คำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ทักษิณของอัยการ(2) ไขปริศนาคู่แฝด แอมเพิลริชฯ-วินมาร์คกลไกซุกเงิน ตปท.

หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"- เป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงปิดของอัยการสูงสุดในคดี ร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน อันเนื่องมาจากขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้ คำแถลงของอัยการสูงสุดระบุว่า  พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น เป็นเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สิน มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ในชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพิณทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน


ชั้นไต่สวนผู้คัดค้านทั้ง 22 คนยื่นคำคัดค้าน ศาลไต่สวนพยาน ผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านและพยานที่ศาลเรียกมาไต่สวนเองจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
-------------------------------------
การปกปิดการถือครองหุ้นวินมาร์ค, แอมเพิลริช


หุ้นบริษัทวินมาร์ค จำกัด


คดีนี้ศาลไต่สวนนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ให้การยืนยัน บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท เอสซีแอสเซทฯ)-กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ส่งข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจสอบมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2537 ผู้ถูกกล่าวห(พ.ต.ท.ทักษิณ)และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 ตั้งบริษัทวินมาร์ค จำกัด (บริษัท วินมาร์ค) จดทะเบียนที่ บริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ (BVI) และลงนามใน Agreement for the provision of Corporate Services(ข้อตกลงการชั่วคราวเพื่อการจัดการบริษัท) ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2537 กับแมทธีสัน ทรัสต์ คอร์ปอเรท (สิงคโปร์) โพไพรเทรี่ ลิมิเต็ด (Matheson Trust Corporate Service Limited) เป็นตัวแทนในการดำเนินการต่างๆ ของวินมาร์ค โดยให้ Abraxas Limated (ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มแมทธีสันฯ) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทวินมาร์คฯ แทนในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับผลประโยชน์


ต่อมาในช่วงกลางปี 2543 ผู้ถูกกล่าวหาและภรรยาได้ขายหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซทฯ และหุ้นบางส่วนของบริษัทของครอบครัวอีก 5 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด, 2. บริษัท เวิร์ธ ซัพพลาย จำกัด, 3. บริษัท บี.พี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, 4. บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด และ 5. บริษัท เอส ซี ออฟฟิส ปาร์ค จำกัด ให้แก่บริษัท วินมาร์ค จำกัด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,527 ล้านบาท โดยได้รับชำระเงินในช่วงเดือนพฤษภาคม -  กันยายน 2543


 เงินทั้งหมดมาจากบัญชีเงินฝากในประเทศสิงคโปร์ โดยส่วนหนึ่งมาจากบัญชีบริษัทวินมาร์ค 3 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีที่มีผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์รวม 1,219 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งมาจากบัญชีของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 308 ล้านบาท


ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2543 บริษัท วินมาร์คฯ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นเดิมเป็นบลูไดมอนด์ (Blue Diamond International Ltd หรือ Blue Diamond) ซึ่งบลูไดมอนด์จดทะเบียนในบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ (BVI) มีหุ้น 100 หุ้น หุ้นละ 1 ดอลลาห์สหรัฐ ถือหุ้นโดย Abraxas Limited ซึ่งบลูไดมอนด์ เป็นส่วนหนึ่งของซินาตร้า ทรัสท์ (Sinatra Trust) โดยถือหุ้นในบลูไดมอนด์ 100%


ทั้งนี้ซินาตร้าฯ มีผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 1 และครอบครัวเป็นเจ้าของผู้รับประโยชน์


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 บริษัทวินมาร์ค ทำสัญญาซื้อขายหุ้น 14 ล้านหุ้นทั้งหมดกับ VIF (Value Asset Fund Limited) (เดิมชื่อ Value Asset Fund Limited :VAF) ทำให้วินมาร์คเป็นเจ้าของ VIF


การชำระค่าหุ้นที่ซื้อดังกล่าว วินมาร์คโอนหุ้นบริษัท โอ เอ ไอ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอสซีแอสเซทฯ (SC Asset) )ที่ถือครองทั้งหมดให้ VIF


 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2546 VIF โอนหุ้นบริษัทเอสซีแอสเซทฯ ทั้งหมดให้กับ โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ (Overseas Growth Fund Inc.) (OGF) และออฟชอร์ไดนามิกฟันด์ (Offshore Dynamic Fund) (ODF)


แต่ VIF ยังคงเป็นเจ้าของ บริษัท เอสซี แอสเซทฯ (เพราะ VIF เป็นผู้ถือครองหุ้น 100% ในบริษัท OGF และ ODF)


ต่อมาบริษัท เอสซี แอสเซทฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 ซึ่ง OGF และ ODF ได้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซทฯ มาโดยตลอด จนกระทั่งประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม 2549 OGF และ ODF จึงได้ทยอยขายออกไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนหมด


เห็นได้ว่า บริษัท วินมาร์คฯ VIF, OGF และ ODF เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้น (Nominee) ของผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมานฯ อันแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมานฯ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของหุ้นและเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซทฯ และหุ้นของบริษัทในครอบครัวชินวัตรอีก 5 แห่งที่ถือโดยนิติบุคคลดังกล่าวโดยตลอด


พยานหลักฐาน รับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมานฯ เป็นเจ้าของบริษัท วินมาร์ค จำกัด, VIF, Overseas Growth Fund (OGF) และ Offshore Dynamic Fund (ODF) โดยมีอำนาจสั่งการ และเป็นผู้รับประโยชน์


