มาร์คตั้งธานีสางคดีทนายสมชายสั่งรื้อใหม่ฆ่าหมู่กรือเซะ-ตากใบ โฆษกรบ.คุยปัญหาไฟใต้เริ่มดีขึ้น

"มาร์ค"ตั้ง"ธานี"สางคดี"ทนายสมชาย"สั่งรื้อใหม่ฆ่าหมู่"กรือเซะ-ตากใบ" โฆษกรบ.คุยปัญหาไฟใต้เริ่มดีขึ้น

"ปณิธาน" คุยปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้คลี่คลายระดับหนึ่ง ชาวบ้านเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม เผย นายกฯ ตั้ง "ธานี" ดูแลคดีอุ้มฆ่า "ทนายสมชาย" พร้อมกับเตรียมรื้อคดี "กรือเซะ-ตากใบ" พร้อมตั้ง อปภ.คุมบริหาร 5 จว.ใต้ ปรับลดกำลังทหารออกนอกพื้นที่ หวังลดบทบาทกอ.รมน.

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม ถึงกรณี     นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ อดีตทหารพราน เข้ามอบตัวตามหมายจับคดียิงชาวบ้านในมัสยิดอัลฟุรกอน ต.ไอปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ว่า อาจทนแรงกดดันไม่ไหวเพราะโดนตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นคนบุกยิงผู้ที่กำลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สถานการณ์ขณะนี้เมื่อผู้ก่อความไม่สงบเห็นว่าการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของไทยเชื่อถือได้ และสามารถพึ่งพาได้ ไม่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง จึงให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือภาคประชาชน เริ่มให้ข้อมูลกับรัฐมากขึ้นเพราะมีความคุ้นเคยกัน
 


"ผมคิดว่าคดีไอปาแยสามารถตอบโจทย์เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่ได้อย่างดี ถึงแม้ว่าคดีนี้จะมีความซับซ้อน แต่เห็นได้ว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มกระบวนการก่อความไม่สงบออกมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ทำให้คดีสามารถคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งคดีนี้สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ 3 อย่าง คือ  1.การบังคับใช้กฎหมาย 2.การให้ความเป็นธรรม 3.การทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนกับภาครัฐ"  นายปณิธานกล่าว


 รองเลขาธิการนายกฯ  กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและต้องการทำให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด คือ คดีนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม โดยสั่งการให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นคนดูแล เพราะเป็นคดีที่เป็นตัวชี้วัดความรู้สึกของประชาชนมากในระดับหนึ่ง สามารถสร้างเป็นแรงผลักดันในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ซึ่งขณะนี้ พล.ต.อ.ธานีได้เริ่มประชุมคณะทำงานแล้ว

"ส่วนการบริการจัดการในพื้นที่ รัฐบาลมี     นโยบายเน้นการพัฒนา ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.   ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ผ่านการพิจารณาจากสภาแล้ว รัฐบาลจะพยายามลดบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยการปรับลดจำนวนกำลังทหารหลักออกจากพื้นที่ ซึ่งจะใช้หลักการกำลังผสมทั้งพลเรือนและทหารเข้ามาแทนที่ เพราะการทำงานของ ศอ.บต.และ กอ.รมน. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนดูแลทั้งสองหน่วยงานต้องเดินควบคู่ไปด้วยกัน"  นายปณิธานกล่าว และว่า เมื่อมี ศอ.บต.เกิดขึ้น รัฐบาลจะทำให้พื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงสตูลและสงขลา ซึ่งอาจจะตั้งเป็นศูนย์การบริหารส่วนภูมิภาค (อปภ.) แต่ยังใช้หลักการของการปกครองระดับจังหวัดของกระทรวงมหาดไทยอยู่ แต่ที่เปลี่ยนคือ หลักการบริหารเท่านั้น เช่น ถ้าจะสร้างเขตอุตสาหกรรม ต้องมาขออนุมัติจากฝ่ายบริหารก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้ในพื้นที่มีสามารถพัฒนาศักยภาพให้มากที่สุด


