วิทยาตัดสินใจทิ้งเก้าอี้รมว.สธ. หลังหารือนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเช้าวันที่ 19 ธันวาคมว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งแล้ว 

หลังจากเข้าพบและหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าวันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาลกรณีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการ “ไทยเข้มแข็ง 2555”  ที่มี นายแพทย์บรรลุ ศิริพาณิช เป็นประธาน สรุปผลสอบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบกพร่องต่อหน้าที่ และนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แทรกแซงการจัดงบประมาณไทยเข้มแข็งและมีการนัดกินข้าวกับกับบริษัทขายรถพยาบาล ทั้งนี้ สำหรับการลาออกดังกล่าว มีผลในวันที่ 30 ธ.ค. 2552 นี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.บรรลุ ศิริพานิช ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกรรมการ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ.  และมอบหลักฐาน จำนวน 4,733 แผ่น ให้นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรรมการตรวจสอบฯ หลังใช้เวลาสอบสวนนานร่วม 2 เดือน


จากนั้นเวลา 14.20 น. นพ.บรรลุ ได้เปิดแถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบให้สื่อมวลชนรับทราบ

โดยนพ.บรรลุ แถลงว่า ผลการสอบสวนโดยภาพรวมพบว่า การจัดตั้งงบประมาณ มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า “ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง” ที่น่าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง  ครุภัณฑ์การแพทย์  และรถพยาบาล  มีความผิดพลาดมากมาย  การกระจายตัวไม่ถูกต้อง  ไม่เหมาะสม  และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร  โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ  หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง  แทนที่จะทำให้ ไทยเข้มแข็ง  สมเจตนารมณ์  จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง 


นพ.บรรลุ กล่าวว่า สรุปประเด็นสำคัญดังนี้


1.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง  มุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด  แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก  ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่างกว้างขึ้น  ประชาชนต้องหลั่งไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น  สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ  เพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง  โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก

2.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง  มีความกระจุกตัวในบางจังหวัด  ในลักษณะ  มือใครยาวสาวได้สาวเอา  เช่น  จังหวัดราชบุรี  ซึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 โรง  และยังมีโรงพยาบาลศูนย์อยู่อีก 1 โรง ทั้งที่ส่วนใหญ่  จังหวัดหนึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดเพียงแห่งเดียว  ขณะที่  บางจังหวัดซึ่งขาดแคลนกลับได้รับการจัดสรรน้อย

3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์  มีการจัดซื้อสิ่งไม่จำเป็น และราคาแพงจำนวนมาก   นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว  ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต  ครุภัณฑ์บางอย่าง หน่วยงานมิได้ต้องการหรือขอมา กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 

นอกจากนั้น  ครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

4.งบประมาณส่วนใหญ่  มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์  โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า


นพ.บรรลุ กล่าวว่า สาเหตุของความบกพร่องผิดพลาด  ส่อไปในทางจะทำให้เกิดทุจริต สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่

1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ  ปลัดกระทรวงและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ  ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร  โครงการใหญ่ขนาดนี้  ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง  และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ  รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบาย  และหลักเกณฑ์การพิจารณา  ทั้งในเรื่องการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสม  และการพิจารณากำหนดราคาที่สมควร  กลับปล่อยปละละเลย  ให้รองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย  (รองปลัดฝ่ายบริหาร)  ซึ่งอ่อนประสบการณ์  และมีความรู้ความสามารถไม่พอเพียง 


“รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร  ปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.)  ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานภายใน  มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียว  รับผิดชอบงานใหญ่ขนาดนี้  ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์  ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดกระทรวงฝ่ายบริหาร  มีข้าราชการปฎิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ  อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมวดเงินให้ตรงตามที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น” นพ.บรรลุ กล่าว


2.การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่เป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยตนเอง  ประกอบกับการไม่มีคณะกรรมการมาร่วมพิจารณา  และไม่มีเกณฑ์วางไว้ งานจึงไม่มีระบบ  ใครจะของบอย่างไรก็ขอจะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน  ตามใจของผู้มีอำนาจ  นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบและขาดความรู้ความสามารถแล้ว  ยังส่อเจตนาไม่สุจริต  เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ  และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย


นพ.บรรลุ กล่าวว่า สำหรับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความบกพร่อง  ส่อเจตนาไม่สุจริต  และการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสธ. ได้ ส่วนนายมานิต  นพอมรบดี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง  และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย  ล้วงลูก  กดดัน  ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ของตน  รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย


นพ.บรรลุ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด  ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง  รายการครุภัณฑ์การแพทย์  และรายการรถพยาบาล  ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์  รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร  ซึ่งจะต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกัน ทั้งนี้  ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพ  เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง  มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง  และสร้างปัญหาในระยะยาว  โดยปลัด สธ. จะต้องลงมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง  มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล  โปร่งใส  ใช้บุคลากร สธ. ที่มีคุณภาพซึ่งมีอยู่มากช่วยกันทำ  เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและที่เกษียณอายุไปแล้วในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมา  เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม  “กฎเหล็ก 9 ข้อ”  ของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี  ที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551  โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่  “เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด”  และข้อ 9 ที่ระบุว่า  “ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”

“ในการรายงานข้อมูลในนายกฯ รับทราบ ท่านได้สนใจซักถามข้อมูลเพิ่มเติมนานถึง 30 นาที ซึ่งท่านบอกว่าจะนำรายงานสรุปผลไปอ่านช่วงปีใหม่นี้ ส่วนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หรือส่งเรื่องให้ปปช. สอบสวนต่อในเรื่องใดบ้างนั้น เป็นดุลยพินิจของท่านนายกฯ ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป เชื่อว่าท่านมีวิจารณญาณตัดสินได้ ซึ่งคงจะได้เห็นหลังจากเทศกาลปีใหม่นี้ว่าท่านนายกฯ จะสั่งให้สธ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใครบ้าง เชื่อผมเถอะว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” นพ.บรรลุ กล่าว


นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการและกรรมการฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความผิดชัดเจน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือฝ่ายข้าราชการการเมือง มี 4 ราย ได้แก่

1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในสธ.ในฐานะเจ้ากระทรวง

2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมที่ส่อในการทุจริต คือ ไม่ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งแต่ล้วงลูกดึงงบเข้าจังหวัดราชบุรี และนัดทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย

3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล และ

4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด(ยูวี แฟน)


นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนข้าราชการประจำ มี 8 ราย ได้แก่

1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ8.6 หมื่นล้านบาทกลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้

2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ. ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคที่มีผู้ทำงานกว่า 50 คนดูแล โครงการใหญ่ขนาดนี้ เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้

3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้

4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต

5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน

             

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนรายที่ 6-8 พบว่า บกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต คือ

6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ในปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดสธ.รับผิดชอบสบภ. แต่โครงการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของพญ.ศิริพรดูแล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้

7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น

8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง

"ประทิน"แนะนำให้ลาออก


พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า นักการเมืองโดยเฉพาะเจ้ากระทรวงต้องดูแล และรับผิดชอบภาระงานทุกอย่าง มีความรับผิดชอบระดับนี้แล้วจะนั่งดูดายไม่ได้ หากทำถูกต้องทุกอย่างจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 10,000 ล้านบาท


"เรื่องนี้ความรับผิดชอบของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่นายกฯต้องรับผิดชอบดำเนินการลงโทษคนผิดด้วย เพราะนายกฯเป็นคนแต่งตั้งคนเหล่านี้มาทำงาน ตั้งได้ก็ต้องถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ด้วยเช่นกัน ส่วนรัฐมนตรี หากหน้าบางก็ต้องลาออก" พล.ต.อ.ประทินกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ นพ.บรรลุ จะแถลงข่าวได้เข้ารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมมอบเอกสารหลักฐานการสอบสวน จำนวน 4,733 แผ่น ให้พิจารณาพร้อมหารือร่วมกันกว่า 30 นาที


ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย เปิดแถลงข่าวที่เนียบรัฐบาล ว่าตอนที่ไปชี้แจงกับคณะกรรมการ นพ.บรรลุเป็นคนแจ้งว่าไม่อยู่ในข่ายต้องสงสัย

อีกทั้งคำว่า ส่อไปในทางทุจริต หรือไม่สุจริตนั้น เป็นถ้อยแถลงที่ทำให้เสียหาย เพราะโดยข้อเท็จจริงคือเมื่อมีเสียงวิจารณ์ว่าโครงการนี้อาจมีบางรายการที่เตรียมการทุจริต ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุด นพ.บรรลุ ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยระหว่างนี้ สธ. ได้ยุติโครงการทั้งหมด จึงไม่แน่ใจว่ารายละเอียดที่คณะกรรมการระบุว่าส่อไปในทางไม่สุจริตคืออะไร


ผู้สื่อข่าวถามว่า นพ.บรรลุเรียกร้องให้นายกฯ ใช้กฎเหล็ก 9 ข้อกับรัฐมนตรี นายวิทยากล่าวว่า ต้องการดูรายละเอียดก่อนว่า

มีการทุจริตตรงไหน ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ ในทางการเมือง คิดว่ามีความรับผิดชอบเพียงพอ เมื่อถามว่า การอยู่ในตำแหน่งจะสร้างภาระให้นายกฯ นายวิทยากล่าวว่า จะไม่สร้างภาระต่อนายกฯ
"หากผมผิด ผมบกพร่อง ผมรับผิดชอบ แต่ถ้าคณะกรรมการผิด บกพร่อง คณะกรรมการก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้จะหารือกับนายมานิต และจะเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับนายกฯ ในวันที่ 29 ธันวาคมนี้" นายวิทยากล่าว


ด้านนายมานิตกล่าวว่า นายวิทยาพูดเสมอว่า เงินยังไม่มาจะเป็นการทุจริตได้อย่างไร ที่ผ่านมาลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย

ก็ได้รับคำขอในเรื่องต่างๆ ก็เพียงแต่นำมาส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ดูเหมือนก้าวล่วง แต่เกิดจากการเดินทางไปทำงานเท่านั้น ต่อจากนี้คงไม่กล้าไปรับฟังความคิดเห็น และนำปัญหาของแต่ละพื้นที่มาเสนออีก
"ผมจะตัดสินใจอย่างไร คงต้องคุยกับนายวิทยาก่อน เพราะเงินยังไม่ได้จ่ายสักบาท ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่ได้เขียนทีโออาร์ด้วยซ้ำ ส่วนที่คณะกรรมการระบุว่า ผมเข้าพบกับบริษัทผลิตรถพยาบาลเพื่อตกลงเรื่องการฮั้วประมูลนั้น ขอยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปพบแต่อย่างใด ส่วนเรื่องของโรงพยาบาลราชบุรี ก็เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ก่อนผมเป็น ส.ส. และโครงการเมกะโปรเจ็คต์ก็ดำเนินมานานก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง" นายมานิตกล่าว


ขณะที่ นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า แม้ว่าจะได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สบภ. แต่สำหรับโครงการไทยเข้มแข็งเป็นโครงการพิเศษที่ นพ.ปราชญ์ มอบหมายให้ พญ.ศิริพร รับผิดชอบโดยตรง จึงไม่เคยเห็นหนังสือ หรือเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม สบายใจที่ไม่ได้พัวพันกับการทุจริต


นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุด นพ.บรรลุ อย่างมาก

ที่สามารถหาคนผิดได้ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของนักการเมืองที่ส่อทุจริต เพราะยืนยันมาตลอดว่ามีนักการเมืองพัวพัน 100% อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามดูผลการลงโทษคนผิดต่อไป
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ฝากถึงนายกรัฐมนตรี ให้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติก่อนการเมืองภายในพรรคและความอยู่รอดของรัฐบาล ส่วนการเดินหน้าต่อของโครงการไทยเข้มแข็งนั้น ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ควรจัดตามยุทธศาสตร์สุขภาพของประเทศ ไม่ใช่จัดตามพื้นที่ของนักการเมือง และต้องปรับเปลี่ยนคณะกรรมการที่มีคนนอก สธ.ที่สังคมให้ความเชื่อถือมาช่วยให้ความเห็นเช่น ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นต้น


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวจากสื่อ

แต่ยังไม่ได้เห็นรายงานสรุปผลการสอบสวนว่านายวิทยา และนายมานิตเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงไม่สามารถพูดอะไรได้ หลักมีอยู่ว่าไม่ว่ากรณีใดที่มีประเด็นเกิดขึ้น คนแรกที่ต้องแสดงความรับผิดชอบคือเจ้าตัวเอง ถ้าสื่อมวลชนยังจำได้คือกรณีนายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (มีปัญหาเรื่องการแจกปลากระป๋องเน่าให้ชาวบ้าน)
"นักการเมืองเหล่านี้เขามีจิตใจที่มีสปิริต ดังนั้น ไม่ต้องให้คนอื่นไปบังคับ เพราะเราคุยกันก่อนหน้านี้แล้ว ผมไม่ค่อยเป็นห่วงในเรื่องนี้" นายสุเทพกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์