ส.ว.ยื่น ป.ป.ช.ฟันสุรยุทธ์แสดงบัญชีเท็จ แปลงเขายายเที่ยง จากเจ้าของ เป็นแค่สิทธิทำประโยชน์

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ   สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา  เปิดเผยเมื่อวันที่ 18  มกราคมว่า

ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ว่า จงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263  ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ เนื่องจากมีการแปลงรายการทรัพย์สินที่ดิน"เขายายเที่ยง"จากที่เคยระบุว่า เป็นเจ้าของ เป็นแค่"ซื้อสิทธิทำประโยชน์" รวมทั้งแสดงมูลค่าเกินจริงไป 1.3 ล้านบาท


หนังสือของนายเรืองไกรระบุว่า  พล.อ.สุรยุทธ์ได้ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินขณะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม249

และเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2550 ซึ่งสำหรับคู่สมรส คือ  พ.อ.หญิง คุณหญิง จิตรวดี  จุลานนท์  ได้แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินส่วนที่เป็นที่ดินของตนเองไว้ 3 แปลง มูลค่า 7,00,000 บาท และมีสิ่งปลูกสร้าง  3 หลังมูลค่า รวม 10,000,000 บาท โดยระบุว่า มีที่ดิน ภ.บ.ท. 5 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 21 - 0 - 0 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองไผ่ ต.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา(เขายายเที่ยง) และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่งหลัง เลขที่ 10 หมู่ 6  ต.คลองไผ่ ต.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา  โดยไม่ได้แยกราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแปลง ภ.บ.ท. 5 เอาไว้ 
          

ต่อมา เมื่อวันที่  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551และ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552

พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินเมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเมื่อพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี ซึ่ง พ.อ.หญิง ท่านผู้หญิง จิตรวดี  จุลานนท์  ได้แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินส่วนที่เป็นที่ดินของตนเองว่า มีที่ดินเหลือเพียง 2 แปลงมูลค่า 5,00,000 บาท(จากเดิม 3 แปลง มูลค่า 7,000,000 บาท  และมีสิ่งปลูกสร้าง  2 หลังมูลค่ารวม 9,400,000 บาท(จาเดิม 3 หลัง มูลค่า 10,000,000 บาท )โดยที่ดินแปลงที่หายไปคือที่ดิน ภ.บ.ท. 5  เนื้อที่ 21 - 0 - 0 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองไผ่ ต.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา(เขายายเที่ยง) และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่งหลัง เลขที่ 10 หมู่ 6  ต.คลองไผ่ ต.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา 


อย่างไรก็ตาม  ที่ดินบนเขายายเที่ยงถูกแจ้งไว้ในรายการทรัพย์สินในส่วนสิทธิและสัมปทานโดยระบุว่า มีอยู่ 1 รายการ มูลค่า 700,000 บาท และมีคำอธิบายเว่า "ซื้อสิทธิในการทำประโยชน์บนที่ดินว่างเปล่าและปลูกต้นไม้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื้อที่ 21 ไร่ โดยได้จ่ายเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ตามกฎหมายทุกปีตลอดมา ที่ดินตั้งอยู่ที่ เลขที่ 10 หมู่ 6 ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา  ว/ด/ป ที่ได้มา 12 พ.ย. 2545 " พร้อมกับระบุหมายเหตุไว้ว่า


1.ที่ดินแปลงนี้ มิได้ใช้ทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น รีสอร์ท หรือ ร้านอาหาร ฯลฯ แต่อย่างใด


2.ที่ดินแปลงนี้ มิได้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย หรือ มีกรรมสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของ

3.แสดงสำเนา


-แบบแสดงรายการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

-แบบแสดงรายการที่ดิน


-รูปลักษณะที่ดินที่ทำการสำรวจ


-ใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี พ.ศ. 2550

           
หนังสือนายเรืองไกรระบุว่า  เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้ง 4 ครั้งข้างต้น ทำให้เข้าใจได้ว่าในการยื่นบัญชีทรัพย์สินส่วนของที่ดินแปลง   ภ.บ.ท. 5 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 21 ไร่  บนเขายายเที่ยง ควรมีมูลค่าที่แสดงไว้เป็นเงิน 2,000,000 บาท (นำราคารวม 7,000,000 ลบด้วย 5,000,000 บาท)  แต่กลับระบุในบัญชีทรัพย์สินที่เป็นสิทธิและสัมปทาน ในราคาเพียง 700,000 บาท เห็นว่า  การแจ้งบัญชีทรัพย์สินส่วนที่เป็นที่ดินเมื่อคราวรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น แสดงไว้สูงกว่าคราวเมื่อพ้นจากตำแหน่ง เป็นจำนวนเงิน 1,300,000 บาท


