อดีต คตส.สมัย รสช. ชี้ ทักษิณ นำคำวินิจฉัยศาลฎีกาเรื่องการอายัดทรัพย์นักการเมืองสมัยรัฐบาลน้าชาติ มาสู้อุทธรณ์คดียึดทรัพย์ไม่ได้ เหตุ คตส. ปัจจุบันใช้อำนาจศาลดำเนินการ ...
หนึ่งในอดีตคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ในสมัยยุครัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เมื่อปี 2534
ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ ยืนยัน กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมให้ทีมทนายยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ โดยจะนำกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยคดียึดทรัพย์สมัย รสช. ที่ว่าด้วยเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ให้มีอำนาจสอบสวนและสั่งอายัดทรัพย์นักการเมือง นั้น ขัดต่อประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลมาทำการเช่นเดียวกับศาล ทรัพย์สินนักการเมืองที่สั่งอายัดให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่นักการเมืองได้มาก่อนประกาศ รสช. จะมีผลบังคับใช้ การยึดทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง จึงขัดธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 และใช้บังคับมิได้ มาใช้ยื่นอุทรณ์ในคดีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ในประเด็นประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ซึ่งเข้าข่ายออกกฎหมายให้มีโทษย้อนหลังนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะทั้งสองประเด็นถือเป็นคนละเรื่องกัน
เนื่องจาก คตส. สมัย รสช. และ คตส. สมัย คมช. มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย คตส.สมัย รสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งการสอบสวนและยึดทรัพย์นักการเมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องต่อศาล
ซึ่งทำให้เมื่อ คณะ รสช. หมดอำนาจลง ประกาศคณะ รสช. ที่ใช้แต่งตั้งและให้อำนาจ คตส. ชุดดังกล่าว จึงสิ้นสุดลงตามไปด้วย ทำให้ไม่มีกฎหมายรับรองอำนาจ ในการยึดทรัพย์ได้อีกต่อไป ซึ่งผิดกับ คตส.ยุค คมช. ทำหน้าที่เพียงเหมือนพนักงานสอบสวน โดยให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยใช้อำนาจในการยึดทรัพย์ จึงทำให้ไม่มีปัญหาในประเด็นเรื่องของข้อกฎหมายเช่นในอดีต
ส่วนที่มีความพยายามกล่าวหาว่า การอ้างประกาศคณะปฏิวัติมาใช้ประกอบในการตัดสิน เท่ากับเป็นการยอมรับการปฏิวัติ นั้น
โดยส่วนเห็นว่าเป็นคนละประเด็นกัน เพราะการออกกฎหมาย นั้น ต้องไปมองในประเด็นว่า ออกโดยใคร ระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ฝ่ายผู้มีอำนาจ ซึ่งในกรณีหลังนี้ เมื่อมีการออกรัฐธรรมนูญ และ ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อื่น ๆ จนนำไปสู่การตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ย่อมเท่ากับเป็นการออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่ใช่อำนาจของคณะปฏิวัติแล้ว