ไขปมคดีภาษีโอ๊ค-เอม12,000 ล้าน หลังศาลฎีกาฟันธงแม้ว ซุกหุ้น ยึดทรัพย์46,000ล้าน

โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

น.ส.พินทองทา ชินวัตร หรือ "เอม" บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสงสัย หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีร่ำรวยผิดปกติกว่า 46,000 ล้านบาทโดยองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนมีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า  พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)จำนวน 1,449 ล้านหุ้น แต่อำพรางหรือซุกไว้ในชื่อลูกและเครือญาติก่อนที่จะขายให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง จำกัด


แต่ทำไมเมื่อ นายพาทนทองแท้(โอ๊ค) และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 329.2 ล้านหุ้นจาก บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด  ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549  ทำให้ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นละ 48.26 บาท จึงโดนกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกือบ 12,000 ล้านบาท

ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางโดย บุคคลทั้งสองได้ยื่นฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่มีความเห็นว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลทั้งสองของกรมสรรพากรชอบแล้ว


"เรื่องคดี ยอมรับว่า เอมก็งงมาก... เพราะว่า เรื่อง หุ้นตัวเดียวกัน คือ บอกว่า เป็นของพ่อ โอ๊คกับเอมเป็นนอมินี ก็ยึดทรัพย์ไป 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทางกรมสรรพากรก็บอกว่า โอ๊คกับเอมเป็นเจ้าของทรัพย์(หุ้น) ขายแล้วได้กำไร ก็มาขอเก็บภาษีอีก 1.2 หมื่นล้านบาท เอมก็งงอยู่ว่า หุ้นเดียวทำไมมีสองกรณี ก็งงค่ะ ชื่อบัญชี(เงินฝาก)เป็นของเอม ก็ไม่ได้คืนสักบาท ถูกยึดหมด ตอนนี้ยังไม่รู้เอาเงินจากไหนมาเสียภาษี"


ในประเด็นดังกล่าวนี้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณได้หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในศาลฎีกาฯแล้วโดยระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ดำเนินการ 2 มาตรฐาน นอกจากให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากจากนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาแล้ว  กลับกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ในหุ้นจำนวนเดียวกัน เป็นคดีนี้อีก


แต่ศาลฎีกาฯวินิจฉัยว่า  การให้เรียกเก็บภาษีอากรจากนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทาที่ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จากบริษัทแอมเพิลริช เป็นการดำเนินกานรตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด


นอกจากนี้ มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ก็บัญญัติหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ว่า บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใดๆ แสดงว่า


(1) เป็นเจ้าของทรัพย์สิน อันจะระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ


(2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมิน โดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น


เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมด จากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้


การดำเนินการทางภาษีอากรกับผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 (นายพานทองแท้และ น.สงพิณทองทา)จึงเป็นการดำเนินการตามหลักการแห่งประมวลรัษฎากร


ส่วนการกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติในคดีนี้ เป็นการดำเนินการกับเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรับผิดทางภาษีอากร โดยมีหลักกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ข้อต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น


อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายละเอียดคำพิพากษาของศาลฎีฯในคดียึดทรัพย์แล้ว เห็นว่า ประเด็นที่ศาลฎีาฯวินิจฉัยคือ ทั้งนายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์และบริษัท แอมเพิลริชฯ ล้วนเป็น"ผู้ถือหุ้น(บริษัทชินคอร์ป)แทน"หรือเป็น"นอมินี"ของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน จนกระทั่งมีการการขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง จำกัดนเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 


ดังนั้น ไม่ว่า จะมีการโอนหุ้นกันระหว่างบุคคลดังกล่าวกันกี่ทอดหรือโอนกันไปอย่างไร บุคคลดังกล่าวก็ยังคงเป็น"ผู้ถือหุ้นแทน"หรือ"นอมินี"ของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานอยู่ดี


จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯดังกล่าว ประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้


หนึ่ง เมื่อทั้งนายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา และบริษัทแอมเพิลริชฯล้วนเป็นผู้ถือหุ้นแทนหรือเป็น"ตัวแทน"ของ พ.ต.ท.ทักษิณ 


