นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์
ที่น่าเป็นห่วงคือเกมใต้ดินที่จะมีแนวโน้มจะมากยิ่งขึ้นเพื่อต้องการให้ เกิดความรุนแรง จนเป็นชนวนความเปลี่ยนแปลง โดยขณะนี้มีเสียงร่ำลือว่ามีความพยายามจะติดสินบน องค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ ถึงรายละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ตัดสินไปในแนวทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ ไม่ได้มีหลักฐานอะไรยืนยัน เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น เพราะเมื่อองค์คณะ 5 คน จาก 9 คน ลงความเห็นไปในทางที่จะไม่ยึด การลงทุนเช่นนี้ถือว่า คุ้มค่ากับเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคฯ กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์วันที่ 26 ก.พ.นี้ เป็นแค่ศึกหนึ่งของสงครามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกแบบให้ยาวนานยืดเยื้อ
โดยมีเป้าหมายที่สูงกว่าเงิน 76,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าแม้ผลการตัดสินจะออกมาเป็นเช่นไร ความขัดแย้งในสังคมคงไม่จบง่ายๆ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะส่งผลกระทบใน 5 ด้านประกอบไปด้วย
1.ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ที่ยังพร้อมจะเผชิญหน้ากัน อันสืบเนื่องมาจากกลไกของรัฐไม่ทำหน้าที่และไม่เข้าใจปัญหา แต่พยายามใช้กลวิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง เนื่องจากคนในรัฐบาลยังได้ประโยชน์กับการจัดทำโครงการใหญ่ๆ
2.พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงมีอิทธิพลกับสังคมต่อไป โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเงิน76,000 ล้านบาท และจะทำการสงครามเช่นนี้ต่อไป เพราะรอได้หากได้ตามเป้าหมายที่ใหญ่กว่า
3.วิกฤติความมั่นคงเกิดการขยายตัว จากการที่รัฐบาลยังไม่ยอมรับปัญหาถึงวิกฤติด้านความมั่นคงของประเทศ จนทำให้สถานการณ์ร้าวลึกและอาจเสี่ยงต่อการไม่มีโอกาสแก้ตัว
4.วิกฤติด้านกระบวนการยุติธรรม ที่นับวันจะยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จนประชาชนเกิดความไม่เชื่อถือ ขณะที่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการใดๆ
5.ขบวนการล้มเจ้า ที่นับวันยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีการพิพากษาแบบใด สถานการณ์คงไม่น่าจะหยุดอยู่แค่นี้ ประชาชนจะอยู่ในภาวะหวาดกลัว จนเกิดการตั้งกองทัพของประชาชนเพื่อดูแลชุมชนตัวเอง
ต่อมา นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงกรณีที่โฆษกพรรคการเมืองใหม่
แถลงมีข่าวลือในหมู่ผู้พิพากษาพูดคุยเรื่องการเสนอเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นสินบนให้ผู้พิพากษาองค์คณะตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริง การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาฯที่ผ่านมาทุกคดี ไม่มีเคยมีเรื่องการเสนอ สินบนใด ๆ การระบุเช่นนี้ เหมือนเป็นการปล่อยข่าวหวังผลทำให้เกิดความระแวงสงสัย ในการพิพากษาคดีที่กำลังใกล้จะตัดสินในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้ หากอ้างว่า มีการเสนอสินบนการตรวจสอบย่อมทำได้โดยตรวจดูจากเส้นทางการเงิน ยืนยันไม่เป็นความจริง และ ไม่มีองค์คณะแจ้งถึงกรณีดังกล่าว
เมื่อถามว่าเนื่องจากใกล้วันตัดสิน ศาลยุติธรรมจำเป็นต้องสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ นายสิทธิ์ศักดิ์ กล่าวว่าศาลไม่ต้องการสร้างเงื่อนไขใด ๆ โดยไม่จำเป็น
ซึ่งการวิจารณ์ผลคำพิพากษา ส่วนใหญ่เป็นการคาดเดาเอง ขณะที่ศาลไม่ต้องแสดงว่า ร้อนตัวจนต้องสั่งห้ามใด ๆ แต่ถ้ามีการแสดงความคิดเห็นที่หมิ่นเหม่กระทบต่อการพิพากษาคดีหรือองค์คณะ ก็ต้องดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไป
"ศาลให้ความสำคัญต่อการเก็บรักษาคำพิพากษาเป็นความลับ ไม่เปิดเผยจนกว่าถึงวันตัดสิน ดังนั้น หากจะมีพูดถึงคำพิพากษา ก็เป็นเพียงการคาดเดาตามความคิด หรืออัตวิสัยของแต่ละคนเท่านั้น" โฆษกศาลยุติธรรมระบุ