การที่พล.อ.สุรยุทธิ์แสดงทรัพย์สินบนเขายายเที่ยงว่า เป็นสิทธิและสัมปทานโดยมีหมายเหตุว่า

ที่ดินแปลงนี้ มิได้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย หรือมีกรรมสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของ  ก็แสดงว่า พล.อ.สุรยุทธ์ย่อมต้องรู้ว่า ที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินของตนเองที่จะนำมาตีมูลค่าแล้วนำมาแสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินของตนได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับข่าวในสื่อมวลชนในวันที่ 12 มกราคม 2553 ที่ผู้สื่อข่าวถามว่า  ทราบหรือไม่ว่า พื้นที่ที่ครอบครองมีความผิดตามกฎหมาย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ในแง่ที่เป็นความผิดต่างๆ ตนไม่ได้ทราบในรายละเอียดมากนัก

ดังนั้น การนำที่ดินแปลงดังกล่าวมายื่นแสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินทั้งในประเภทที่ดินหรือในประเภทสิทธิและสัมปทานในแต่ละคราว

โดยมีการแสดงมูลค่าของทรัพย์สินด้วยนั้น อาจจะเป็นการแจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จได้   เนื่องจากในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90-97/2536 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่หาใช่หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่พิพาทไม่” 


นอกจากนั้น ตามแบบของสำนักงาน ป.ป.ช. มีคำอธิบายเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำหรับที่ดิน สิทธิและสัมปทาน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ไว้ดังนี้

ที่ดิน  หมายถึง ที่ดินที่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย   โดยมีหลักฐานที่ต้องแนบคือ สำเนาโฉนดที่ดินหรือสำเนาเอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน เช่น ส.ค.1,  น.ส. 3,  น.ส. 3ก เป็นต้น หรือสำเนาสัญญาซื้อขาย(ถ้ามี)


 สิทธิและสัมปทาน หมายถึง  สิทธิในทรัพย์สินทางวรรณกรรม  ศิลปกรรม ประดิษฐ์กรรม  และการที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับบริหารสาธารณะ หรือทรัพยากรธรรมชาติ  จนถึงสิทธิที่รัฐหรือเอกชนรับรอง  และสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้  เช่นลิขสิทธิ์ สิทธิตามสัญญาสัมปทานต่าง ๆ  สิทธิการเช่าที่ดิน  สิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟ  เป็นต้น  โดยมีหลักฐานที่ต้องแนบคือ สำเนาหลักฐานการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์   สำเนาเอกสารแสดงสิทธิในการเป็นสมาชิกสโมสรหรือชมรม  สำเนาเอกสารแสดงสิทธิ เช่น สัญญาเช่า  สัญญาจะซื้อจะขาย เป็นต้น


โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง บ้านอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่น เช่น อาคารพาณิชย์  ห้องชุด โกดัง  โดยมีหลักฐานที่ต้องแนบคือ ภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมระบุว่าปลูกสร้างบนที่ดินแปลงใด และของบุคคลใด หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด  กรณีไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน ให้แนบภาพถ่ายสีพร้อมระบุว่าปลูกสร้างบนที่ดินแปลงใด และของบุคคลใด
          
ดังนั้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.สุรยุทธิ์ว่า มีสิทธิและสัมปทานในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยระบุว่า

ซื้อสิทธิในการทำประโยชน์บนที่ดินว่างเปล่าและปลูกต้นไม้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอาศัยหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่นั้น สิทธิที่ระบุว่า ซื้อมานั้น  ควรถือเป็นค่าใช้จ่ายในการครอบครองที่ดินต่อจากผู้ขายสิทธิที่กระทำกันเองมากกว่าที่จะอ้างว่าเป็นสิทธิหรือสัมปทานตามความในแบบการยื่นบัญชีทรัพย์สิน  เพราะถ้าเป็นสิทธิในการใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ก็ควรจะเป็นการได้ใช้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวจากหน่วยงานของรัฐคือกรมป่าไม้  ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวปัจจุบันยังเป็นของรัฐและถ้ายังไม่มีการเช่าเพื่อทำประโยชน์จากกรมป่าไม้โดยชอบ 

เอกชนจะนำไปกล่าวอ้างว่า เป็นทรัพย์สินหรือสิทธิการเช่าของตนเองหาได้ไม่  การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสิทธิกันเองระหว่างบุคคลบนที่ดินของรัฐตั้งแต่วันที่ 12  พฤศจิกายน . 2545 มาแสดงเป็นทรัพย์สินมีมูลค่าของคู่สมรสอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในประเภทและมูลค่าทรัพย์สินตามมาได้นั้น

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าลักษณะการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 263  วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้  หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป”


 “ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งในวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย  และผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยด้วย”
           


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์