ทูตบี้ ´สุรยุทธ์´ เลิกอัยการศึกให้เลือกตั้งเร็ว

"สมาชิกอาเซียนพบปะหารือนายกฯ"


เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี เวลา 09.30 น. คณะทูตานุทูตประเทศสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทย ได้เข้าพบปะหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อฟังคำชี้แจงแนวทางการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่จาก พล.อ.สุรยุทธ์โดยตรง โดยนอกจากคณะทูตานุทูตประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว คณะทูตานุทูตจากกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ได้ทยอยเข้าพบ พล.อ. สุรยุทธ์ด้วย ได้แก่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะทูตานุทูตกลุ่มทวีปเอเชีย-แอฟริกา คณะทูตานุทูตทวีปอเมริกาแปซิฟิก คณะทูตานุทูตกลุ่มทวีปยุโรปและรัสเซีย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เข้าพบเป็นลำดับสุดท้าย โดยใช้เวลาพบปะและชี้แจงคณะละ 30 นาที

รับสานต่อโครงการรัฐบาลเดิม

พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการชี้แจงกับคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ ว่า เป็นการชี้แจงเรื่องงานที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำเป็นการเร่งด่วน แต่ไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ วันที่ 19 ก.ย. ที่มีการยึดอำนาจ เพราะได้พูดถึงเพียงความจำเป็นที่ต้องเข้ามารับหน้าที่นายกฯ เท่านั้น ไม่ได้คิดว่าจะมาทำหน้าที่นายกฯมาก่อน แต่มารับหน้าที่เมื่อมีความจำเป็น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมิตรประเทศ และสิ่งที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีความผูกพันไว้เราก็จะรับดำเนินการ ซึ่งจะดูในเรื่องของความเร่งด่วน ความโปร่งใสเป็นพื้นฐาน ดังนั้น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันก็จะดำเนินการต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดการยุติ หรือทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

ชี้เลิกกฎอัยการศึกต้องรอบคอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะทูตได้มีการสอบถามถึงเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ได้อธิบายไปตามที่เคยพูดกับสื่อมวลชนให้รับทราบไปแล้ว เมื่อถามว่า ได้ประเมินถึงเสียงตอบรับจากนานาประเทศว่าเป็นบวกหรือลบหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ยังคงประเมินไม่ได้ เพียงแต่ว่าตนมีสิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องวัด คือเราคงจะต้องดูจากการที่เราทำงานไปสักพักหนึ่ง และดูมิตรประเทศว่ามีความเชื่อมั่นแค่ไหน ซึ่งตนจะเดินทางไปเยือนมิตรประเทศในกลุ่มอาเซียนก่อน ในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค.นี้ เป็นอันดับแรก

ปลื้มนายกฯ จีนเข้าใจไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ได้กล่าวระหว่างการพบปะกับนายจาง จิ่ว หวน (H.E. Mr. Zhang Jiuhuan) เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่า ขอบคุณที่นายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน ได้ส่งสารแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แสดงให้เห็นนิมิตหมายความร่วมมือร่วมใจ และความเข้าใจในสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านอย่างดียิ่ง โดยนายจางกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจีนได้ฝากทั้งหนังสือแสดงความยินดี และคำยินดีทางวาจามาด้วยและได้ย้ำถึงจุดยืนของจีนว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลจีนมีความเชื่อมั่นว่าประเทศ ไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยความเรียบร้อย เชื่อว่าการพัฒนาประเทศจะดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังฝากคำเชิญให้ พล.อ.สุรยุทธ์ไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ที่นครหนานหนิง ช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ด้วย และนายกรัฐมนตรีจีนมีแผนจะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ รวมทั้งยังได้ฝากแสดงความห่วงใยในเรื่องสุขภาพมาด้วย

เตรียมลุยอีสานแจงชาวบ้าน


ต่อมาเวลา 13.30 น. พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ภาคอีสานว่า ในวันที่ 13 ต.ค.นี้ จะเดินทางลงพื้นที่ภาคอีสาน 2 จังหวัด คือ จ.สกลนคร และ จ.บุรีรัมย์

