นายกฯเปิดทีวีครูทีชเชอร์ชาแนล แลกประสบการณ์สอน

"มาร์ค"เปิด"โทรทัศน์ครู"เม.ย.นี้ ออกอากาศทาง"ทีวีไทย-ดาวเทียม" เป็นเวทีกลางให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สอน ตั้งเป้าสร้างครูพันธ์ใหม่ 30,000 อัตรา เร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนครู-เงินวิทยฐานะ ลั่นปี′53 ขึ้นค่าตอบแทนให้แน่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์"

เมื่อวันที่ 17 มกราคม โดยนำเทปบันทึกการพูดคุยกับตัวแทนข้าราชการครูจากภาคต่างๆ รวมทั้งครูเอกชน ครูการศึกษานอกระบบ และผู้บริหารสถานศึกษาเนื่องในโอกาสวันครู เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มาออกรายการ โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากจะบอกครูทุกคนว่า ในเดือนเมษายนนี้จะมีสถานีโทรทัศน์ครู หรือทีชเชอร์ชาแนล เพื่อเป็นเวทีกลางให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน โดยจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม


ส่วนเรื่องงบประมาณที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องการเร่งรัดให้ถึงโรงเรียนโดยเร็วนั้น

ขอให้ความมั่นใจว่า งบประมาณด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสถานศึกษาจะมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งงบประมาณในโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ งบประมาณอบรมพัฒนาครูประจำการ ซึ่งขณะนี้งบฯบางส่วนต้องรอกฎหมาย โดยรัฐสภาจะเปิดการประชุมในสัปดาห์หน้า และจะเร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนครูและเงินวิทยฐานะด้วย


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนั้น ตามแนวทางการปฏิรูปจะเน้นเรื่องคุณภาพที่จะส่งผลถึงเด็กนักเรียนโดยตรง

ไม่เน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหน่วยงานการศึกษาอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการเรื่องอื่นๆ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการรวมหน่วยงานเข้าด้วยกันก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้น เช่น หน่วยงานประถมศึกษากับมัธยมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานกับอุดมศึกษา ซึ่งจะหารือกับนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ ว่าในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่จะต้องรับฟังผู้ปฏิบัติงานจริงๆ แต่ต้องไม่ทำให้ปัญหาเรื่องโครงสร้างหน่วยงาน หรือการถ่ายโอนลุกลามกลายเป็นปัญหาทางการเมือง หรือเกิดข้อขัดแย้งจนทำให้การพัฒนาหลักสูตร ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเรื่องคุณภาพได้รับผลกระทบ


"การที่นายชินวรณ์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะไม่กระทบกับนโยบายการศึกษาที่ทำอยู่ เพราะนายชินวรณ์ก็เป็นคนที่ร่วมกับผมทำนโยบายด้านการศึกษามาโดยตลอด" นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า สำหรับปัญหาของสถานศึกษาเอกชนนั้น จะเข้าไปดูว่าปัญหาเรื่องครูเอกชนมีความเหลื่อมล้ำกับครูในสังกัดรัฐบาลอย่างไร และจะแก้ไขในรูปแบบใด ส่วนเรื่องสัดส่วนการรับนักเรียน นักศึกษาของภาครัฐและเอกชนนั้น รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายว่าต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แต่ก็ยอมรับว่า ผลจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ทำให้เด็กไหลมาเรียนในสถานศึกษารัฐมากขึ้น แต่ต่อไปเมื่อกติกาของนโยบายเรียนฟรีชัดเจนขึ้น เชื่อว่าเด็กจะไหลกลับไปภาคเอกชน


ผู้สื่อข่าวรายงาน ตัวแทนครูในแต่ละภาต่างนำเสนอปัญหาในพื้นที่เ พื่อฝากรัฐบาลผ่านทางนายกฯ ให้แก้ไข 

อาทิ ตัวแทนครูที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอความเห็นใจเรื่องการทำผลงานการศึกษา เพราะในพื้นที่ต้องอยู่กันอย่างลำบาก ต้องคอยระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อยู่ตลอด ฉะนั้น รัฐบาลควรทำแนวการประเมินการทำผลงานวิชาการที่ให้น้ำหนักกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนโดยตรงให้มากขึ้น ส่วนของครูในภาคอีสานที่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน นอกจากนี้ ที่เห็นตรงกันคือ เรื่องครูอัตราจ้างที่ในปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการสักที


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะดูแลและแก้ปัญหาของครูมาโดยตลอด 

เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ และการเพิ่มในเรื่องของสวัสดิการ ส่วนการที่รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาครั้งที่แล้วได้มีการพูดถึงเรื่องของการพัฒนาวิชาชีพครู เรื่องของเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และในปี 2553 ในส่วนของระบบราชการทั้งหมด มีความตั้งใจว่าจะมีการขึ้นค่าตอบแทน


"กรณีที่การประเมินผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งบางพื้นที่มีหลักเกณฑ์การประเมินที่ไม่เหมือนกัน ผมยอมรับและเข้าใจว่าการเลื่อนวิทยฐานะยังมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งรัฐบาลจะพยายามปรับปรุงและเข้ามาดูแลปัญหานี้ ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้กระตุ้นให้มีการคืนครูให้นักเรียน ทำให้ภารกิจของครูสะสมเพิ่มขึ้นมีอะไรก็ให้ครูทำหมด อีกทั้งรัฐบาลยังมีโครงการครูพันธ์ใหม่ เรากำลังพยายามจะเริ่มให้ได้ 2,000 คน และตลอดระยะเวลาอีก 3 - 4 ปีข้างหน้า ก็อีกประมาณ 30,000 คน และโครงการที่จะฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรจะให้ครอบคลุมประมาณ 450,000 คน" นายอภิสิทธิ์กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์