สำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึงบทวิเคราะห์ ความเสี่ยงทางการเมืองของไทยที่ต้องจับตามอง ปัจจัยสำคัญแรกคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะไทยยังคงแตกแยกและแบ่งเป็นฝักฝ่าย ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว
รอยเตอร์ระบุอีกว่า แม้จะมีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่เชื่อว่าไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดที่แข็งแรงพอสำหรับการเลือกตั้งในขณะนี้ อย่างไรก็ตามหากมีการยุบสภาก่อนครบวาระ การเลือกตั้งครั้งใหม่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพันธมิตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง และกลุ่มเสื้อเหลืองต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลอีก เลวร้ายไปกว่านั้น กองทัพอาจตัดสินใจเข้าแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาอีกอย่างหนึ่งคือการวางแผนประท้วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
แม้ว่าการเดินขบวน 6 ครั้งก่อนหน้านี้จะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย แต่การชุมนุมครั้งล่าสุดนี้ถูกขนานนามว่าเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ส่วนการพิพากษาคดีว่าจะมีการยึดทรัพย์มูลค่า 7.6 พันล้านบาทของครอบครัวชินวัตรซึ่งอัยการระบุว่าเป็นความร่ำรวยผิดปกติ ก็อาจกระตุ้นให้กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณโกรธเคืองขึ้นอีกครั้งด้วยความเชื่อที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวมีแรงจูงในทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
ส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง รอยเตอร์ระบุว่าการปฏิวัติที่สัมฤทธิผลเกิดขึ้นถึง 18 ครั้ง
ความเป็นไปได้ของการปฏิวัติจะมีขึ้นต่อเมื่อเกิดเหตุปั่นป่วนวุ่นวายบนท้องถนนในไทยอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีนี้ การปฏิวัติที่ประสบผลสำเร็จจะกระตุ้นตลาดได้ในระยะสั้น แต่ผลกระทบในระยะยาวคือแรงดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศของไทยจะตกไปอยู่ในแดนลบ