ด้าน พล.ต.นินนาท เบี้ยวไข่มุก นายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.สุรยุทธ์จะออกทางด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศในช่วงเช้าวันที่ 13 ต.ค. และเดินทางกลับ กทม.ในช่วงเย็น ทั้งนี้จะเดินทางไปพบปะตัวแทนประชาชน ผู้นำชุมชน และ ผวจ. แบ่งเป็นตัวแทนอีสานเหนือและอีสานใต้ 2 จุด เพื่อสะสางงานที่คั่งค้างและรับฟังความคิดเห็นทุกปัญหาว่าประชาชนในพื้นที่มีความต้องการอย่างไรบ้าง และติดตามโครงการที่เคยทำในสมัยที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และ ผบ.ทบ. ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นโครงการตามพระราชดำริ และตามพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในภาคอีสานทั้งระบบ เพราะกองทัพภาคที่ 2 มีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมในการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าเรื่องการขุดแหล่งเก็บกักน้ำ การสร้างเขื่อน สร้างท่อส่งน้ำ เป็นต้น

ย้ำแก้ปัญหาทุกอย่างภายใน 1 ปี

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี แถลงภายหลังคณะทูตานุทูตกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย แอฟริกา เข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างมิตรไมตรีอย่างยิ่ง โดยนายกฯยืนยันว่าจะบริหารประเทศตามกรอบเวลาที่กำหนด ส่วนการร่างนโยบายรัฐบาลน่าจะนำเสนอต่อ ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า และได้เน้นย้ำถึงหลักการทำงาน 4 ป. ที่มอบให้แก่ ครม. ส่วนงานเร่งด่วนอย่างแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ 1. การแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้เห็นไม่ตรงกัน สร้างความสามัคคีเป็นปึกแผ่น 2. การแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 1 ปี สำหรับนโยบายด้านต่างประเทศจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหญ่และพันธกรณีระหว่างรัฐบาล ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่มีความแตกต่างจากเศรษฐกิจการตลาดมากนัก ทั้งการลงทุน การดำเนินธุรกิจ ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ภายในเวลา 1 ปี

กษัตริย์บรูไนร่วมยินดีด้วย

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า คณะทูตจากประเทศต่างๆ เห็นว่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องภายในประเทศไทย และมั่นใจว่ารัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จะแก้ปัญหาได้ พร้อมกันนี้คณะทูตได้นำความยินดีจากผู้นำประเทศมาแจ้งให้ทราบ เช่น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ได้ฝากแสดงความยินดีมายัง พล.อ.สุรยุทธ์ และแสดงความเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ว่าจะประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ รวมถึงคณะทูตจากประเทศอื่น ได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ปัญหากับประเทศไทย เช่น มาเลเซีย ยืนยันจะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เล็งนำข้อเสนอ กอส.ดับไฟใต้

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า ทูตโมร็อกโกได้สอบถามถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จะส่งผลกระทบต่อโครงการเมกะโปรเจกต์หรือไม่ รวมถึงการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งนายกฯได้ชี้แจงว่า โครงการเมกะโปรเจกต์ยังคงดำเนินการต่อไป แต่ต้องยึดหลักความโปร่งใส ยุติธรรม และจะให้ความสำคัญกับโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่จะขยายไปยังต่างจังหวัดด้วย โดยจะปรับปรุงระบบขนส่งทางรถไฟ ส่วนการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้นั้น จะนำแนวทางแก้ปัญหาที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ศึกษาไว้มาปรับใช้ เพราะเป็นข้อมูลที่ถี่ถ้วนมาก ยึดถือวิธีทางสันติ อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์กรแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ต่างมีประสบการณ์แก้ปัญหาภาคใต้อย่างดี โดยเฉพาะด้านการศึกษา