หลักฐานจากต่างประเทศทั้งหมดนั้นเมื่อนำมาพิจารณากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เช่น การซื้อขายหุ้นเอสซี แอสเซทฯ ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวกับ บริษัท วินมาร์ค จำกัด สอดคล้องต้องกันให้น่าเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของบริษัท เอสซี แอสเซทฯ และ บริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งบริษัท วินมาร์ค จำกัด เป็นบริษัทที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 มีอำนาจสั่งการเข้าถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 53,642,130 หุ้น อยู่ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี  เงินทั้งหลายที่ทำการซื้อขายหุ้นก็วนกลับไปเข้าบัญชีของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น


ดังนั้นการที่ผู้ถูกกล่าวหาขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าถือหุ้นในบริษัทวินมาร์ค จำกัด ก็เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปฯ โดยปริยายซึ่งมีธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารอันรับสัมปทานจากรัฐ จึงเป็นการการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมและผู้ถูกกล่าวหา ไม่แสดงการถือครองหุ้นดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินจึงเป็นการปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ผ่านบริษัทวินมาร์ค จำกัด


ดังนั้นทรัพย์สินเงินค่าหุ้น เงินปันผลที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวได้รับจากบริษัทชินคอร์ปฯ ดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สิน มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่วหา อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติตามคำร้องของผู้ร้อง


หุ้นบริษัทแอมเพิลริช อินเวสเม้นท์ จำกัด (Ample Rich Investments Limited)


ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551ว่า บริษัทแอมเพิลริช อินเวสเม้นท์ จำกัด จัดตั้งตามกฎหมายบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ (BVI) ผู้ถูกกล่าวหารับว่าเป็นเจ้าของหุ้น 100% จำนวน 1 เหรียญสหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหานำหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ผู้ถูกกล่าวหาถืออยู่ จำนวน 329,000,000 หุ้น คิดเป็น 11.875% โอนให้บริษัทแอมเพิลริช เพื่อนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แนสแดค (NASDAQ) และได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ทราบแล้ว ( และเคยลงลายมือชื่อมอบให้ธนาคารยูบีเอสขณะเปิดบัญชีของบริษัทแอมเพิลริช ตั้งแต่ปี 2542ที่นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ส่งให้ คตส.ระบุข้อ 3 ผู้มีอำนาจลงนามถอนเงิน คือ Dr. T SHINAWATRA และข้อ D. รายชื่อกรรมการและหมายเลขหนังสือเดินทางคือ c. Thaksin SHINAWATRA (Dr.) / 15169 (c. ดอกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร /D. 15619)


โดยผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ได้โอนหุ้นบริษัทแอมเพิลริช 1 หุ้นดังกล่าวให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 แต่ไม่รายงานตลาดหลักทรัพย์ ผู้คัดค้านที่ 2 เพิ่งมารายงานเมื่อวันที่ 23 และ 30 มกราคม 2549 อันเป็นเวลาภายหลังการซื้อมาจำนวน 6 ปี และภายหลังขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก และเกิดการตรวจสอบหุ้นของผู้ถูกกล่าวหาจาก ก.ล.ต. การรายงาน ก.ล.ต.จึงไม่น่าเชื่อถือ ว่า นายพานทองแท้ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของบริษัทแอมเพิลริช จริง และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ก็เบิกความยืนยันว่า แอมเพิลริช เป็นของผู้ถูกกล่าวหา โดยเป็นผู้ถือหุ้นแอมเพิลริช


ดังนี้พยานหลักฐานฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาครอบงำอำพรางการถือหุ้นชินคอร์ป โดยให้บริษัทแอมเพิลริชถือไว้แทนในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี


การจัดการชื่อผู้ถือหุ้นชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 46.87% มูลค่า 69,000 ล้านบาทนั้น ได้แสดงให้เห็นไว้เป็นเบื้องต้นว่า ไม่ว่าหุ้นจำนวนนี้จะถูกอ้างว่าเป็นของใครในชื่อใครก็ตามหุ้นนั้นจะยังคงแสดงว่ายังคงเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เสมอ


โดยความเป็นมา "ชื่อ" บุตรและพี่น้องที่อ้างว่าเป็นเจ้าของหุ้น 46.87% นี้ ล้วนมาจากการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น


แม้ต่อมาจะมีพิรุธแจ้งขอแก้แล้วแก้อีก ติ๊กผิดติ๊กถูกมาตลอด ก็ยังไม่เคยมีการตรวจสอบโดยฝ่ายใดทั้งสิ้นไม่ว่าโดย ก.ล.ต,หรือโดยหน่วยงานใดเลยในสภาพดังกล่าว การตรวจสอบของ คตส.ได้รวบรวมหลักฐาน ทั้งปากคำบุคคลและพยานเอกสาร แบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

ส่วนแรกเป็นการใช้ชื่อบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของหุ้นได้แก่ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร, นางสาวพิณทองทา ชินวัตร, นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายบรรพจน์ ดามาพงศ์


ส่วนที่สองเป็นการใช้ชื่อบริษัทเป็นหุ้นเชิดคือบริษัทแอมเพิลริช และบริษัทวินมาร์ค


จากนั้นจึงเป็นส่วนที่สามคือวิเคราะห์ถึงการใช้เงินค่าขายหุ้นทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์