กลายเป็นแฟชั่นไปแล้วสำหรับการ "ปาอึ" ใส่บุคคล หรือสถานที่สำคัญ ด้วยข้ออ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปร้องเรียนแต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ
อย่างล่าสุด นายสุรชัย เกิดดี อายุ 45 ปี ชาวบางซื่อ กทม. ปาอุจจาระใส่อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าไม่พอใจที่ตนไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2547 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ และไม่พอใจรัฐที่ควบคุมสื่อ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการนำเสนอข่าว
ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายวิวิทวิน เตียวสวัสดิ์ อายุ 41 ปี อาชีพค้าขาย บ้านเลขที่ 293/348 ซอยนวมินทร์ 10 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ก็เคยปาสิ่งปฏิกูล 4 ถุง ใส่บ้านนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ย่านสุขุมวิท โดยอ้างว่าเคยร้องเรียนทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของ กทม.แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จึงแค้นใจและลงมือกระทำ ซึ่งอนาคตข้างหน้าไม่แน่ใจว่าจะเกิดพฤติกรรมดังกล่าวอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคนที่กระทำลักษณะดังกล่าวมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงน่าเป็นห่วงว่าการกระทำลักษณะเช่นนี้จะเป็นเพียงข้ออ้างในการกระทำหวังผลทางการเมือง หรือเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ
พญ.โชษิตา ภาวสุชธิไพศิฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิต เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่า พฤติกรรมของคนที่กระทำการดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) ซึ่งมีสาเหตุชัดเจนจากภาวะที่มีความกดดัน ทำให้ตัวผู้ป่วยเกิดความตึงเครียด อารมณ์ผิดปกติ แปรปรวนได้ง่าย แสดงออกมาเพราะความโกรธผ่านวิธีการที่ไม่เหมาะสม
ส่วนที่ช่วงนี้เกิดเหตุลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้งนั้น พญ.โชษิตา บอกว่าเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเห็นคนอื่นที่กระทำแล้วได้รับความสนใจ ได้รับการตอบสนอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "adjustment disorder with disturbance of conduct" ซึ่งเป็นพฤติกรรมละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก้าวร้าว และละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม
"สังคมบ้านเราขณะนี้เปิดโอกาสให้บุคคลกระทำการลักษณะอย่างนี้ และมีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะทำแล้วได้รับการตอบสนอง ได้รับความสนใจ จากสื่อมวลชน จากเจ้าหน้าที่ คนอื่นได้รับการช่วยเหลือ ขณะเดียวกันการจัดการด้านกฎหมาย บทลงโทษไม่ชัดเจน สังคมยอมรับในพฤติกรรมแบบบนี้ อยู่ที่ว่าใครจะโดนตรงไหนแค่นั้นเอง"
ปาขี้ แฟชั่นคนร้องเรียน
พญ.โชษิตา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ใช่พฤติกรรมเลียนแบบ แต่ใช้ลักษณะความเกลียดชัง ความไม่ชอบใจบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ซึ่งลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นคนเคียดแค้น โรคจิตอ่อนๆ ประเภทหนึ่ง อยากเห็นคนอื่นอับอาย เสียภาพพจน์ ซึ่งภาวะสถานการณ์การเมืองเช่นนี้จะมีให้เห็นบ่อยและมีแนวโน้มเกิดขึ้นอีก ดังนั้นรัฐบาลเองต้องปรับตัว ระบบรักษาความปลอดภัยต้องดี สร้างแนวทางลดความขัดแย้ง ประสานผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ปรับระบบการรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกระดับและให้ถึงที่สุด
"ที่สำคัญต้องเข้มเรื่องกฎหมายใครกระผิดก็ต้องนำมาลงโทษให้ถึงที่สุด ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ".
ย้อนอดีตวีรกรรม "ปาอึ"
28 ต.ค. 2551 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ในรัฐสภา ครั้งเดินทางไปร่วมงานฌาปนกิจศพที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งขณะเดินทางโดยรถตู้ไปยังสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อเดินทางกลับ กทม. ได้มีชายสองคนขับรถจักรยานยนต์ สวมหมวกกันน็อก แล่นสวน พร้อมปาถุงอึเข้าใส่หน้ารถนายอภิสิทธิ์ จนสิ่งปฏิกูลกระจายเต็มหน้ารถ
ต้นเดือน ก.ย. 2537 นายอุทัย พิมพ์ใจชน สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ถูกนายธนิต สุวรรณเมนะ ติวเตอร์ชื่อดังย่านรามคำแหง ปาถุงอุจจาระใส่หน้า โดยอ้างว่าโกรธแค้นที่นายอุทัย สั่งย้ายนายพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้น
กลางปี พ.ศ. 2536 นพ.เพรา นิวาตวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพร้อมมิตร และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถูกคนร้ายบุกปาอึ ภายหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาพยาบาล
จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่า ใคร สถานที่ใด จะตกเป็นเหยื่อ "อึ" รายต่อไป...