สื่อนอกวิเคราะห์ยึดทรัพย์แม้วแก้ปัญหาแตกแยกไม่ได้กลับฝังลึกความขัดแย้งในสังคมไทย

การตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกคดีหนึ่งของไทยที่ประดาสื่อมวลชนทั่วโลกให้ความสนใจและติดตามรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจของตนเองและสั่งให้ยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณมูลค่า 46,373 ล้านบาทเศษ จากทั้งสิ้นจำนวน 76,000 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ สื่อต่างประเทศได้นำเสนอมุมมองความเห็นพร้อมบทวิเคราะห์ถึงอนาคตสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งมีทิศทางคล้ายกันประการหนึ่งว่า การตัดสินยึดทรัพย์ส่วนหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นวิธีการประนีประนอมที่จะช่วยบรรเทากระแสความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม คำตัดสินดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความแตกแยกที่ฝังลึกในสังคมไทยให้ยุติลงได้


ทั้งนี้ โวดีน อิงแลนด์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีของอังกฤษ ที่เกาะติดรายงานสถานการณ์อยู่ในกรุงเทพฯ

ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ในคดีนี้ไว้บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวบีบีซี ด้วยการพาดหัวข้อเขียนไว้ว่า "คำตัดสินคดีทักษิณไม่น่าจะช่วยเยียวยาความแตกแยกได้" เนื้อระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวไม่น่าจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณยุติข้อเรียกร้องของตนหรือจะช่วยสมานรอยร้าวทางการเมืองที่ร้าวลึกเช่นนี้ของไทยได้


ขณะที่ข้อเขียนของมาร์ติน เพ็ทตี้ และอัมบิกา อาฮูจา จากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า

คำตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณของศาลในจำนวนที่น้อยกว่าที่มีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ อาจช่วยทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลสงบลงได้บ้าง โดยคำตัดสินของศาลครั้งนี้ คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการประนีประนอมทางหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงใดๆ อันอาจเกิดขึ้นได้ 


รอยเตอร์ยังอ้างความเห็นของนายโรเบอร์โต เฮอร์เรรา-ลิม นักวิเคราะห์จากสถาบันที่ปรึกษาความเสี่ยงยูเรเซีย กรุ๊ปในประเทศสิงคโปร์

ที่กล่าวว่า คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า "นี่คือการประนีประนอมหรือไม่? นี่เป็นการส่งสัญญาณบางอย่างให้ พ.ต.ท.ทักษิณรึเปล่า? ซึ่งนี่อาจจะเป็นการยื่นข้อเสนอทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำของไทยแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะพวกเขามองไม่เห็นทางที่จะเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณได้"


นักวิเคราะห์รายนี้ยังกล่าวอีกว่า การพูดถึงการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงในสังคมไทย ดูเหมือนอาจเป็นการพูดกันไปเกินความจริง

แต่กลุ่มคนเสื้อแดงจะยังดำเนินความพยายามที่จะกดดันรัฐบาลต่อไป พวกเขามีสิทธิที่จะแสดงความคับข้องใจ และปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะยังคงไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายลงไป ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า หากมองไปข้าง คำถามที่ว่าจะเยียวยาสังคมไทยที่มีความแตกแยกร้าวลึกเช่นนี้อย่างไรนั้น ก็ยังคงไม่มีคำตอบ


ในส่วนผลกระทบด้านการลงทุนในไทย รอยเตอร์ระบุว่า ความกังวลถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจากผลคำตัดสินของศาลในตลาดการเงินของไทยได้ผ่อนคลายลงไปบ้างในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

ซึ่งทำให้โบรกเกอร์แสดงการตอบรับอย่างระมัดระวังหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้ออกมา ที่ดูจะเป็นวิถีทางป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งรอยเตอร์อ้างความเห็นของนางภัทรียา เบญจพล กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยตัดสินของศาลน่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อตลาดเมื่อเปิดทำการในสัปดาห์หน้า


ด้านสำนักข่าวเอพีระบุว่า คำตัดสินของศาลอาจทำให้กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณผิดหวัง

ซึ่งอาจทำให้การแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก เอพียังได้อ้างความเห็นของนักวิชาการไทยส่วนใหญ่ที่มองว่าคำตัดสินของศาลที่ไม่ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมดนั้นเป็นการประนีประนอมที่อาจจะช่วยให้เกิดความปรองดองขึ้นมาได้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การตัดสินใจยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงราว 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดนั้น อาจช่วยบรรเทาสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนมานานถึง 4 ปีแล้วให้เบาบางลงได้บ้าง ซึ่งก็อาจจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นไทยดีขึ้น แต่การปรับตัวดีขึ้นก็จะอยู่ในวงจำกัดเพราะปัญหาความขัดแย้งยังคงมีอยู่


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์