นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. แถลง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่พรรคเพื่อไทย กรณีตรวจพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการของมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
จากการตรวจสอบการดำเนินการของมูลนิธิไม่น่าจะใช่การทำตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่ทำเพื่อสาธารณประโยชน์และการกุศล มูลนิธินี้ แม้จะมีการจดทะเบียนแต่เป็นการขอเปลี่ยนแปลงชื่อจากมูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในปี 2538 โดยคณะบุคคลได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนเป็น มูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม มีกรรมการรุ่นบุกเบิก 19 คน มีพล.อ.เปรม เป็นประธานกิตติมศักดิ์ สมาชิกหลายคนแป็นคนใกล้ชิด ทั้งทหารลูกป๋า กลุ่มทุนคณะ 11 แต่ตัวละครสำคัญคือกรรมการหนึ่งในนั้นที่ชื่อว่า พล.อ.นพ พิณสายแก้ว คนใกล้ชิดพล.อ.เปรม และมีสถานะเป็นที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟเวอเรช ซึ่งเป็นโซ่ข้อกลาง เชื่อการดำเนินธุรกรรม ระหว่างบริษัทดังกล่าวกับ พล.อ.เปรม และมูลนิธิรัฐบุรุษ โดยปี 2543 ทางมูลนิธิได้รับการบริจาคที่ดินจากบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล ของนางกัลยาณี พรรณเชษฐ์ ที่ต.โนนหมากเค็ง อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว จำนวน 1,550 ไร่ โดยเอกสารสิทธิ ที่ดินดังกล่าวเป็น นส. 3 ทางมูลนิธิอ้างว่าจะนำไปทำโครงการสาธิตสวนยางพารา และได้มีการร้องขอให้สำนักงานที่ดินจ.สระแก้วออกโฉนดเต็มพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 41 แปลง
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปมน่าสงสัยคือ วันที่ 23 มิถุนายน 2549 มูลนิธิได้มอบหมายให้ พ.อ.สงคราม ทองสง่า ขายที่ดิน 3 แปลงตามโฉนดเลขที่ 9450, 1005 และ 15266 ให้กับ นายอภิเชษฐ์ พิณสายแก้ว
ซึ่งเป็นบุตรชายของพล.อ.นพ รองประธานมูลนิธิรัฐบุรุษ ถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าที่ดินแปลงนี้เป็นแปลงเดียวกับที่บริษัท เอ็มเอ็มซีบริจาคให้ นำที่ดินไปขายได้อย่างไรให้กับคนกันเอง ทั้งที่วัตถุประสงค์ 7 ข้อ ไม่ปรากฏว่าให้ขายที่ดินนำกำไรให้มูลนิธิ ซึ่งเมื่อไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ รวมถึงถ้ามีการแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีกรรมการ 2 ใน 3 ลงมติให้แก้ไข แต่จากการตรวจสอบไม่พบ เท่ากับการทำธุรกรรมขัดวัตถุประสงค์ ถือเป็นประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นสังคมต้องได้คำตอบว่า ตกลงว่าที่ผ่านมามูลนิธิได้นำของบริจาคให้ใครบ้าง และขายให้คนกันเองหรือไม่ ทั้งนี้จากการตรวจสอบยังพบข้อเท็จจริงที่ซ้อนอยู่ว่า ที่ดินที่พล.