นายปณิธาน กล่าวอีกว่า การดูแลภายใต้ ศอ.บต.ในอนาคต จะมีแขนของจังหวัด ดูแลทิศทางให้สอดคล้องกับจังหวัดอื่น แขนของศาสนา เพื่อลดช่องว่างของศาสนา แขนของความมั่นคง เพื่อดูแลงานความมั่นคง และจัดตั้งสภาที่ปรึกษาท้องถิ่น ทำแผนบูรณาการแต่ละจังหวัดร่วมกัน ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไร แต่ไม่ใช่เขตปกครองตนเอง แต่เป็นลักษณะการบริหารจัดการรูปแบบพิเศษ แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยระยะเวลา


 ส่วนการนำมาตรา 21 มาบังคับใช้ต้องประกาศให้ทุกพื้นที่อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงก่อน เนื่องจากมาตรา 21 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ความมั่นคง  รองเลขาธิการนายกฯ  กล่าวว่า  ซึ่งหากเป็นไปได้ รัฐบาลมีนโยบายนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงมีบังคับใช้ในทุกพื้นที่ในปี 2553


เมื่อถามว่า เตรียมรับการตอบโต้จากกลุ่มก่อความไม่สงบหลังจากรัฐเป็นฝ่ายรุกไว้อย่างไร นายปณิธานกล่าวว่า แน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามต้องรุกกลับในด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เสียมวลชนของตัวเอง แต่การที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่และมีแนวนโยบายพัฒนาลงไป ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะเดียวกันเหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ ก็มีการจับกุมตัวผู้กระทำได้ทันทีในหลายกรณี เนื่องจากขณะนี้ชาวบ้านให้เบาะแสเมื่อพบสิ่งผิดปกติ สะท้อนว่าเริ่มไว้วางใจรัฐมากขึ้นแล้ว และหลังจากนี้นายกฯก็จะลงพื้นที่อีก
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 19 มกราคม          กระทรวงมหาดไทยจะขออนุมัติการสนับสนุนงบประมาณกลางปีประจำปีงบประมาณ 2553 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรจุกอง     กำลังพลอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองจังหวัดชายแดนใต้ เฝ้าระวังป้องกันการก่อเหตุร้าย ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 1,440 อัตรา      โดยใช้งบประมาณเป็นค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยง ค่าเข้าอบรม ค่าเบี้ยเสบียงสนาม ค่าเครื่องนอน ค่ายุทธการ วงเงิน 399,320,800   บาท โดยอัตราที่บรรจุจะกระจายไปยังเขตเมืองของจังหวัด 4 จังหวัด 6 อำเภอ ดังนี้ 1.จังหวัดยะลา 480 คน ให้อำเภอเมืองจังหวัดยะลา 280 คน อำเภอเบตง 280 คน 2.จังหวัดนราธิวาส 480 คน ให้อำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส 280 คน อำเภอสุไหงโก-ลก 280 คน จังหวัดปัตานี ให้อำเภอเมืองปัตตานี 280 คน จังหวัดสงขลา ให้อำเภอหาดใหญ่ 280 คน


ด้านนายพีรยศ ราฮิมมูลลา ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (วอร์รูมภาคใต้) ของพรรค เปิดเผยว่า นอกจากการคลี่คลายคดียิงมัสยิคอัลฟุรกอน ต.ไอปาแย แล้ว ตนยังขอให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รื้อฟื้นคดีสำคัญในอดีต เช่น คดีกรือเซะ คดีตากใบ ฯลฯ กลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งนายสุเทพบอกกับตนว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ธานีเข้าไปดูแลคดีที่เกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ทั้งหมด ตนจึงอยากเสนอให้นำรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบชุดที่มีนายจรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ ซึ่งจัดทำสมัยรัฐบาลไทยรักไทยมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ เพราะรายงานฉบับดังกล่าวบอกไว้ชัดว่า คดีสำคัญทั้ง 2 มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง โดยขอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะอยู่กับฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล


"ปัญหาภาคใต้ถ้าคดีความต่างๆ เดินหน้าจะสามารถลดความตึงเครียดได้ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีความรู้สึกลึกๆ ว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ที่ขณะนี้อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาบอกกับผมว่าให้เร่งดำเนินคดีสำคัญต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากจะมีการประชุมองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ขึ้นที่ประเทศทาจิกิสถาน เพราะเป็นไปได้ว่าจะมีตัวแทนขบวนการในพื้นที่บางส่วน ขอให้บางประเทศนำปัญหา      ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยไปพูดในที่ประชุม โอไอซี" นายพีรยศกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์