ให้รอพิสูจน์การกระทำของรัฐบาล


ต่อมาเวลา 16.40 น. พล.อ.สุรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังพบและชี้แจงกับทูตต่างประเทศอีกครั้งว่า ได้แจ้งกับนายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.ต่างประเทศ ว่าคงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง เพื่อติดตามว่าท่าทีของมิตรประเทศที่มาพบปะกับเรานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึก หรือการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนภายใน 1 ปี รวมทั้งโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่ต่างประเทศต้องการนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นไปอย่างที่เราได้มีการหารือกันในวันนี้ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แสดงให้เขาเห็นว่าเราได้เดินไปตามเส้นทางที่ได้พูดกันไว้ แต่ไม่อยากประเมินผลในตอนนี้ว่าเขาจะเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้นหรือไม่ ต้องรอเวลาอีกเล็กน้อย สิ่งสำคัญคือการกระทำของเราจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราได้ยืนอยู่ตามคำพูดของเราที่ได้พูดไปหรือไม่ ส่วนเรื่องการออกสมุดปกขาวชี้แจงคงยังไม่ดำเนินการอะไร

อียูร้อง 1 ปีคืนประชาธิปไตยนานไป

ด้านนายลาร์ส แบ็กสตร็อม เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบปะ พล.อ.สุรยุทธ์ พร้อมกับคณะทูตกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ทางอียูได้ให้คำประกาศในจุดยืนต่อประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมาแล้ว วันนี้ได้มาพบและแสดงความ ต้องการเป็นกิจจะลักษณะในการติดตามสถานการณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะการยกเลิกกฎอัยการศึกที่อียูต้องการให้ยกเลิกโดยทันที ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์สัญญาว่า รัฐบาลกำลังพยายามดำเนินการอยู่ แต่เราเห็นว่าการมีกฎอัยการศึกเป็นการทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน รวมทั้งสิทธิการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน 5 คนขึ้นไปด้วย อียูยังต้องการเห็นพรรคการเมืองของไทยเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง อียูเป็นห่วงเรื่องการคืนประชาธิปไตยภายใน 1 ปีนั้น นานเกินไป ควรจะเร็วกว่านั้น ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์สัญญาว่ารัฐบาลพยายามทำให้เกิดขึ้นให้ได้

เข้าใจไทยไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

นายลาร์สกล่าวต่อว่า ขณะนี้อียูยังไม่มีมาตรการคว่ำบาตรประเทศไทย แต่อยู่ที่นักกฎหมายของอียูจะไปพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังไม่มีอะไรที่จะยุติความช่วยเหลืออะไร ส่วนเรื่องการค้าการลงทุนนั้น คิดว่าปัจจัยพื้นฐานยังเหมือนเดิม แต่เราไม่อยากไปสร้างเงื่อนไขในเรื่องนี้เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปทำมาหากินลำบาก อียูเข้าใจว่าช่วงนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ เป็นเหตุการณ์พิเศษ ทุกอย่างจึงไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว อียูก็ต้องขอบคุณที่รัฐบาลให้ทูตประเทศต่างๆได้มาพูดคุยบอกปัญหาอย่างเปิดเผย การนำปัญหาต่างๆเข้ามาพูดคุยในที่ประชุมถือเป็นการกดดันเพียงพอแล้ว ส่วนปัญหาภาคใต้อียูยินดีมากที่รัฐบาลนำเรื่องภาคใต้มาเป็นปัญหาหลักในการแก้ไข และเห็นด้วยที่รัฐบาลไทยที่จะใช้แนวทางแก้ไขที่ตัวบุคคลมากกว่าการใช้อาวุธ เพราะคนทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในที่ที่ใดๆโดยไม่ต้องหวาดระแวงเรื่องระเบิด

สุรยุทธ์ เลิกกฎอัยการศึกเร็วที่สุด

ต่อมาเวลา 17.00 น. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการเข้าพบหารือของเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศอเมริกาและแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย ทั้งนี้ทูตแคนาดาได้แสดงความห่วงใยเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกและการฟื้นสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ และการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยนายกฯได้กล่าวว่า ในการประชุม ครม.รอบแรกจะนำเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกไปหารือกับ คมช.ต่อไป ตัวท่านเองอยากจะให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็วที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ และเมื่อได้หารือกับ คมช.แล้วจะมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนออกมา ทั้งนี้ ภายใต้กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้อยู่ก็ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ประชาชนยังคงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองได้ ไม่มีการกักกันหรือจับกุมใครไว้ ประชาชนยังคงมีเสรีภาพ

