ต.ขัตติยะ ใน 2 คดี คือคดีอาวุธสงครามที่ตรวจพบในค่ายทหาร และคดีซ่อนเร้นให้ที่หลบหนีแก่ผู้ต้องหา เพื่อให้พนักงานสอบสวน เร่งสรุปสำนวนส่งฟ้องทั้งสองคดีให้ได้ภายใน 12 วัน ส่วนตัวแล้วคิดว่านายทหารที่ถูกพักราชการแล้ว แต่ออกมาพกพาอาวุธไปไหนมาไหนเป็นจำนวนมากแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
พล.ต.ท.ไถง กล่าวต่อถึงการเตรียมพร้อมรับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 14 มี.ค.นี้ด้วยว่า
สำหรับ เสธ.แดง จะต้องรู้ตัวดีว่าต้องประพฤติตัวในเงื่อนไขอย่างไร ต้องไม่ส่อพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในที่ชุมนุม ส่วนกำลังของ บช.ก. นั้นได้วางกำลังพลไว้ 200 นาย ส่วนรอบนอก กทม. ตนก็ได้สั่งการให้ตำรวจทางหลวง ประสานกับตำรวจภูธร ตั้งจุดตรวจสกัด เพื่อบล็อกเส้นทาง ป้องกันไม่ให้นำรถอีแต๋นเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ ส่วนทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังมีตำรวจน้ำ ที่จะประสานกับกรมเจ้าท่า ป้องกันไม่ให้มีการเดินเรือ มาติดขัดและรบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนได้
"การชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ไม่น่าหนักใจ ทราบว่าทางตำรวจรถไฟ และกองปราบปราม ได้ลองสอบถามกับประชาชนแล้ว ต่างก็มีความรู้สึกและเข้าใจในสถานการณ์ดี และก็พร้อมจะให้การช่วยเหลือกับทางราชการด้วย" ผบช.ก. กล่าวอย่างมั่นใจ
ที่พรรคเพื่อไทย นายวสุธร มูลเกษ บิดา นายเอกชัย มูลเกษ และเพื่อนของ นายไสว ยางสันเทียะ ผู้ต้องหาว่าร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืน ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่าน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยไปยังนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ได้เข้าเยี่ยมบุตรชายที่สน.ยานนาวา ซึ่งเมื่อได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรู้สึกได้ว่ามีเงื่อนงำ เพราะนายเอกชัยทำงานเป็นหลักแหล่ง มีรายได้และอยู่ระหว่างการเรียนหนังสือไปด้วยจึงไม่น่าก่อเหตุได้ นอกจากนี้ บุตรชายได้บอกกับตนว่าถูกทำร้ายเพื่อให้รับสารภาพ ตนจึงเชื่อว่าบุตรชายไม่ได้รับความยุติธรรม รวมถึงสงสัยในการสอบสวนจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่านายเอกชัยและนายไสวจะตกเป็นแพะรับบาปของคดีนี้"
แหล่งข่าวเรือนจําพิเศษกรุงเทพ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. วันเดียวกัน
เสธ.แดง เดินทางมาเยี่ยมนายพรวัฒน์ หรือเคทอง ที่ถูกคุมขังอยู่บริเวณแดนแรกรับ (แดน 1) ภายในเรือนจําพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเสธ.แดง ใช้เวลาเยี่ยมเคทอง ประมาณ 20-30 นาที ก่อนเดินทางกลับ โดยไม่ได้ซื้อของมาฝาก ระหว่างเข้าเยี่ยมนั้น ทางเรือนจําได้ใช้สถานที่เยี่ยมช่องทางปกติ เช่นเดียวกับนักโทษรายอื่นๆ โดยพูดผ่านลูกกรง ไม่ให้อภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น และระหว่างทั้ง 2 คน พูดคุยกันทางเรือนจํา ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด