คมชัดลึก : การประกาศจุดยืนอันชัดเจนว่า "ไม่เอาหวยออนไลน์" ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางการยกเลิกโครงการจำหน่ายสลากกินแบ่งเลขท้าย 3 และ 2 ตัว ด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือหวยออนไลน์
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกโหมขึ้นต้อนรับปีใหม่ เพราะโครงการนี้เดินหน้ามาจนเกือบจะถึงปลายทางแล้วด้วยซ้ำ หลังจากให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรียบร้อยแล้วว่า สามารถทำได้ รวมทั้งมีการศึกษาถึงผลกระทบทางสังคมไปแล้วเช่นกัน
แน่นอนว่าจุดยืนของนายกรัฐมนตรีนั้น ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นแย้งในเวลาเดียวกัน
ทว่า มุมมองของขุนคลังอย่าง "กรณ์ จาติกวณิช" ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งยังเป็นเจ้าของโครงการหวยออนไลน์นั้น ได้เปิดมุมมองเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อใน "เครือเนชั่น" ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
"กรณ์" ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่สนับสนุนหวยออนไลน์ เพราะมองว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี เป็นการเปิดทางให้ประชาชนหันมาเล่นหวยหรือการพนันได้ง่ายขึ้น แต่สาเหตุที่ต้องเดินหน้ามาจนถึงจุดนี้ เนื่องจากต้องเคารพสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน เมื่อเข้ามาแรกก็เคยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูสัญญาเหมือนกัน จึงมีการชะลอโครงการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายที่นายกฯ ต้องตัดสินใจ
"เมื่อโครงการหวยออนไลน์งวดเข้ามา ก่อนปีใหม่นายกฯ เลยมาปรึกษาว่าจะตั้งผมเป็นกรรมการขึ้นมาพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ผมชี้แจงไปว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง และสำนักงานสลากฯ มีการพิจารณาแล้วหลายรอบ จึงเสนอให้นายกฯ ตั้งกรรมการที่เป็นกลางขึ้นมาตรวจสอบจะดีกว่า โดยพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบสัญญาว่ามีช่องให้รัฐยกเลิกได้หรือไม่ ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่ และตอนนี้ก็ต้องรอผลสรุปก่อน"
รมว.คลังยอมรับว่า เป็นเรื่องยากในการตัดสินใจเรื่องหวยออนไลน์ เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะชี้ชัดได้ว่าผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนมากกว่า และหวยออนไลน์ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเชื่อของสังคมที่แบ่งเป็น 50 ต่อ 50 ในด้านดีและไม่ดีหากจะมีหวยออนไลน์ในประเทศไทย โดยฝ่ายที่เห็นว่าดีเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องลอตเตอรี่แพง แก้ปัญหาหวยใต้ดินได้ และช่วยให้เกิดการสร้างงาน ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายมาให้ถูกกฎหมาย ส่วนอีกฝ่ายก็มองว่าไม่ดีเป็นเรื่องอบายมุข ทำให้เยาวชนเข้าถึงการพนัน หรือเล่นหวยได้ง่ายขึ้น ขณะที่หวยออนไลน์ไม่สามารถแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้
ขุนคลังรายนี้ยังย้ำว่า ก่อนหน้าที่จะลงสมัครเป็น ส.ส.ก็เคยมองเรื่องนี้เป็นเชิงธุรกิจและมีมุมมองคล้ายกับอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ แต่เมื่อเข้ามาเป็น ส.ส. ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ก็เห็นกับตาว่าตอนที่รัฐบาลให้ขายหวยบนดินนั้น ในพื้นแทบทุกตรอกทุกซอยมีการตั้งโต๊ะขายหวยเต็มไปหมด ก็รู้ว่ามันเป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าหวยใต้ดิน จึงทำให้มุมมองเปลี่ยนไปมาก และเมื่อมีเครื่องออนไลน์คนเป็นพ่อแม่ก็อาจใช้เครื่องไม่เป็น จึงมีโอกาสไม่น้อยที่ใช้ให้ลูกหลานไปกดซื้อหวยให้ ทำให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับอบายมุขได้ง่ายขึ้น
"ตอนนี้ความเห็นและจุดยืนของผมอยู่ข้างเดียวกับนายกฯ แม้จะมีคนในตระกูลจาติกวณิชที่เห็นแตกต่างกันออกไป นั่นก็คือคุณลุงเกษม จาติกวณิช อันเป็นคุณลุงที่รักของผม เพราะท่านไปแต่งงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับล็อกซเล่ย์ ซึ่งก็ถือเป็นคุณป้าที่รักของผมเหมือนกัน ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยคุยกันถึงเรื่องนี้เลย ยืนยันว่าคนอื่นในครอบครัวไม่มีใครเกี่ยวข้องกับล็อกซเล่ย์ ส่วนการที่มีคนหยิบยกเรื่องนี้มาโจมตีผมก็ไม่แปลกใจ และว่าช่วงนี้ยิ่งใกล้ปรับ ครม. จึงน่าจะเป็นการดีที่ยืนข้างเดียวกับนายกฯ" กรณ์กล่าวติดตลก
ทั้งยังชื่นชมจุดยืนของนายกรัฐมนตรีด้วยว่า มีความกล้าที่จะสร้างความจริงใหม่ขึ้นมาในสังคม แทนที่จะยอมรับความเป็นจริงที่ถูกกำหนดไว้เดิม เพราะสังคมไทยเราต้องการคนกล้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า การล้มโครงการหวยออนไลน์มีสาเหตุจากตัวแทนจำหน่าย หรือยี่ปั๊วเป็นแหล่งเงินทุนให้พรรคประชาธิปัตย์นั้น นายกรณ์ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และท้าให้ไปตรวจสอบได้เลยว่าเงินบริจาคเข้าพรรคนั้นมาจากไหนบ้าง แต่จะเป็นนายทุนของพรรคอื่นหรือไม่นั้น ต้องไปตามกันดู
นอกจากพูดคุยเรื่องหวยออนไลน์แล้ว ขุนคลังคนปัจจุบันยังบอกเล่าถึงที่มาของการคว้ารางวัลรัฐมนตรีคลังโลกแห่งปี 2010 และรัฐมนตรีคลังเอเชียแห่งปี 2010 จากนิตยสารแบงเกอร์ แม็กกาซีน สื่อในกลุ่มไฟแนนเชี่ยล ไทม์ ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับทั้ง 2 รางวัลให้ฟังด้วยว่า การตัดสินจะมาจากความคิดเห็นภายในผู้จัดทำนิตยสารพร้อมๆ กับผลสำรวจความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์ นายธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์จากทั่วโลก โดยความเห็นที่รวบรวมมามองว่าตนได้ผลักดันและชี้นำทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากช่วงที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤติการเงินของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม
รมว.คลังอธิบายว่า เขาดูในแง่การนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ มองเงื่อนไขของการทำงาน โดยในปีที่ผ่านมา เมืองไทยนอกจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองในประเทศควบคู่กันอีกด้วย ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยระยะสั้นในรอบแรก อย่างเช็คช่วยชาติ เขามองว่าฉีกแนวและตอบโจทย์ได้ชัดเจน เป็นการแก้ปัญหาการเบิกจ่าย มีการผันเงินสู่ประชาชนได้รวดเร็ว ขณะที่โครงการไทยเข้มแข็งเป็นส่วนที่ตามมา ก็เป็นโครงการที่มีรายละเอียดชัดเจนครบถ้วน
"ผมก็บอกว่าอาจเร็วไปสำหรับการได้รางวัล ยอมรับว่าการดูแลเศรษฐกิจของไทยยากกว่าสหรัฐมาก เพราะสถาบันการเงินบ้านเราแข็งแกร่งขึ้นมาก หากต้องเจอสองปัญหาเหมือนสหรัฐ ผมคงแย่เหมือนกัน" ขุนคลังขมวดทิ้งท้าย