ดังนั้นหลักการคือ การโอนทรัพย์สินไปมาระหว่างตัวแทนกับตัวแทน หรือการโอนทรัพย์สินจากตัวแทนคืนสู่"ตัวการ"คือ พ.ต.ท.ทักษิณหรือคุณหญิงพจมาน ย่อม ไม่เกิดผลประโยชน์ใดๆกับกับ"ตัวแทน" 


เมื่อไม่เกิดผลประโยชน์ จึงไม่เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39


จากหลักการดังกล่าว เมื่อบริษัท แอมเพิลริช ซึ่งเป็นตัวแทนของพ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทาซึ่งเป็นตัวแทน พ.ต.ท.ทักษิณเช่นกัน บุคคลทั้งสองจึงไม่ได้ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นดังกล่าว จึงไม่มีเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 39


สอง แต่เนื่องจากประเด็นนี้ หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติยืนตามคำสั่งกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีจากบุคคลทั้งสองเกือบ 12,000 ล้านบาทแล้ว บุคคลทั้งสองได้ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งในคำฟ้องและข้อต่อสู้ของบุคคลทั้งสองในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยืนยันว่า  ตนเองเป็นผู้ถือหุ้น(เจ้าของ)ในบริษัท แอมเพิลริชฯ และเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงของบริษัทชินคอร์ปที่ถืออยู่ก่อน


ดังนั้น ในกรณีที่บุคคลทั้งสองต้องการได้รับผลจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯคดียึดทรัพย์ ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาเสียก่อนว่า เป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ จึงจะสามารถนำคำพิพากษาของศาลฎีาฯมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีภาษีได้(แต่ต้องดูเงื่อนไขในกฎหมายวิธีพิจารณาว่า หมดระยะเวลาในการยื่นแก้ไขคำฟ้องหรือยัง หรือสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้หรือไม่)


อย่างไรก็ตามการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯเพื่อประโยชน์ในคดีภาษี ก็อาจขัดแย้งกับคำร้องที่ต้องยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ทั้งพ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้าน(คุณหญิงพจมาน ลูก และเครือญาติ)น่าจะต้องยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานได้โอนหุ้นให้กับลูกและเครืญญาติไปแล้วจริงก่อนที่จะขายให้แก่บริษัทเทมาเส็ก


สาม ในการที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทานั้น ใช้หลักการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7  กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งพนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาได้รับผลประโยชน์ส่วนต่างจากราคาหุ้นที่บริษัทหรือนิติบุคคลโอนให้มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39

ดังนั้น แม้ศาลฎีกาฯจะวินิจฉัยว่า  พ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิลริชที่แท้จริง ด้วยเหตุผลว่า 


"ผู้ถูกกล่าวหา(พ.ต.ท.ทักษิณ)อ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทต่อมาอีกถึง 4 ปี ประกอบกับราคาที่อ้างว่าซื้อขายกัน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเรียกเก็บค่าหุ้น 1 หุ้น ทั้งที่การขายหุ้นดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ซื้อได้ไปซื้อหุ้นของบริษัทชินคอร์ป จำนวนหุ้นปี 2543 ถึง 32,920,000 หุ้น(ก่อนแตกพาร์เป็นหุ้นละ 1 บาท เท่ากับมีหุ้น 329.2 ล้านหุ้น) โดยชำระเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง"


แต่ในคำวินิจฉัยมิได้ระบุชัดว่า หุ้นชินคอร์ปจำนวน 329.2 ล้านหุ้น เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทแอมเพิลริชฯหรือบริษัทเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทนหรือ"ตัวแทน"ของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น

ถ้าบริษัท แอมเพิลริชฯเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นชินคอร์ปจำนวน 329.2 ล้านหุ้น การโอนหุ้นจำนวน 329.2 ล้านหุ้นให้แก่กรรมการบริษัท(นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา)ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท  ก็ถือว่าได้รับผลประโยชน์ส่วนต่างราคาหุ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538  จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39


เพียงแต่ว่า เมื่อบุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นที่แท้จริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ 


ดังนั้น ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่แท้จริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  824 ระบุว่า ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นต้องรับผิดตามสัญญานั้นตามลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญยาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน


สรุปแล้ว การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ(ตัวการ)หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ลูกๆต้องรับผิดในฐานะ"ตัวแทน"ตามกฎหมาย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์