ตื่นผีเสื้อยักษ์ ปีกกว้าง27ซม.

ชาวบ้านเมืองชล ตื่นเจอผีเสื้อยักษ์บินมาเกาะกินใบต้นขนุน ขนาดใหญ่เท่าไม้ บรรทัดบินมาเกาะกินใบต้นขนุนข้างบ้าน เชื่อเป็นเรื่องดีจับมาเลี้ยงอาจให้โชคลาภ

แต่หากเป็นสัตว์หายากวอนผู้รู้เข้าตรวจสอบกลัวสูญพันธุ์ เพราะอยากให้คนอื่นได้เห็นด้วย ด้านนักวิชาการด้านแมลงระบุ เป็น "ผีเสื้อหนอนใบกระท้อน" อยู่ในวงศ์ผีเสื้อยักษ์ เป็นผีเสื้อกลางคืน ชอบกินใบกระท้อน ฝรั่ง ใบดาหลา ฯลฯ ยิ่งถ้ามีต้นกระท้อนจะยิ่งพบมาก เพราะช่วงชีวิตที่เป็นหนอนจะชอบกินใบกระท้อนมาก และยังไม่อยู่ในประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายมงคล จำนอง อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23/11 หมู่ 6 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่า
 
พบผีเสื้อขนาดใหญ่กว่าผีเสื้อปกติเชื่อว่าเป็นสัตว์หายาก เกรงจะสูญพันธุ์จึงจับใส่กรงไว้รอผู้รู้เรื่องผีเสื้อมาตรวจสอบ

หลังรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบยังบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งเป็นบ้านแถวกำลังปลูกสร้าง รอบๆ บ้านมีต้นขนุนและต้นไม้หลายชนิดปลูกไว้ ซึ่งพบคนในครอบครัวของนายมงคล และชาวบ้านกำลังยืนมุงดูผีเสื้อที่ถูกจับขังไว้ในกรงด้วยความตื่นเต้น

จากการตรวจสอบเป็นผีเสื้อไม่ทราบชนิดและเพศมีสีลำตัวและปลีกเป็นสีส้มอมแดง มีขนาดความยาวตั้งแต่ปลายปีกด้านขวาถึงด้านซ้ายยาว 27 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่กว่าผีเสื้อที่พบเห็นทั่วไป

จากการสอบถามนายมงคลที่พบเห็นผีเสื้อเป็นคนแรก เปิดเผยว่า
 
ขณะเปิดประตูบ้านจะออกไปทำธุระนอกบ้านเมื่อเช้าวันนี้ ต้องตกใจเมื่อพบกับผีเสื้อขนาดใหญ่ บินมาเกาะกินใบของต้นขนุนหน้าประตูบ้าน ด้วยความตกใจและแปลกใจที่ไม่เคยพบเห็น จึงจับผีเสื้อดังกล่าวใส่ไว้ในกรงหนูแฮมสเตอร์เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นสัตว์แปลกประหลาด และอาจจะให้โชคลาภกับตนอีก ทั้งยังคิดว่าตั้งแต่ตนเกิดมาจนอายุ 51 ปี ก็ยังไม่เคยเห็นผีเสื้อที่มีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน
จึงคิดว่าน่าจะเป็นสัตว์หายากและกลัวจะสูญพันธุ์จึงจับไว้ให้ผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อเข้ามาดู หากเป็นสัตว์หายาก ตนก็อยากจะให้นำไปเพาะเลี้ยง เพื่อที่จะได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่ายังมีคนอีกหลายคนยังไม่เคยเห็น ผีเสื้อตัวใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

ต่อมาผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง รศ.โกศล เจริญสม อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสอบถามรายละเอียดของผีเสื้อชนิดนี้ รศ.โกศลกล่าวว่า
 
ผีเสื้อที่ตกเป็นข่าวคือ ผีเสื้อหนอนใบกระท้อนหรือ ผีเสื้อยักษ์ อยู่ในวงศ์ผีเสื้อยักษ์ มีปีกแผ่กว้างประมาณ 15-18 เซนติเมตร ชื่อภาษาอังกฤษ Atlas moth ชื่อวิทยาศาสตร์ Attacus atlas ชื่อวงศ์ Saturniidae ชื่ออันดับ Lepidoptera เป็นผีเสื้อกลางคืน ระยะที่เป็นตัวหนอนกินใบกระท้อน ฝรั่ง และใบดาหลา ผีเสื้อตัวเมียวางไข่บนใบพืชอาหาร ลักษณะไข่กลมสีน้ำตาล ขนาดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ระยะฟักไข่ประมาณ 7 วัน เมื่อเป็นตัวหนอนมีปุ่มหนามทั่วตัว ลอกคราบ 5 ครั้ง หนอนวัยที่ 1 ขณะฟักออกจากไข่ ตัวยาวประมาณ 1 เซนติ เมตร หนอนวัยที่ 5 ขนาดตัวยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ระยะเวลาที่เป็นตัวหนอนประมาณ 1 เดือน ก่อนเตรียมตัวเข้าดักแด้ โดยการถักรังไหมสีน้ำตาลขนาด 3x6 เซนติเมตร หนอนลอกคราบเป็นดักแด้อยู่ในรังไหม ระยะดักแด้ 1-6 เดือน

"เมื่อออกเป็นตัวผีเสื้อปากจะเล็กจนเหลือนิดเดียวไม่ต้องกินอาหาร แต่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และออกไข่เพียงอย่างเดียว ผีเสื้อยักษ์ยังคงพบได้ทั่วไป ยิ่งบริเวณไหนมีป่ากระท้อนจะพบผีเสื้อชนิดนี้เป็นจำนวนมาก เพราะใบกระท้อนใหญ่และตัวหนอนชอบ ยืนยันได้ว่าผีเสื้อชนิดนี้ ยังไม่อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์แต่อย่างใด" รศ.โกศลกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์