อ.นพซื้อเป็นที่ดินที่ทับที่ดินประชาชน ซึ่งถือ นส.3 อยู่ด้วย เท่ากับมูลนิธิออกโฉนดทับที่ดินนส. 3 เรื่องนี้มีประชาชนร้องเรียน และมีภาพถ่ายทางอากาศยืนยันชัดเจน ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือ วันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้วออกโฉนดให้มูลนิธินั้น เป็นวันเดียวกับวันที่ขาย พอซื้อปุ๊บก็มีการปลูกยางพารา พล.อ.นพยังสร้างบ้านหลังใหญ่ไว้ด้วย ทั้งนี้โฉนดที่ออกมาระบุเป็นพื้นที่หมู่ 7 (11) ซึ่งไม่เคยพบเคยเห็น แต่ข้อเท็จจริงแล้วเป็นพื้นที่หมู่ 7 แต่เอกสารนส.3 อยู่ที่ หมู่ 11
" ในระหว่างที่มูลนิธิให้สำนักงานที่ดินออกโฉนดนั้น ได้มีหนังสือทวงถามความคืบหน้าของการออกโฉนดตลอด โดยหัวหนังสือที่มูลนิธิทำถึงที่ดินจังหวัด มีรูป พล.อ.เปรม หันด้านข้างอยู่ในเหรียญ ซึ่งสามัญชนคงไม่มีใครคิดทำสัญลักษณ์รูปของตัวเองไว้กลางเหรียญ และยังเป็นที่หน้าสงสัยว่า การตั้งชื่อบ้านที่จ.นครราชสีมา ของพล.อ.เปรมว่าบ้านไร้กังวง ซึ่งใกล้เคียงกับชื่อพระราชวังไกลกังวล ซึ่งเรื่องนี้หลายคนเข้าใจดีว่าพล.อ.เปรม คิดอะไรอยู่" นายณัฐววุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงการขายบ้านของพล.อ.เปรม ที่ท่าแร้ง เขตบางเขน ซึ่งพล.อ.นพ เป็นคนซื้อ
โดยคนที่จ่ายเงินเป็นกลุ่มนายทุนยักษ์ใหญ่ เชื่อว่ากรณีนี้เชื่อมโยงไปยังที่ดินวัฒนานครว่าคนที่ซื้อตัวจริงไม่ใช่พล.อ.นพ เพราะพล.อ.นพเป็นเพียงนอมินี ซึ่งในแง่ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 110 วรรค 2 ห้ามมูลนิธิหาประโยชน์เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หลักการที่กล่าวมาข้างต้นเท่ากับขัดต่อกฎหมาย ตนต้องการคำอธิบายจากพล.อ.เปรม และมูลนิธิว่าสิ่งที่ตนพูดมาว่าเป็นจริงหรือไม่ ตนพร้อมรับผิดชอบสิ่งที่พูดทั้งหมด การอ้างว่าไปทำสวนยางสาธิตในที่ดินที่จังหวัดสระแก้ว ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับใครกันแน่ สงสัยว่าพล.อ.เปรมจะเป็นเจ้าของสวนยางหรือไม่ โดยพล.อ.นพเป็นคนดูแลสวนยางให้ สาเหตุที่ตนต้องพูด เพราะเรื่องนี้อธิบายกับสังคมว่าอำมาตย์ทำอะไรก็ได้ในสังคมนี้ เป็นการตอกย้ำกฎหมาย 2 มาตรฐาน เร็วๆนี้จะเปิดปมคนในเครือข่ายอำมาตย์ ที่เป็นเรื่องฟ้องร้องในศาล ที่หัวหิน ศาลรับแล้วว่าจริงแต่ยังไม่มีการดำเนินการอะไร
" ขอถามพล.อ.เปรมจะเอาเงินไปไว้ไหน เพราะไม่มีครบอครัว ครองโสดมายาวนาน บ้านก็ไม่ต้องซื้อ น้ำไฟก็ไม่ต้องจ่าย ขายบ้านท่าแร้ง เพื่อมาอยู่บ้าน 4 พล.อ.เปรมเป็นที่ปรึกษากลุ่มทุนหลายบริษัท จะปฏิเสธหรือไม่ว่าไม่ได้รับรายได้ ค่าตำแหน่งที่ปรึกษา ทราบว่าค่าใช้จ่ายบ้านที่โคราช พล.อ.เปรมก็ไม่ต้องจ่าย ทั้งค่าน้ำค่าไฟ เป็นหน้าที่ของแม่ทัพภาคที่ 2 ทั้งหมด"