จะเร่งจัดเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม


โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า ทางเอกอัคร-ราชทูตสหรัฐฯได้ชื่นชมที่รัฐบาลได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้เป็นลำดับขั้นตอนมาตลอด รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลได้ตามกรอบเวลาที่ให้ไว้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนี้ ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงกฎอัยการศึก ว่าถ้ายกเลิกเมื่อไหร่ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง ขณะที่ทูตออสเตรเลียก็แสดงความเห็นในแนวทางเดียวกัน สำหรับทูตนิวซีแลนด์ ได้ชื่นชมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสถานการณ์ทางการเมือง และการแก้ปัญหาทางภาคใต้ และนิวซีแลนด์พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาภาคใต้ในด้านต่างๆ เช่นด้านการศึกษาที่ภาคใต้มีความ ต้องการ ทั้งนี้นายกฯได้สรุปในตอนท้าย โดยชี้ให้คณะทูตานุทูตได้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้กันมาคือการขาดซึ่งการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในห้วง 1 ปีจากนี้ไป และจะพยายามอย่างเร็วที่สุดที่จะทำให้การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเกิดขึ้นเร็วกว่า 1 ปี ถ้าสามารถทำได้ และจะขอความร่วมมือสนับสนุนจากมิตรประเทศ ทั้งทวีปอเมริกาและแปซิฟิกเหล่านี้ด้วย

รับปากจัดเลือกตั้งให้เร็วกว่า 1 ปี

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ส่วนการหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มยุโรปและรัสเซียนั้น ทางทูตฟินแลนด์แสดงความเสียใจจากเหตุการณ์น้ำท่วม และได้กล่าวอ้างอิงถึง เอกสารที่ทางอียูได้เสนอเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่กำหนดแนวทางที่อียูปรารถนา อยากจะเห็นทั้งการยกเลิกกฎอัยการศึก การดูแลสิทธิเสรีภาพประชาชน และสิทธิการรวมกลุ่มกันของประชาชน และการที่พรรคการเมืองจะสามารถปฏิบัติกิจกรรมการเมืองได้ และอยากเห็นการเลือกตั้งได้ภายใน 1 ปี ส่วนทูตอังกฤษได้สอบถามเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งนายกฯระบุว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ทั้งสองประเทศจะดำเนินการต่อไป แต่ไม่แน่ใจว่าในช่วง 1 ปีนี้จะทำได้แค่ไหน เพราะต้องดูการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องขอประชามติด้วย เวลาจึงค่อนข้างจำกัด ประเด็นจึงค่อนข้างอ่อนไหวอยู่ และขณะนี้มีองค์การที่ประเมินทบทวนเรื่องเอฟทีเออยู่ จึงต้องรอผลการศึกษาของคณะกรรมการที่ทำการประเมินก่อน

แก้ไฟใต้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายทาง

โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า ทางด้านทูตโปแลนด์ได้สอบถามเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งนายกฯบอกว่าเคยทำงานเกี่ยวกับภาคใต้มาแล้ว เชื่อว่าการสร้างและการปรับความเข้าใจรับฟังปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการจัดการ แต่ขณะนี้มีแสงสว่างที่ปลายทางแล้ว และเพื่อนชาวมุสลิมก็โทรศัพท์มาบอกว่าเชื่อว่าการแก้ปัญหาภาคใต้จะเกิดขึ้นได้อย่างสันติ แนวทางการแก้ปัญหาก็ได้รับการขานรับแล้ว แนวโน้มการแก้ปัญหาภาคใต้ก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยในเรื่องนี้จะมีการตั้งหน่วยงานในพื้นที่ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ในการฝึกอบรมทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่จะลงไปปฏิบัติงานในภาคใต้

สื่อนอกตีข่าวนายกฯพบคณะทูต

ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีได้รายงานอ้างคำพูดนายเอล ฮัสซาน ซาห์อิด เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความกังขาถึงนโยบายเศรษฐกิจผสมผสานระหว่างโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางของรัฐบาลไทยหลังการปฏิวัติ จะดำเนินไปในรูปแบบใด ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังสร้างความสับสนให้แก่นักลงทุนต่างชาติไม่น้อย ขณะที่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล แถลงอธิบายว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียงในความหมายของรัฐบาลไทย ก็ไม่แตกต่างจากการเปิดตลาดการค้าเสรี


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์