ก.ตร.ยันมติเดิม3นายพลไม่ผิดตามคำวินัจฉัยป.ป.ช."ปทีป"เตรียมรับ"สุชาติ-เพิ่มศักดิ์"กลับรับราชการต่อ การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 มกราคม มีมติยืนตามมติเดิม ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) อุดรธานี ไม่มีความผิดตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง และ ก.ตร.มีมติให้ปลดออก พร้อมให้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ขัดแย้งต่อไป พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกตร. กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้มีเรื่องพิจารณาสำคัญๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีหนังสือถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานก.ตร. ให้ทบทวนมติก.ตร.ครั้งที่ผ่านมาที่ให้คำอุทรณ์ของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.จว.อุดรธานีฟังขึ้น(กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติว่า นายพลตำรวจทั้งสามนายกระทำผิดวินัยร้ายแรงฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ที่อุดรธานี)จนนายพลทั้งสามถูกปลดออกจากราชการ)ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีการเสนอข้อเท็จจริงนำข้อกฎหมายต่างๆพิจารณารวมทั้ง ข้อคิดเห็นต่างๆ ใช้เวลาในการพิจารณานานเกือบ 3 ชั่วโมง หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาประธานก็ขอความเห็นในที่ประชุม ว่า ก.ตร.มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า ผลการขอความคิดเห็นในที่ประชุม ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่ เป็นเสียงเดิมจากครั้งที่แล้ว มีความเห็นเหมือนเดิมตามมติก.ตร.ว่า การอุทรณ์ของนายตำรวจทั้ง 3 นายฟังขึ้น แต่เนื่องจากการพิจารณาเรื่องนี้หมิ่นเหม่เรื่องของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มติก.ตร.จึงเห็นควรให้ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่พิจารณาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่มีข้อคิดเห็นเรื่องนี้หลายประการ การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะทำให้ชัดเจนขึ้น ขั้นตอนจากนี้เลขานุการ ก.ตร.จะมีหนังสือรับรองมติที่ประชุมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกเรื่องเป็นเรื่องที่พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. แจ้งต่อที่ประชุมก.ตร.เรื่องการแต่งตั้งระกับรองผบก.- สว.ว่าจะให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 ม.ค. นี้ และจะให้มีผลในวันที่ 16 ก.พ. ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยทราบแล้วและจะไม่มีการเลื่อนการแต่งตั้งออกไปอีก ข่าวแจ้งว่าที่ประชุมว่า การพิจารณาเรื่องการอุทธรณ์ของ 3 นายพลตำรวจ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ใช้ระยะเวลานาน โดยเริ่มจากนายสุเทพ กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่าง ก.ตร.และ ป.ป.ช.มาพิจารณา จากนั้นนายสุเทพได้ถามที่ประชุมว่า นายกฯให้ทบทวนมติ มีใครจะเปลี่ยนแปลงมติที่ลงไว้เดิมหรือไม่ โดยมติเดิม ก.ตร. 10 เสียงมีมติว่าอุทรณ์ฟังขึ้น ขณะที่ 5 เสียงยังกังขาว่า ก.ตร.มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ก็งดออกเสียงไป ซึ่งครั้งนี้นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เดิมที่อยู่ใน 10 เสียง ที่เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น แต่ครั้งนี้ของดออกเสียงโดยอ้างว่าครั้งก่อนยังไม่ได้ศึกษาข้อมูล หลังจากไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และกฎหมาย ป.ป.ช.ขัดแย้งกันอยู่จึงงดออกเสียง ทำให้ครั้งนี้มี 9 เสียงที่เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ควรให้นายพลตำรวจทั้ง 3 นายกลับเข้ารับราชการตามเดิม
“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการแทรกแซงของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด เพราะนายกฯเป็นผู้บริหารประเทศสูงสุดอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นเรื่องของความขัดแย้งแต่มติก.ตร.เป็นอย่างก็ต้องเป็นเช่นนั้น และมติก.ตร.ก็ไม่ใช่ที่สุดต้องหารือกันอีก เมื่อก.ตร.มีมติไปก็ต้องไปผ่านขั้นตอนของที่ประชุมครม.และศาลรัฐธรรมนูญอีก และหากส่งเรื่องให้นายกฯรัฐมนตรีพิจาณาและสุดท้ายนายกฯส่งกลับมาให้พิจารณาอีกครั้งก.ตร.ก็ต้องทำ”
แหล่งข่าวกล่าวว่า พล.ต.อ.ปทีปกล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อ ก.ตร.มีมติยืนยันมติเดิม ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ตร.อีกครั้งเพื่อพิจารณารับ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท อยู่ที่นายกฯเป็นผู้พิจารณาเพราะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าก่อนการประชุม ก.ตร. พล.ต.อ.ปทีปเดินทางเข้าพบนายสุเทพที่ทำเนียบรัฐบาล และภายหลังเข้าพบกว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.อ.ปทีปกล่าวว่า มาหารือเรื่องทั่วไปเท่านั้น ขณะที่การประชุม ก.ตร.ครั้งนี้มี ก.ตร. 5 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ก.ตร.ครั้งนี้ โดยอ้างว่าติดภารกิจ ประกอบด้วย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.อำนวย ดิษฐกวี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมศักดิ์ บุญทอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิเชียรได้งดออกเสียง และนายสมศักดิ์เดินออกจากที่ประชุมก่อนการลงมติ
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ก.ตร.ได้มีกลุ่มประชาชนประมาณ 100 คน นำดอกไม้มามอบให้นายสุเทพ และขอร้องให้นายสุเทพสนับสนุนการลงมติยกโทษให้นายพลตำรวจทั้ง 3 นาย และเมื่อนายสุเทพขึ้นไปยังบริเวณห้องประชุม คณะนายตำรวจนอกราชการประมาณ 10 นาย นำโดย พล.ต.ท.ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ อดีต ผบช.น. เจ้าของฉายา"หน้ากากเสือ" เข้ามอบกระเช้าดอกไม้ให้นายสุเทพ และเรียกร้องให้นายสุเทพ และ ก.ตร.ทุกนายสนับสนุนการลงมติการลงมติยกโทษให้นายพลตำรวจทั้ง 3 นายเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ คดีปล่อยปละละเลยให้กลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกันที่ จ.อุดรธานี ซึ่งมีโทษปลดออก หรือไล่ออกเท่านั้น และนายอภิสิทธิ์ มีคำสั่งให้ปลดออก พล.ต.อ.พัชรวาท ส่วน พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ พล.ต.อ.ปทีป มีคำสั่งปลดออก จากนั้นทั้ง 3 นายได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. และ ก.ตร.มีมติว่าทั้ง 3 นายไม่มีความผิด แต่นายอภิสิทธิ์เห็นว่ามติของ ก.ตร.ขัดกฎหมาย เนื่องจากฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. และสั่งให้นายสุเทพ นำเรื่องเข้าพิจารณาใน ก.ตร.เพื่อทบทวนอีกครั้ง ซึ่ง ก.ตร.ก็มีมติยืนตามมติเดิม
ก.ตร.ยันมติเดิม3นายพลไม่ผิดตามคำวินัจฉัยป.ป.ช.ปทีปเตรียมรับสุชาติ-เพิ่มศักดิ์กลับรับราชการต่อ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ก.ตร.ยันมติเดิม3นายพลไม่ผิดตามคำวินัจฉัยป.ป.ช.ปทีปเตรียมรับสุชาติ-เพิ่มศักดิ์กลับรับราชการต่อ